posttoday

ปลดทุกชนวนร้อนรักษาอำนาจรัฐ

16 พฤษภาคม 2556

อุณหภูมิการเมืองในสภากำลังจะกลับมาเดือดอีกรอบหลังจากรัฐบาลตัดสินใจเปิดสมัยประชุมวิสามัญ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

อุณหภูมิการเมืองในสภากำลังจะกลับมาเดือดอีกรอบหลังจากรัฐบาลตัดสินใจเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวนเงิน 2.5 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ค.

สาเหตุที่การพิจารณากฎหมายงบประมาณรอบนี้จะทวีความเข้มข้น เป็นเพราะฝ่ายค้านเตรียมนำประเด็นปัญหาเศรษฐกิจมาอภิปรายชำแหละรัฐบาล

ที่สำคัญจะพ่วงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาถล่มรัฐบาลในเวทีนี้ด้วย ผ่านการเน้นย้ำในเรื่องการก่อหนี้สาธารณะให้กับประเทศของรัฐบาล เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลบริหารเสถียรภาพทางเศรษฐกิจบกพร่อง และกำลังทำในสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งที่ประเทศมีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตประชาชน แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความสนใจ

อย่างน้อยก็หวังผลให้คนดอนเมืองได้เห็นผลงานด้านลบของรัฐบาลเพื่อเทคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่รัฐบาลใช่ว่าจะยอมให้ถูกด่าฟรีแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากเตรียมใช้เวทีสภาโชว์ผลงานสำคัญเพื่อกลบข้อหาฝ่ายค้านเช่นกัน โดยเฉพาะผลประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้จากการลงทุนกู้เงินสร้างรถไฟความเร็วสูง แม้ว่าจะเป็นข้อมูลแผ่นเสียงตกร่องที่รัฐบาลเคยพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาก่อนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งหากมองการเปิดสมัยวิสามัญจะเห็นได้ว่ามีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เนื่องจากไร้วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3

พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลในเชิงธุรการว่า มีกระบวนการอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทางคณะกรรมาธิการทั้ง 3 คณะ จะต้องเชิญสมาชิกรัฐสภาที่เสนอแก้ไขถ้อยคำมาชี้แจงอีกหลายคน ส่วนกฎหมายกู้เงินยังมีเอกสารจากกระทรวงคมนาคมที่จะต้องส่งให้คณะกรรมาธิการประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมพอสมควร

แต่เหตุผลทางธุรการไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับเหตุผลทางการเมือง

สภาวะการเมืองในปัจจุบันต้องยอมรับว่าอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมพอสมควร สามารถออกได้หลายหน้าและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ พรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นต้องดับไฟตั้งแต่ต้นลม

ดูได้จากแค่เกิดกระแสข่าวลือเรื่องการปลด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาทหารบก พรรคเพื่อไทยและคณะรัฐมนตรียังต้องวิ่งรอกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลายรอบว่าไม่เป็นความจริง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเอาประเด็นนี้ไปเสี้ยมให้ทหารกับรัฐบาลแตกคอกัน

หรือเมื่อครั้งเลื่อนให้กฎหมายนิรโทษกรรมการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นวาระด่วนในสภาเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยต้องยืนยันต่อสังคมไม่รู้กี่รอบว่าหลังจากเลื่อนกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาเป็นวาระด่วนไม่ได้จะใช้เสียงข้างมากผลักดันผ่านสภาทันที แต่เมื่อเลื่อนขึ้นมาแล้วจะไปว่ากันใหม่ในสมัยประชุมสามัญทั่วไปเดือน ส.ค. เรียกได้ว่ากว่าจะซื้อเวลาเอาตัวรอดเล่นเอาเหนื่อยพอสอควร

ดังนั้น อย่าแปลกใจว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงไม่เอา “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” เข้าสภาสมัยวิสามัญ

เดิมทีพรรคเพื่อไทยเองได้วางเป้าหมายเอาไว้เหมือนกันว่าจะเอาทั้งสองเรื่องเข้าสภา เพื่อสร้างต้นทุนการเมืองเพิ่มเติมให้กับพรรคเพื่อไทยให้เร็วที่สุด

โดยวิเคราะห์ว่าถ้ารัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขและกฎหมายกู้เงินผ่านสภาและวุฒิสภาได้ไว จะช่วยให้พรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามหากมีความจำเป็นจะต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ขึ้นมาแบบกะทันหัน

ทว่า ความเป็นจริงในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น เมื่อเกิดกระแสไม่เอาด้วยกับรัฐบาล

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกมองด้วยความเคลือบแคลงว่ากำลังจะเป็นเครื่องมือสานต่ออำนาจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนการได้มาของ สว.มาเป็นระบบเลือกตั้ง 100% จากเดิมที่เป็นระบบลูกผสม หรือการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องการล้มล้างการปกครองจากประชาชนได้โดยตรงตามมาตรา 68

ไม่ต่างอะไรกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยกรรมาธิการในซีกพรรคประชาธิปัตย์ตรวจสอบกันแบบบรรทัดต่อบรรทัด โครงการต่อโครงการ มีผลให้ต้องเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหลายรอบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมากไม่อาจทำอะไรได้ ต้องยอมให้ฝ่ายค้านลากยาวต่อไปจนพ้นสมัยวิสามัญ

ครั้นจะใช้เสียงข้างมากหักด้ามพร้าเพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายกู้เงินเข้าสภาสมัยวิสามัญ อาจจะเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามทั้งในและนอกสภาเอามาปลุกกระแสล้มรัฐบาลได้อีก

พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามเกมของฝ่ายตรงข้าม เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิการเมืองปะทุที่นำไปสู่สถานการณ์ไม่คาดฝันได้ เพราะพรรคเพื่อไทยตระหนักแล้วว่าเวลานี้ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการรักษาอำนาจรัฐอยู่กับตัวให้นานที่สุด