posttoday

โลกอ่วมแผนอัดฉีดก่อชนวนวิกฤการเงินรอบใหม่

10 พฤษภาคม 2556

กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามชนิดไม่ให้คลาดสายตา สำหรับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา


กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามชนิดไม่ให้คลาดสายตา สำหรับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เพราะนอกจากจะขยับปรับตัวขึ้นอย่างคึกคักในแดนบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในตลาดหุ้นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จนเปรียบได้กับเสาหลักของเศรษฐกิจโลกอย่าง สหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นแล้ว ดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นเหล่านี้ยังทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบหลายปี

ไล่เรียงตั้งแต่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์สหรัฐที่ทะลุ 15,000 จุด เป็นครั้งแรก หรือดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ 500 (เอสแอนด์พี 500) ที่ก้าวข้าม 1,600 จุด ในรอบหลายปี ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาตลาดหุ้นทั่วโลกจากดัชนีเอ็มเอสซีไอ ออลคันทรี เวิลด์ อีควิตี้ ซึ่งเป็นดัชนีที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ใน 45 ประเทศ พบว่าดัชนีขยับขึ้นอีก 0.56% เมื่อวันที่ 8 พ.ค. กลายเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ แม้จะเข้าใจได้ว่าขาขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ เป็นผลจากข่าวดีด้านเศรษฐกิจการค้าในหลายประเทศ เช่น การว่างงานของสหรัฐที่ลดเหลือ 7.5% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือการส่งออกจีนเดือน เม.ย. ที่ขยายตัวเกินคาดถึง 14.7% และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 1.2% มากกว่าที่คาดกันไว้ และเพิ่มติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ของปี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกลับเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นตลาดทุนในขณะนี้ไม่ได้เป็นผลจากความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง พิสูจน์ได้จากความต้องการจับจ่ายของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยและเชื่องช้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนรัดเข็มขัดของภาครัฐ

แต่เป็นผลสืบเนื่องจากสารพัดมาตรการกระตุ้นของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่ทำให้มีปริมาณเงินมหาศาลจนเกิดสภาพคล่องล้นระบบ จนกลายเป็นทุนร้อนที่บรรดานักลงทุนทั้งหลายขนไปเก็งกำไรทำเงินในตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ความไม่สอดคล้องระหว่างสถานการณ์เศรษฐกิจจริงกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นข้างต้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หลายสำนักตั้งข้อสังเกตด้วยความวิตกว่าความผิดเพี้ยนของสภาวะเศรษฐกิจโลกจะนำไปสู่การเกิดวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ที่เลวร้ายมากกว่าครั้งใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

เนื่องจากครั้งนี้เป็นวิกฤตที่เกิดจากนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล ไม่ใช่วิกฤตการเงินที่มาจากหนี้และสินเชื่อ

เดวิด รอช นักกลยุทธ์ชั้นนำของโลกจากสหรัฐ และประธานบริษัท อินดิเพนเดนท์ สแตรทเตอร์จี อธิบายว่า หายนะที่จะเกิดขึ้นคราวนี้มีแนวโน้มมาจากตลาดพันธบัตรเป็นหลัก โดยทันทีที่บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกยุติการซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการอัดฉีดหรือนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) วิกฤตการเงินจะโหมกระพือขึ้นแน่นอน และจะเลวร้ายรุนแรงมากกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2551

สาเหตุเพราะการใช้มาตรการต่างๆ ข้างต้น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐ ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรต่ำกว่าความเป็นจริงของสถานการณ์ในตลาด

ดังนั้น การยุติมาตรการข้างต้นจึงไม่ต่างอะไรกับการทำให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนกลับคืนสู่ความเป็นจริงอีกครั้ง และทำให้ภาระหนี้แท้จริงปรากฏโฉมออกมา พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือนักวิเคราะห์ทั้งหลาย รวมถึง รอช เห็นว่าเมื่อธนาคารกลางในซีกโลกตะวันตกเลิกใช้วิธีการคิวอีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ เยอรมนี และอังกฤษ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงขนาดที่ทำให้เกิดการพังครืนของระบบชนิดฉับพลันทันที

เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะที่คลังขาดดุลอย่างมหาศาลจะไม่สามารถชำระหนี้พันธบัตรได้ ขณะเดียวกันมูลค่าพันธบัตรของตนเองจะลดต่ำลงจนต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมของภาครัฐ

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของนโยบายคิวอีทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ในขณะนี้ร่วงต่ำลงมากกว่า 2% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 1.8% เช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ (กิลท์ส) และพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี (บุนด์ส) อายุ 10 ปี ที่ปรับลดต่ำที่สุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. โดยมีอัตราตอบแทนอยู่ที่ 1.8% และ 1.29% ตามลำดับ

และเพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไป บรรดาธนาคารกลางย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสนับสนุนให้มีการพิมพ์เงินออกมามหาศาลเพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปซื้อพันธบัตรไปเรื่อยๆ กระทั่งทำให้นักลงทุนเกิดความรู้สึกว่าตลาดพันธบัตรเป็นเสมือนแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย โดยลืมเลือนไปว่าเมื่อใดก็ตามที่คิวอียุติ อัตราผลตอบแทนย่อมปรับตัวสูงขึ้น และสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือวิกฤตร้ายแรง

นักกลยุทธ์ส่วนใหญ่ รวมถึง รอช กล่าวชัดเจนว่า ผลกระทบจากการพังทลายของแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย (เซฟ เฮฟเวน) อย่างตลาดพันธบัตรจะเป็นหายนะใหญ่หลวงสำหรับตลาดการเงินทั่วโลก

เพราะสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจะได้เห็นคือการขาดทุนของเงินทุนมหาศาลของสถาบันการเงินต่างๆ เนื่องจากการปรับมูลค่าตามราคาตลาด (Marktomarket basis)

ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ถือครองพันธบัตรในรูปแบบของการออมเงิน ความผันผวนเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะกระเทือนความเชื่อมั่นในการถือครองพันธบัตรให้ลดน้อยลง ซึ่งจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ เนื่องจากเมื่อผู้บริโภคไม่มั่นใจกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับแหล่งสินทรัพย์ของตนเองเริ่มมีมูลค่าลดน้อยลง เมื่อนั้นผู้บริโภคจะเริ่มหันมาประหยัดอดออมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา บรรดาประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของชาติตะวันตกต่างเริ่มต้นขยายโครงการซื้อพันธบัตรของตนเองอย่างหนักหน่วง เพื่อพยายามฟื้นการเติบโตของประเทศหลังจากภาวะวิกฤตสินเชื่อมากมาย โดยไม่ได้เอ่ยถึงหนทางหรือแนวทางที่จะยกเลิกมาตรการคิวอีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติการใช้คิวอี 3 ในปีนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการใช้อย่างต่อเนื่องมายาวนานหลายปี โดยมองไม่เห็นผลใดๆ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มทำให้สมาชิกคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) วิตกกังวลกันมากขึ้นว่าหากดันทุรังใช้คิวอีต่อไปน่าจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

เหตุเพราะนักลงทุนและนักธุรกิจจะเริ่มเสพติดกับการช่วยเหลือดังกล่าวจนไม่เป็นอันคิดแก้ปัญหาใดๆ นอกจากนี้ ความวิตกข้างต้นยังครอบคลุมไปยังประเด็นที่ว่า ตลาดในขณะนี้ยังคงไม่มีการเตรียมการรับมือใดๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ธนาคารกลางจะเลิกใช้คิวอีแม้แต่น้อย

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ธนาคารกลางอีกหลายประเทศกำลังเดินตามรอยเฟดและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อย่างไม่มีลังเล โดยล่าสุดก็คือธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่เพิ่งจะประกาศบังคับใช้แผนอัดฉีดเงินมูลค่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เข้าระบบของประเทศเพื่อยุติภาวะเงินฝืด กระตุ้นการเติบโตและการใช้จ่าย

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังเดิมพันด้วยความเสี่ยงครั้งใหญ่กับนโยบายการเงินแบบสุดโต่ง และโครงการกระตุ้นแบบมหาศาลที่ยังไม่มีการรับประกันใดๆ ว่าจะบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

แน่นอนว่าผลจากแผนอัดฉีดครั้งใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในปัจจุบันทำสถิติลดต่ำสุด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 0.61% ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 0.89% นับเป็นการลดลงอย่างฮวบฮาบหลังจากที่เคยมีอัตราผลตอบแทนสูงถึง 8% ในช่วงทศวรรษที่ 1990

หรือจะสรุปได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายในการกระตุ้นตลาด โดยเฉพาะตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคักสดใสได้อีกครั้ง รวมถึงช่วยให้ภาคการส่งออกของประเทศที่ซบเซามานานลืมตาเห็นแสงสว่างได้บ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างเตือนว่าวิธีการดังกล่าวอาจทำให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้พันธบัตรของตนเองได้ โดยขณะนี้หนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นมีปริมาณมหาศาลเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์ไว้ว่าหนี้ญี่ปุ่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 245% ต่อจีดีพีภายในปี 2556

ดังนั้น สิ่งที่ทั่วโลกจำต้องลงมือทำขณะนี้ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงหนีไม่พ้นการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตรุนแรงระลอกใหม่ที่จะกำลังจะเกิดขึ้นตามมา