posttoday

เอสเอ็มอียังโคม่าต้องปรับวิธีรักษาพิษ300

08 พฤษภาคม 2556

ถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นมา

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นมา เริ่มส่งผลชัดเจนกับผู้ประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ปิดกิจการมากขึ้น

เนื่องจากค่าแรง 300 บาท ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการโดยรวมเพิ่มขึ้น 6.4%

ผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุชัดว่า สถานประกอบการขนาดเล็กมาก ที่มีคนงาน 09 คน มีจำนวนแรงงานในระบบ 5.12 ล้านคน มีต้นทุนจากค่าจ้างเพิ่มขึ้น 17.81%

ขณะที่สถานประกอบการขนาดเล็ก มีคนงาน 1049 คน มีการจ้างงาน 2.98 ล้านคน มีต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น 5.57%

เอสเอ็มอี หรือสถานประกอบการที่จ้างงาน 1199 คน มีจำนวนแรงงาน 9.99 ล้านคน มีต้นทุนเพิ่ม 8.95%

ขณะที่ยอดการปิดกิจการหรือเลิกกิจการทะลุไปไตรมาสละ 7,221 ราย เพิ่มขึ้น 26.6% จากปกติเฉลี่ย 9 ปีที่ผ่านมาแค่ไตรมาสละ 2,500-3,000 ราย

กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ และจะมีจำนวนปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกมาก

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงมาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาออกมาเป็นชุด

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทในปี 2556 ไว้ถึง 15 มาตรการ เรียกว่าเป็นยาหม้อใหญ่

1.มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการและเพิ่มผลผลิตแรงงาน ได้แก่ การขยายระยะเวลาการยื่นกู้ตามโครงการ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2556 และปรับหลักเกณฑ์วงเงินกู้สำหรับสถานประกอบการ ดังนี้ ลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ลูกจ้าง 51200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 4 ล้านบาท ลูกจ้างเกินกว่า 200 คนขึ้นไป วงเงินกู้ไม่เกิน 8 ล้านบาท และประสานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสำหรับ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์

2.มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2558 (วงเงินเดิม 2 หมื่นล้านบาท)

3.มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ ในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อลักษณะ PGS ระยะที่ 5 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (ปี 2556-2558) วงเงินค้ำประกันรวม 2.4 แสนล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี

4.มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ ในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Startup) ขยายโครงการถึงปี 2558 สำหรับเกณฑ์ระยะเวลาการดำเนินงานของผู้ประกอบการใหม่ให้ปรับจากไม่เกิน 2 ปี เป็นไม่เกิน 3 ปี

5.มาตรการการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในปี 2556 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายละ 1% คงเหลือฝ่ายละ 4%

6.มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยในปี 2556 กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% และปรับช่วงกำไรสุทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 3 แสนบาทแรก จากเดิม 1.5 แสนบาทแรก

7.มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีในปี 2556 ได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้าง

8.มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาหักลดหย่อนภาษี กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

9.มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556

10.มาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร โดยให้ขยายระยะเวลาการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร 100% ในปีแรกออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556 จากเดิมให้ทยอยหักค่าเสื่อมภายใน 5 ปี

11.มาตรการการลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรม ที่พักแรม โดยกระทรวงมหาดไทยลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีลง 50% จากที่เก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปัจจุบันมีห้องพักที่จดทะเบียนกับกรมการปกครอง 3.5 แสนห้อง

12.มาตรการการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในปี 2556

13.มาตรการการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่างๆ โดยใช้ฐานข้อมูลธุรกิจ SMEs ของสำนักงานประกันสังคม

14.มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ได้แก่ การปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

15.มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการโครงการสินค้าธงฟ้าและร้านถูกใจให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

จัดยาชุดมากขนาดนี้ แต่สถานการณ์การปิดกิจการที่เกิดขึ้นนับหมื่นนับแสนรายสะท้อนได้ว่า มาตรการที่ออกมาไม่สามารถเยียวยาอาการไข้ขั้นโคม่าของเอสเอ็มอีได้

เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในหลายๆ ด้าน แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ

อาจเป็นไปได้ว่า มีมาตรการออกมาแล้ว แต่ข้าราชการ และหน่วยงานไม่นำนโยบายไปปฏิบัติ

ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการต้องช่วยตัวเอง ด้วยการลดต้นทุน หาตลาดรองรับสินค้า เพราะมีสินค้าบางประเภทที่ยอดสั่งสินค้าล้นจากเวียดนาม เนื่องจากศักยภาพในการผลิตของเวียดนามไม่เพียงพอ จึงทำให้ลูกค้าบางผลิตภัณฑ์หันมาสั่งสินค้าในประเทศไทย ในราคาที่ยอมรับได้

นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ที่รัฐบาลจะต้องหาทางปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติในการดูแลและติดตามมาตรการเยียวยาผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท

ถ้าช้า อาการปางตายของผู้ประกอบการ เถ้าแก่น้อยจะเพิ่มปริมาณและขยายวงกว้างขึ้น

สภาอุตสาหกรรมประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้น่าจะทราบตัวเลขการปิดกิจการที่ชัดเจนและมีปริมาณที่มากขึ้น

สาเหตุเพราะ ปัจจุบันผู้ประกอบการประสบปัญหาอย่างมาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ ภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เงินบาทแข็งค่า แล้วผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญ อย่าง เวียดนาม บังกลาเทศ กัมพูชา ที่ต้นทุนถูกกว่าประเทศไทย

ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้ตอนนี้คือ กลุ่มเอสเอ็มอีต้องเร่งลดต้นทุน ปรับลดสวัสดิการ เช่น ยกเลิกรถรับส่ง อาหาร และไม่รับพนักงานเพิ่ม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ไปคือบรรดาเอสเอ็มอีที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ปรับตัวยากทั้งในเรื่องของความรู้ และค่าขนส่งที่สูงขึ้นกว่าส่วนกลาง

กลุ่มเหล่านี้กำลังกระเสือกกระสนอย่างหนัก เพราะเจอปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และขาดทักษะในการเพิ่มมูลค่าสินค้า

นี่คือสภาพความจริงที่รัฐบาลต้องเร่งแก้