posttoday

ปิดปากเสียงวิจารณ์สัญญาณนับถอยหลัง

07 พฤษภาคม 2556

น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีล่าสุดของรัฐบาลในการรับมือเสียงวิจารณ์การทำงานด้วยการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีล่าสุดของรัฐบาลในการรับมือเสียงวิจารณ์การทำงานด้วยการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท หลังจากเกิดกรณี“ชัย ราชวัตร” ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แบบตรงไปตรงมา จนเกิดการฟ้องร้องในภายหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ออกโรงประกาศว่าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดหากใครโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทผู้นำประเทศ

คำขู่ดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังใช้กฎหมายปิดปากฝ่ายตรงข้าม

ปัญหาของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทมาจัดการในทางการเมือง อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้ถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 45

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

แต่ถึงกระนั้นมาตรา 45 ได้มีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นในหลายกรณีเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล และรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน

เป็นผลให้รัฐบาลสามารถใช้ช่องนี้ลุยฟ้องฝ่ายตรงข้ามผ่านกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพื่อเป็นเกราะป้องกันนายกฯ จากเสียงวิจารณ์

เหมือนกับในอดีตที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกฯ เคยฟ้อง “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำพันธมิตร ในข้อหาหมิ่นประมาทหลายคดี หลังถูกวิจารณ์ค่อนข้างหนัก ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2549

มาในวันนี้ ยิ่งลักษณ์ กำลังใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาทางการเมืองเช่นเดียวกันกับที่พี่ชายเคยใช้เอาไว้

ไม่มีใครปฏิเสธว่า นายกฯ ย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองได้ แต่ท่าทีของไอซีทีล่าสุดเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ถ้ารัฐจะใช้มาตรการกฎหมายเพื่อควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทครั้งนี้มองได้ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อสร้างเกราะป้องกันทางการเมืองจากเสียงวิจารณ์ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นอย่างมาก

อย่าลืมว่าในระยะยาวรัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าโครงการภาครัฐอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมภายใต้กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวปัจจุบันก็มีเสียงตำหนิจากหลายฝ่ายเป็นจำนวนมากว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้จะคุ้มค่ากับการเป็นหนี้มากกว่า 2 ล้านล้านบาทที่ต้องชดใช้ไปอีก 50 ปีหรือไม่

แน่นอนว่า นายกฯ ไม่อาจหลบเลี่ยงจากการถูกตำหนิไปได้ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล

หากปล่อยให้เสียงตำหนิรัฐบาลดังมากเกินไป ผลเสียย่อมตกกับรัฐบาลในระยะยาวเอง เพราะเหลืออีก 2 ปี ถ้าไม่ยุบสภาไปเสียก่อนก็จะมีการเลือกตั้ง สส.ครั้งใหม่ ฐานเสียงรัฐบาลที่เคยเข้มแข็งอาจถูกสั่นคลอนได้

จึงเป็นที่มาที่ต้องหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน

ทว่า มาถึงจุดนี้สิ่งที่รัฐบาลคิดว่าจะเป็นภูมิคุ้มกัน ปรากฏว่ากำลังจะย้อนมาทำร้ายตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต่างอะไรกับการจุดกระแสโจมตีให้เกิดขึ้นมาอีกระลอก

สะท้อนได้จากท่าทีจากหลายฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางของรัฐบาล อย่าง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า “หน่วยงานรัฐหรือฝ่ายบริหารไม่ควรที่จะใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตในการห้ามปรามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย เพราะถือเป็นการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน”

ไม่เว้นแม้แต่กระแสโต้ตอบจากผู้ใช้เฟซบุ๊กบนกระดานข้อความในหน้าแฟนเพจของกระทรวงไอซีที

ไม่เพียงเท่านี้ เกราะทางกฎหมายที่คิดว่าจะช่วยให้ ยิ่งลักษณ์ ปลอดภัย เอาเข้าจริงก็อาจไม่เป็นอย่างนั้น

มาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญาได้บอกถึงกระบวนการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทโดยสังเขปว่า “จะต้องมีการพิสูจน์ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริงหรือไม่”

เท่ากับว่า ในอนาคตผู้ที่ถูกรัฐบาลฟ้องหมิ่นประมาทย่อมมีโอกาสพิสูจน์ว่ารัฐบาลมีข้อบกพร่องอย่างไรต่อหน้าศาล นั่นหมายความว่าข้อพิสูจน์ทั้งหมดจะถูกเผยแพร่ออกไปยังสาธารณะในทางหนึ่งทางใดด้วย

ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่รัฐบาลแพ้คดีโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์ว่ารัฐบาลมีข้อบกพร่องจริง ยิ่งเป็นผลให้รัฐบาลจะถูกตอกย้ำว่าได้บริหารราชการล้มเหลวไปในตัว

ดังนั้น ประโยชน์ที่รัฐบาลคาดว่าจะได้รับจากกฎหมายหมิ่นประมาทอาจไม่เป็นอย่างที่หวังนอกจากจะไม่ช่วยให้เสถียรภาพรัฐบาลมั่นคงแล้วยังจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของตัวนายกฯ มากกว่า

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลควรจะทำในเรื่องที่ควรทำมากกว่าเอาเวลาไปทำในเรื่องที่ไม่ควรทำจนนำมาสู่ความบาดหมาง