posttoday

จีนส่งสัญญาณปฏิรูปศก. เตรียมพร้อมปล่อยเสรีหยวน

06 พฤษภาคม 2556

การปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนทำสถิติสูงสุดของสกุลเงินหยวนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกความสนใจปนวิตกจากบรรดานักลงทุนในตลาดการเงินแทบจะในทันที

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

การปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนทำสถิติสูงสุดของสกุลเงินหยวนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกความสนใจปนวิตกจากบรรดานักลงทุนในตลาดการเงินแทบจะในทันที

เหตุเพราะเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีนที่ยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จนทำให้การเติบโตที่กำลังฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้มีอันต้องสะดุดหยุดชะงักได้โดยง่าย

ยิ่งเมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) หนึ่งในปัจจัยสะท้อนความแข็งแกร่งภาคการผลิต ร่วงลงจากเดือน มี.ค. ที่ 52.3 จุด มาอยู่ที่ 51.7 ในเดือน เม.ย. ขณะที่ปริมาณการสั่งซื้อใหม่ร่วง 50.9 ในเดือน มี.ค. มาอยู่ที่ 48.6 ในเดือน เม.ย. ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ก็ยิ่งทำให้จีนมีเหตุผลที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแทรกแซงค่าเงินหยวน

ทว่าจนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา แถมเหล่าเจ้าหน้าที่อาวุโส รวมถึงธนาคารกลางจีนกลับแสดงท่าทียอมรับการเติบโตที่ชะลอตัว พร้อมส่งสัญญาณลอยตัวค่าเงินหยวนเพิ่มเติม

เหล่านักวิเคราะห์ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ของจีนมาอย่างต่อเนื่องเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนที่ปรับตัวแข็งค่ามากขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม แนวโน้มค่าเงินหยวนที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลเหรียญสหรัฐตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา กำลังแสดงให้เห็นว่า จีนเริ่มมีความมั่นใจในเศรษฐกิจของตนเองมากขึ้น และมากพอที่จะปล่อยเสรีค่าเงินหยวน เพื่อปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ค. ที่ 6.1537 หยวนต่อเหรียญสหรัฐ หลังจากที่เพิ่งจะขยับแข็งค่าเพิ่มขึ้น 0.6% ไปเมื่อช่วง 23 สัปดาห์ก่อนหน้า โดย อลิสแตร์ ธอร์นตัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจีนไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับการแข็งค่าของสกุลเงินหยวนแสดงให้เห็นว่า จีนไม่รู้สึกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจตนเอง และไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงใดๆ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เงินหยวนที่ปรับตัวแข็งค่ามากขึ้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลแดนมังกรคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และตั้งใจให้เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในหลักฐานยืนยันก็คือ การประกาศขยายช่วงขอบเขตเพดานการซื้อขายเงินหยวนรายวันเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเป็น 1% ซึ่งสูงขึ้นจากระดับก่อนหน้าที่ 0.5% หรือหมายความว่าธนาคารของจีนสามารถซื้อขายเงินหยวนได้สูงหรือต่ำกว่าค่ากลาง 1% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เงินหยวนของจีนมีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดมากขึ้น

ขณะที่ หยี่กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ยังส่งสัญญาณเตรียมผ่อนคลายค่าเงินเพิ่มเติมด้วยการกล่าวว่า ธนาคารกลางกำลังพิจารณาการขยายเพดานการซื้อขายเงินหยวนรายวันเพิ่มเติม พร้อมย้ำชัดเจนว่าการปฏิรูปกลไกอัตราแลกเปลี่ยนโดยอิงตลาดเป็นหลัก นับเป็นทิศทางเป้าหมายชัดเจนและจำเป็นสำหรับจีน

เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำให้การซื้อขายเงินตราต่างประเทศของจีนเริ่มสมดุลมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการผลักดันให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินสากล

ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนจะมีส่วนสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน จากที่ต้องเน้นพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว ไปสู่การพึ่งพากำลังการบริโภคของประชากรในประเทศ โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักตอบตรงกันว่า เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐจะช่วยเพิ่มอำนาจในการจับจ่ายให้กับประชากรชาวมังกรทั้งหลาย

ทั้งนี้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับแดนมังกรเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมั่นคงในระยะยาว นอกจากจะต้องปล่อยให้สกุลเงินหยวนมีเสรีภาพในการปรับค่าขึ้นลง โดยอิงตามกลไกของตลาดแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลจีนยังจะต้องจัดวางมาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้มีการใช้สกุลเงินหยวนกว้างขวางมากขึ้น

เพราะการใช้สกุลเงินหยวนโดยตรงในการค้าขายจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้กับบริษัทสัญชาติจีนได้ ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความจำเป็นในการเก็บสะสมทุนสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศของจีน โดยในปี 2555 ทุนสำรองต่างประเทศของจีนคิดเป็น 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกประเทศจะเห็นด้วยกับแนวทางที่จีนไม่เข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนในขณะที่การเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัวเหมือนในอดีต ทว่ารัฐบาลจีนควรแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างระบบอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ที่ขณะนี้ขาดทั้งขอบเขตแนวทางที่ชัดเจน และกลยุทธ์ที่รัดกุมรอบคอบ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า ถ้าจีนสามารถยกระดับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยได้ก็จะส่งผลดีที่จะช่วยไม่ให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วเกินไปจนกระทั่งกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งยังคงเป็นเส้นเลือดสายหลักหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจประเทศ

หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ก่อนที่จะปล่อยเสรีค่าเงินหยวนให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนเอง

ทั้งนี้ ในระยะสั้น นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างมองว่า นักลงทุนทั่วโลกอาจจะต้องทำใจให้นิ่งกับจีดีพีจีนที่น่าจะสร้างความผิดหวังเล็กน้อยจากการชะลอตัวในภาคส่งออก เนื่องจากการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง

กระนั้น หากพิจารณาที่มูลค่าการค้าโดยรวมแล้ว ชวง ติง นักเศรษฐศาสตร์จากซิตี (Citi) เห็นว่า ดุลการค้าจีนปีนี้จะเกินดุลอยู่มากพอควร โดยดุลการค้าจีนในไตรมาสแรกของปีเกินดุลอยู่ที่ 4.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

การชะลอตัวของจีนในเวลานี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลมากเท่ากับประเด็นที่ว่ารัฐบาลจีนจะสามารถปรับโครงสร้างประเทศ เพื่อปล่อยเสรีสกุลเงินหยวนของตนเองได้สำเร็จหรือไม่