posttoday

ขบวนแรงงานอ่อนแอกรรมกรหมดแรง

02 พฤษภาคม 2556

ผ่านไปอีก 1 ปีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ผู้ใช้แรงงานเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้อง

โดย...วิทยา ปะระมะ

ผ่านไปอีก 1 ปีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ผู้ใช้แรงงานเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้อง วันที่นายกรัฐมนตรีโปรยยาหอมรับปากแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้าง หลังจากนั้นผู้ใช้แรงงานก็กลับโรงงานก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปอีก 364 วัน (เหมือนเดิม)

ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเรียกร้องที่กลุ่มแรงงานต้องการให้รัฐแก้ไขปัญหา แต่ละปีก็มีเนื้อหาหลักๆ ไม่ต่างกันมากนัก เช่น เพิ่มค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับนายจ้าง การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบการบริหารและการใช้จ่ายเงินได้อย่างโปร่งใส การดูแลระบบอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยในการทำงาน การสร้างระบบจ่ายเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ พูดกันทุกปีแต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ สะท้อนว่ารัฐไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหาหรือรับฟังเสียงผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง ตัวอย่างล่าสุดคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ยกร่างโดยเครือข่ายแรงงาน มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 14,564 รายชื่อต่อรัฐสภา แต่โดนบรรดาผู้แทนตีตกอย่างรวดเร็วตั้งแต่วาระแรก

อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่าขบวนการแรงงานที่เคยเข้มแข็งเป็นอย่างมากในอดีต ปัจจุบันกลับอ่อนแอจนไม่สามารถผลักดันวาระของตัวเองให้เป็นผลสำเร็จได้

ปัจจัยที่บ่อนทำลายพลังการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงาน มีทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ ในส่วนของเรื่องปริมาณนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังแรงงานประมาณ 39.3 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประมาณ 10 ล้านคน แต่มีแรงงานที่รวมตัวอยู่ในระบบสหภาพแรงงานเพียง 3 แสนคน หากรวมแรงงานในกลุ่มรัฐวิสาหกิจและภาครัฐอื่นๆ เข้าไปด้วยก็อยู่ที่ประมาณ 5 แสนคนเท่านั้น ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมด

ขณะที่เรื่องคุณภาพ ในขบวนการแรงงานเองก็มีกลุ่มก้อนที่หลากหลาย กลุ่มใหญ่ๆ เช่น กลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง ซึ่งประกอบจากสหภาพแรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง ยื่นจดทะเบียนเป็นสภาองค์การลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 13 สภา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งประกอบจากสหภาพแรงงานต่างๆ รวมตัวกันเป็นเครือข่าย แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสภาลูกจ้าง อีกทั้งยังมีกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

กลุ่มก้อนต่างๆ เหล่านี้ มีความคิดเห็นและแนวทางการทำงานต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างจัดงาน โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ขณะที่กลุ่ม คสรท.จะแยกจัดงานเองต่างหากโดยไม่รับเงินจากรัฐ แต่ใช้วิธีระดมเงินจากแรงงานด้วยกันเองมาจัดงาน ขณะที่ สรส.ก็จะทำงานใกล้ชิดกับทาง คสรท.มากกว่า

แม้แต่กระบวนการผลักดันวาระสำคัญๆ อย่างกฎหมายประกันสังคม ก็ยังมีความแตกต่างกันออกไป กลุ่มหนึ่งต้องการให้มีการเลือกตั้งบอร์ดฝ่ายลูกจ้างทางตรงจากผู้ประกันตน 10 ล้านคน แต่อีกกลุ่มที่มีบทบาทอยู่ในประกันสังคมก็อยากให้ใช้วิธีการเดิม คือให้ตัวแทนองค์การลูกจ้างเลือกตัวแทนกันเองเพื่อไปนั่งเป็นบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง เป็นต้น

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการสายแรงงานของเมืองไทย วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้ยากที่วาระเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานจะได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ เพราะปัจจุบันนายทุนพัฒนารวดเร็วและเติบโตไปมีบทบาทในฝ่ายการเมือง เสียงของนายทุนจึงเป็นเสียงเดียวกับรัฐ แต่เป็นคนละเสียงกับแรงงาน

ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานเองก็อ่อนแอทางความคิดเพราะถูกหล่อหลอมโดยลัทธิบริโภคนิยม มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอจ่าย ต้องทำโอทีเพิ่ม เวลาที่จะพักผ่อนหาความรู้ก็น้อยลง

“สมัยก่อนขบวนการแรงงานเข้มแข็ง เพราะประกอบไปด้วย กรรมกรชาวนา นักศึกษา ประชาชน ตัวกรรมการกับชาวนาอยู่ใกล้ชิดนักศึกษาปัญญาชน ใกล้ชิดหนังสือ ก็พัฒนาความคิดในเชิงก้าวหน้า แต่สมัยนี้วันๆ เอาแต่ทำงานในโรงงาน ไม่มีเวลาได้เติบโตศึกษาหาความรู้” ณรงค์ กล่าว

ณรงค์ ชี้ว่า ปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ต้องมีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งส่งเสริมการรวมตัวและต่อรองกับนายจ้าง รวมทั้งสังคมต้องปรับความคิดใหม่ว่า การรวมตัวเป็นสหภาพ ไม่ใช่เรื่องของกรรมกร แต่เป็นสมาคมที่ลูกจ้างวิชาชีพต่างๆ รวมตัวกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วลูกจ้างกว่า 97% จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหมด แม้แต่นักวิชาการมหาวิทยาลัย วิศวกรนาซ่า ก็ยังมีสหภาพแรงงานของตัวเอง

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป “ความเป็นขบวนการ” ของแรงงานจะค่อยๆ หดลง พลังการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องเพื่อผลักดันเป้าหมายจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ

วันแรงงานจะกลายเป็นแค่พิธีกรรมหรืองานวัด ขาดจิตวิญญาณการต่อสู้เรียกร้องที่แท้จริงของชนชั้นแรงงานไป