posttoday

มาเลย์-อินโดฯ ตัวกลางฝ่าทางตันเจรจา

30 เมษายน 2556

เริ่มต้นชูนโยบายพูดคุยสันติภาพได้ไม่ทันไร รัฐบาลไทยก็ถูกสถานการณ์บีบให้เดินสู่สุดขอบหน้าผาของกระบวนการดังกล่าวนี้

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

เริ่มต้นชูนโยบายพูดคุยสันติภาพได้ไม่ทันไร รัฐบาลไทยก็ถูกสถานการณ์บีบให้เดินสู่สุดขอบหน้าผาของกระบวนการดังกล่าวนี้

การลงนามเพื่อเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ก้าวหน้าอย่างมากในการหาทางยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากว่า 9 ปี

ผลสำรวจของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นชัดว่าคนพื้นที่มีความหวังสูงต่อมาตรการนี้ ซึ่งหากสุดทางเดินของกระบวนการพูดคุยต้องสะดุดหยุดยั้งลง การใช้แนวทางอื่นเพื่อแก้ปัญหาก็อาจจะไม่เกิดความหวังได้มากเท่ามาตรการนี้

9 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพของขบวนการก่อความไม่สงบ ผลพวงของความสูญเสียมากมายทั้งชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พุ่งกลับเข้าโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง สารพัดนโยบายแก้ปัญหา ทั้งปราบปรามเด็ดขาดเพราะเห็นว่าเป็น “โจรกระจอก” กระบวนการ “สมานฉันท์” เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง การเยียวยาความสูญเสีย การเมืองนำการทหาร การพัฒนาที่ทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ก็ไม่อาจแก้ความรุนแรงที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดได้

คำถามว่า ฮาซัน ตอยิบ นั้นเป็น “ตัวจริง” ที่จะสั่งควบคุมความรุนแรงได้หรือไม่ จึงเป็นการสะท้อนความต้องการของสังคมไทยที่เข็ดขยาดต่อความรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าขบวนการก่อความไม่สงบย่อมรู้ถึงข้อได้เปรียบอันนี้ดี ดังนั้นภายหลังกระบวนการพูดคุยเริ่มต้นได้เพียง 3 เดือน ความรุนแรงจึงยิ่งถี่ยิบ อาจเป็นไปได้ว่าขบวนการกำลังย้ำให้เห็นถึงอำนาจที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการพูดคุย

ประเด็นที่ตัวแทนฝ่ายไทยเสนอต่อตัวแทนบีอาร์เอ็นในการพูดคุยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คือการขอให้ยุติความรุนแรง ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกหมายจับขบวนการก่อความไม่สงบ

แต่ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องถี่ยิบ โดยพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์สำคัญคือลอบวางระเบิดรถยนต์รอง ผวจ.ยะลา เสียชีวิต พร้อมป้องกัน จ.ยะลา

เมื่อถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า ฮาซัน ตอยิบ นั้นเป็นผู้มีอิทธิพลสั่งการได้จริงหรือไม่ พล.ท.ภราดร ตอบว่า ฮาซันได้ส่งสัญญาณไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงระดับปฏิบัติการในพื้นที่

ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะตระหนักดีว่า ท่าทีของบีอาร์เอ็นไม่อินังขังขอบต่อคำขอ “ยุติความรุนแรง” การรุกโต้ของฝ่ายไทยจึงออกมาในรูปของการหาหุ้นส่วนใหม่ๆ ในกระบวนการสันติภาพ นอกเหนือจากบีอาร์เอ็นและมาเลเซีย

พล.ท.ภราดร เคยกล่าวว่า กำลังติดต่อกลุ่มต่อสู้อื่นเข้ามาร่วมการพูดคุย รวมทั้งการประสานให้ประเทศอินโดนีเซียเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

แต่แล้วแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นผ่านเว็บไซต์ยูทูบ ก็เป็นการสวนหมัดกลับ เพราะข้อเสนอ 5 ข้อนั้น เสมือนการยกระดับการพูดคุยขึ้นเป็นการเจรจาระหว่างบีอาร์เอ็นในฐานะตัวแทนประชาชนมลายูปัตตานีกับรัฐไทย (สกัดการเข้ามาของกลุ่มต่อสู้อื่นๆ) โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง (สกัดอินโดนีเซีย) มีประเทศอื่นๆ จากอาเซียน องค์กรที่ประชุมอิสลามหรือโอไอซี และเอ็นจีโอเป็นพยาน(สร้างการยอมรับในระดับสากล) ขณะที่การยกเลิกหมายจับเป็นการทำเพื่อกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่

แน่นอนว่า ข้อเสนอเหล่านี้ ยาก ที่รัฐบาลไทยจะยอมรับได้ ในฐานะที่ขีดเส้นกระบวนการนี้ว่าเป็นแค่ “การพูดคุย” ไม่ใช่ “การเจรจา”

ทางเลือกที่มีอยู่ 1.ล้มกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพราะไม่อาจรับข้อเสนอได้ หรือ 2.เริ่มกระบวนการใหม่กับกลุ่มอื่นๆ ที่มีอินโดนีเซียเป็นตัวกลาง ไม่ว่าทางใดก็ล้วนแต่กระทบต่อสถานะความน่าเชื่อถือของไทย

ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลไทยคงเหลือทางออกไม่มาก และหนทางที่ดีที่สุดคือ ดำเนินกระบวนการนี้กับบีอาร์เอ็น โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อไป ส่วนอินโดนีเซียก็อาจเข้ามาร่วมในฐานะสักขีพยาน (ตามข้อเสนอของบีอาร์เอ็น)

มาเลเซียนั้นมีทีท่าที่จะร่วมมือกับไทยยุติสถานการณ์ความไม่สงบอย่างชัดเจน ใช่เพียงแค่รัฐบาลปัจจุบันของ นาจิบ ราซัค เท่านั้น แม้แต่ อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านที่กำลังแข่งขันหาเสียงเลือกตั้งอยู่ในขณะนี้ก็ประกาศว่า หากพรรคร่วมฝ่ายค้าน (โดยมีพรรคปาส ซึ่งมีฐานเสียงในรัฐที่ติดชายแดนไทยรวมอยู่ด้วย) ได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะเดินหน้านโยบายสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพนี้ต่อไป

ขณะที่อินโดนีเซียนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานว่าเป็นพื้นที่ซึ่งขบวนการก่อความไม่สงบลักลอบใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดและฝึกอบรม

กระบวนการพูดคุยที่ดูเหมือนว่ายากจะหาทางไปต่อได้ ถึงที่สุดแล้วประเทศไทยก็คงหาทางประสานกับมาเลเซียและอินโดนีเซียได้

ไม่แน่ว่าบีอาร์เอ็นก็อาจมองเห็นถึงข้อได้เปรียบนี้ของฝ่ายไทย จึงวางตัวอับดุลการิม คาลิบ ประธานฝ่ายเปอมูดอร์ หรือเยาวชน ให้ออกหน้าแถลงข้อเสนอในยูทูบ ซึ่งอาจหมายถึง อับดุลการิม เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะสถานการณ์ภาคใต้ขณะนี้ ผู้กุมกองกำลังปฏิบัติการล้วนเป็นกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่