posttoday

เศรษฐกิจมะกันฟื้นไม่จริง เปิดช่องเฟดอัดฉีดต่อ

29 เมษายน 2556

เปิดเผยออกมาแล้วสำหรับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของสหรัฐ ที่ขยายตัวที่ 2.5%

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เปิดเผยออกมาแล้วสำหรับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของสหรัฐ ที่ขยายตัวที่ 2.5% ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 2.8-3% แต่ก็ไม่ถือว่าน่าผิดหวังนักเมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพีของไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ขยายตัวแค่ 0.4% เท่านั้น ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของจีดีพีสหรัฐมีการขยายตัวถึง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2010 ขณะที่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วขยายตัวที่ 1.8% เท่านั้น

ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขไตรมาสแรกที่ออกมาค่อนข้างดีกลับไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตเลยแม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของตลาดหุ้นสหรัฐ โดยดัชนีดาวโจนส์เมื่อวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. ขยับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย 12 จุด หรือ 0.08% ปิดที่ 14,713 จุด ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดตลาดดิ่งลง 0.18% ที่ 1,582.24 จุด

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการฟื้นตัวในไตรมาสล่าสุดที่ออกมา ตลาดต่างพากันมองว่าเกิดจากภาวะการบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราว มากกว่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเติบโตของการบริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ประชาชนหันมาซื้อข้าวของหลังจากเกิดความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ ขณะที่อากาศที่หนาวกว่าปกติก็เป็นตัวผลักดันให้ผู้คนหันมาซื้อข้าวซื้อของมากขึ้น ในทางกลับกัน การลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ รวมไปถึงซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เป็นปัจจัยและต้นทุนในการผลิตกลับเป็นไปอย่างเบาบาง โดยเห็นได้จากยอดการลงทุนในอุตสาหกรรม ธุรกิจอื่นๆ ในไตรมาสแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ที่ 2.1%

ขณะที่ก่อนหน้านี้ตัวเลขอื่นๆ ที่เป็นสัญญาณชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ระดับการว่างงาน ดัชนีภาคการผลิต และราคาสินค้าปลีกในเดือน มี.ค. ที่เป็นไปอย่างน่าผิดหวังและอ่อนแอ ก็เริ่มเป็นสัญญาณบ่งบอกออกมาให้เห็นเช่นกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมืองลุงแซมยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน เม.ย. ที่คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังย่ำแย่ต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ดังนั้น การฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาในไตรมาสแรกของปีนี้จึงเป็นการฟื้นตัวแบบชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อยิ่งต้องมาเผชิญกับผลกระทบจากการตัดลดงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลอัตโนมัติ (ซีเควสเตอร์) จำนวน 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.46 ล้านล้านบาท) ในระยะเวลา 7 เดือน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นตัวฉุดรั้งให้เศรษฐกิจเมืองลุงแซมในไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้จะต้องย่ำแย่ลงไปอีกอย่างแน่นอน โดยเห็นได้จากอาการบ่งชี้ในไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีส่วนทำให้การขยายตัวของจีดีพีไตรมาสแรกของสหรัฐที่ออกต่ำกว่าคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3% และคาดว่าจะส่งผลร้ายแรงอย่างเต็มที่ในไตรมาส 3 ปีนี้

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยจากการใช้จ่ายภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองลุงแซมไม่น้อย แม้ว่า 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐจะมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ตาม โดยในไตรมาสแรกปีนี้รายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงลดลงไปแล้วถึง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

“เป็นเรื่องจริงที่ชัดเจนว่าการตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาอยู่ในสภาวะย่ำแย่อีกครั้ง และเป็นไปได้ด้วยว่าการตัดลดรายจ่ายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่เหลือทั้งหมดในปีนี้” พอล แอสเวิร์ท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐ จากแคปปิตอลอีโคโนมิก กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น จากภาวะค่าเงินเหรียญสหรัฐที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาถึง 4% ก็น่าจะไปฉุดรั้งการขยายตัวของภาคการส่งออกให้น้อยลง และจะทำให้การขาดดุลทางการค้าในอนาคตกลับมาอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอีกครั้ง แม้ว่าในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาตัวเลขดุลการค้าจะลดลงมาอยู่ที่ติดลบ 4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.21 ล้านล้านบาท) ก็ตาม

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงที่ยกมานั้น ประกอบกับการที่อัตราเงินเฟ้อในปีที่แล้วซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% จากที่ตั้งเป้าไว้ 2% จึงน่าจะกลายเป็นเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จากเดิมเริ่มมีเสียงบ่นจากภายในว่าต้องการจะยุติการใช้มาตรการกระตุ้นต่างๆ ลงในปลายปีนี้ ก็น่าจะเบาบางลง และหันมาสนับสนุนแนวทางการใช้มาตรการกระตุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 00.25% และโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์รอบที่ 3 (คิวอี3) เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.46 ล้านล้านบาท) ต่อไปเช่นเดิม

“ตัวเลขต่างๆ ที่เริ่มสะท้อนถึงความย่ำแย่ก็น่าจะเป็นเหตุผลทำให้เฟดยังตัดสินใจเดินหน้าคงมาตรการคิวอีต่อไป ซึ่งในสัปดาห์หน้าเฟดจะมีการประชุมกัน และคาดว่าจะให้การสนับสนุนการคงมาตรการคิวอีต่อไป”

จึงนับว่าสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มออกอาการย่ำแย่ตั้งแต่ต้นปี อาจกลายเป็นลางร้ายบ่งบอกถึงภาวะและทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ก็เป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้มหาอำนาจหมายเลข 2 ของโลกอย่างจีนก็มีการเติบโตที่น่าผิดหวังเช่นกัน โดยโตแค่ 7.8% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ 8%