posttoday

ปชป."ไพรมารี"ยกเครื่องสู้ พท.

26 เมษายน 2556

กระแสปฏิรูปประชาธิปัตย์ถูกจุดชนวนขึ้นมาอีกรอบ ในการประชุมสามัญประจำปีของพรรคต้นเดือน เม.ย. “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กระแสปฏิรูปประชาธิปัตย์ถูกจุดชนวนขึ้นมาอีกรอบ ในการประชุมสามัญประจำปีของพรรคต้นเดือน เม.ย. “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่ภาคกลางได้จุดประเด็น “ยกเครื่อง” และขยายผลต่อในทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยตั้งโจทย์เรื่องความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งต่อเนื่อง 21 ปี

“หลายคนในพรรคจะปักใจว่าปี 2544 พรรคประชาธิปัตย์แพ้เพราะเงิน แต่หลายคนรวมทั้งตนคิดว่า เราแพ้เพราะคิดไม่ทัน ปรับตัวไม่ทัน สโลแกน คิดใหม่ ทำใหม่ และรูปแบบหาเสียงใหม่ๆ”

ไม่แปลกที่ครูใหญ่อย่าง นายหัวชวน หลีกภัย ต้องออกมาส่งเสียงปรามดังๆ ให้กลับมาคุยกันภายใน มากกว่าป่าวประกาศให้สังคมร่วมรับรู้

เพราะทั้ง 3 เรื่องที่ “อลงกรณ์” เสนอให้ปฏิรูป คือ โครงสร้าง การบริหาร วัฒนธรรม ล้วนแต่เป็นหัวข้อใหญ่ ที่หากเปลี่ยนแปลงกันจริง ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประชาธิปัตย์

ในขณะที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็ออกอาการไม่เห็นด้วยกับการหยิบยกประเด็นภายในพรรคไปหารือในพื้นที่สาธารณะ พร้อมตอกกลับว่า มีหลายคนที่มาเสนอแนวคิดปฏิรูปพรรคและกำลังเดินหน้าทำอย่างเงียบๆ เวลานี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ “อลงกรณ์” ต้องฉีกขนบประชาธิปัตย์ ออกหน้าประกาศตัวต่อสังคมผลักดันการปฏิรูปรอบนี้ เนื่องจากตกอยู่ในสถานะรองหัวหน้าพรรค ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง ที่พรรคตั้งเป้าว่าจะขยายฐานเก้าอี้ สส.มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ยิ่งในวันที่การเมืองกำลังก้าวสู่ระบบ 2 ขั้วชัดเจน ประชาธิปัตย์จึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องเร่งปรับโครงสร้าง ระบบบริหาร และวัฒนธรรมที่ติดหล่ม เพื่อไปต่อสู้กับเพื่อไทย ที่กำลังเร่งเดินหน้าโกยคะแนนจากนโยบายประชานิยมและเมกะโปรเจกต์ล็อตใหม่ 2 ล้านล้านบาท

ประเดิมด้วยการคัดเลือกผู้สมัครด้วยระบบ “ไพรมารี แอนด์ คอคัส” คือ ให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนคัดเลือกผู้สมัครชั้นแรก ก่อนจะให้คณะกรรมการของพรรคคัดเลือกในลำดับถัดไป ซึ่งจะทำให้ได้คนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประเดิมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แห่งแรก

เพราะที่ผ่านมาเสียงครหาเรื่อง “เด็กเส้น” ยังมีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่หลายเขต ทั้งทายาท สส.เก่า โควต้ากลุ่มทุน ที่เข้ามาเบียดลงในนาทีสุดท้าย และหลายจุดกลายเป็นจุดอ่อนจนถูกฝ่ายตรงข้ามเจาะฐานของประชาธิปัตย์

ในส่วนของการปฏิรูปรอบนี้ มีแนวร่วมที่ต้องการเห็นพรรคก้าวไปข้างหน้า เป็น สส.ประมาณ 20 คน อาทิ นคร มาฉิม นิพนธ์ บุญญามณี ศุภชัย ศรีหล้า ฯลฯ โดยตั้งวงถกหาทางออกกันเป็นเรื่องเป็นราวอุดช่องโหว่ สร้างจุดแข็ง และเตรียมเสนอต่อกรรมการบริหารพรรคต่อไป

ทั้งเรื่องปรับนโยบายให้ตอบสนองโดนใจทุกภาคส่วนของสังคม การบริหารงานในองค์กรที่ต้องไม่เทอะทะจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน ท่ามกลางพลวัตทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และที่สำคัญต้องเปิดกว้างให้คนทั่วไปได้เข้ามาทำงานมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมดึงนักวิชาการจากหลายสำนักมาร่วมวางโครงสร้าง

ทว่า อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อแนวคิดดังกล่าวยังอาจมีเสียงต่อต้านจากบางฝ่ายในพรรคที่เป็นห่วงว่า การปรับจุดยืนพรรคไปแข่งขันด้วยนโยบายหวือหวาแต่ไม่ยั่งยืน อาจจะทำให้พรรคต้องมาทำในสิ่งที่เคยวิพากษ์วิจารณ์เพื่อไทยในอดีต

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่กับการสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง เมื่อที่ผ่านมาการวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประชาธิปัตย์ก็มีอยู่ให้เห็นหลายระลอก แต่ทั้งหมดแทบจะเป็นการแก้ไขในประเด็นปลีกย่อย ไม่ใช่ในเชิงโครงสร้าง

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขจุดอ่อน เพิ่มช่องทาง การสื่อสาร โดยสถานี “บลูสกาย” กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของประชาธิปัตย์ ที่กำลังได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะรายการ “สายล่อฟ้า”? ที่ทำให้กองเชียร์ แฟนคลับ ต้องคอยเฝ้าหน้า

ถัดมาที่ “เวทีฝ่าความจริง” ที่อาศัยจุดแข็งเรื่องการปราศรัย เดินสายไปตั้งเวทีพบปะชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลถล่มการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ล้มเหลว หรือเงื่อนงำแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม ความสำเร็จจากเวทีนี้ ทำให้ฝั่งเพื่อไทยต้องเตรียมจัดเวทีในลักษณะเดียวกันคอยแก้ลำประชาธิปัตย์

ขณะที่แผนระยะยาว ได้ตั้ง “สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย” พร้อมดึง “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” มานั่งเป็นประธาน เพื่อสรุปหาพิมพ์เขียวพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว ตามกรอบ 3 ด้าน คือ การศึกษา ระบบธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ

นำร่องสร้างความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น 5 องค์กร ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองลำพูน และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อนำมาประเมินผล ปรับปรุงทำเป็นนโยบายอย่างยั่งยืนของพรรคประชาธิปัตย์

แนวคิดการปฏิรูปรอบใหม่ครั้งนี้ จึงเป็นที่จับตาว่านอกจากจะสามารถหลุดจากกรอบและวัฒนธรรมเดิมได้หรือไม่แล้ว ยังต้องติดตามว่าจะบานปลายไปสู่ความขัดแย้งภายในระลอกใหม่หรือไม่อีกด้วย