posttoday

งบปี"57ซ่อนรูปโชว์แผลประชานิยม

25 เมษายน 2556

ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติอนุมัติการจัดทำงบประมาณปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติอนุมัติการจัดทำงบประมาณปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการจัดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 เสนอ ครม.เห็นชอบ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือน พ.ค.นี้

วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกเงื่อนเวลาว่า รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 จะเข้าสภาวาระแรกวันที่ 29-30 พ.ค. โดยรัฐบาลได้ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ และหากร่าง พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในขั้นพิจารณาคณะกรรมาธิการฯ เสร็จทัน ก็จะเสนอร่างกฎหมายกู้เงินเข้าไปพร้อมกัน

ฟากฝั่ง “ขุนคลัง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำมาโดยตลอดว่าการจัดทำงบปี 2557 แม้เป็นการจัดทำงบขาดดุลก็จริง แต่การขาดดุลงบลดลงเหลือ 2.5 แสนล้านบาท เทียบกับปีงบ 2556 ที่เป็นการขาดดุลงบ 3 แสนล้านบาท และปีงบ 2555 ที่เป็นการขาดดุลงบ 4 แสนล้านบาท

นับว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลที่ลดการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

หากมองเผินๆ อาจมองได้ว่า เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดของรัฐบาลและ กิตติรัตน์ ที่ต้องการควบคุมการขาดดุลงบประมาณให้ลดลงต่อเนื่อง กระทั่งเข้าสู่งบสมดุลในปีงบ 2560 ท่ามกลางการโถมงบลงโครงการประชานิยม

ทว่าในความเป็นจริง การที่รัฐบาลลดการขาดดุลงบเหลือ 2.5 แสนล้านบาทในงบปี 2557 นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงจากการกู้เงินนอกงบของรัฐบาล ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท แทบทั้งสิ้น

ดังนั้น การจัดทำงบปี 2557 จึงเรียกได้ว่าเป็นการจัดทำงบประมาณแบบ “ซ่อนรูป” ก็ได้

เพราะการตั้งงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ควรจะโชว์ในงบปี 2557 และทำให้การขาดดุลเพิ่มขึ้น ได้ถูกโยกไปไว้ในกฎหมายพิเศษกู้เงินทั้งสองฉบับแล้วนั่นเอง

และหากย้อนไปพิเคราะห์โครงสร้างงบปี 2557 รัฐบาลตั้งงบลงทุน 4.57 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.1% ของงบประมาณ เทียบกับปีงบ 2556 ที่งบลงทุนมีสัดส่วน 18.7% จะเห็นว่าลดลง

งบรายจ่ายประจำมีวงเงิน 2.001 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 79.3% โดยค่าใช้จ่ายบุคลากรอยู่ที่ 9.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2556 ที่มีค่าใช้จ่ายแค่ 8.92 แสนล้านบาท

งบบุคลากรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการแรกเข้าเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่เป็นความจำเป็นที่ยอมรับได้

แต่อย่างน้อยก็เป็นการตอกย้ำว่า “งบลงทุน” ถูกเบียดบังไปใช้ในรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ภาระเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ปีงบ 2557 ที่เพิ่มเป็น 1.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เทียบกับงบปี 2556 เงินการเลื่อนขั้นและปรับวุฒิเงินเดือนข้าราชการที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% เทียบกับปีงบ 2556 ขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการที่ปีนี้“ตรึงไว้” ที่ 6 หมื่นล้านบาทเท่ากับปีที่แล้ว

นี่ยังไม่นับรวมงบสวัสดิการที่รัฐบาลต้องจัดสรรตามนโยบาย อาทิ งบ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ตัวเลขทะยานขึ้นไปแตะ 1.14 แสนล้านบาท จากงบปี 2545 ที่เริ่มโครงการปีแรกและมีค่าใช้จ่าย 2.76 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 45 เท่าในช่วง 12 ปี เช่นเดียวกับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามสภาพสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เท่ากับว่างบรายจ่ายประจำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และรัฐบาลต้องเตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ

ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่เรียกว่าโครงการประชานิยม มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้การจัดทำงบปี 2557 เข้าลักษณะ “พิกลพิการ” เทียบกับงบปีที่แล้วๆ มา

โครงการรถยนต์คันแรกที่ปีงบ 2556 จัดสรรงบคืนเงินภาษีแล้ว 7,280 ล้านบาท และปีงบ 2557 จัดสรรงบรองรับไว้ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนปีงบ 2558 จะต้องจัดสรรอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท

การคืนเงินภาษีสรรพสามิต 9 หมื่นล้านบาท ที่สามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ 2 สาย สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงระยะสั้นๆ 12 เส้น ถูกละเลงไปกับโครงการ “จูงใจ” ให้คนชั้นกลางรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบผ่อนชำระหนี้สินก้อนโต

แม้ กิตติรัตน์ จะบอกว่า เงินภาษีที่คืนให้ผู้ซื้อรถยนต์นั้น เป็นเงินที่ผู้ซื้อรถจ่ายให้รัฐบาลและรัฐบาลจ่ายคืนทีหลัง แต่มองในแง่ความเป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกและได้สิทธิคืนเงินภาษี 1 แสนบาท คือคนที่ไม่ต้องแบกรับจ่ายค่าซ่อมแซมและสร้างถนนให้รถมาวิ่ง เหมือนกับคนที่มีรถยนต์ใช้และต้องเสียภาษีค่าใช้ถนนในรูป “ภาษีสรรพสามิต”

เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบการจัดเก็บภาษี

เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่สูงกว่าราคาตลาด ที่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐมหาศาลไปอีกหลายสิบปี

จะเห็นว่างบปี 2557 ได้จัดสรรงบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 8.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2556 ที่จัดสรรงบไว้ 6.13 หมื่นล้านบาท โดยเงินมากกว่า 90% หรือ 7.35 หมื่นล้านบาท ถูกใช้ในโครงการสร้างเสริมเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร

นี่ไม่นับรวมวงเงินกู้หมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท

เช่นเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการรับจำนำฯ เช่น องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ต่างพาเหรดของบเพิ่มขึ้นเกิน 50% อาทิ อคส.ของบปี 2557 เป็นเงิน 9,001 ล้านบาท จากปีงบ 2556 ที่ได้รับงบ 5,181 ล้านบาท หรือ อ.ต.ก.ที่ของบปี 2557 เป็น 2,384 ล้านบาท จากปีที่แล้วได้งบ 1,448 ล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มีผลวิจัยหลายสำนักตอบรับชัดเจนว่า ผลประโยชน์ “ส่วนใหญ่” ตกกับคนไม่กี่กลุ่มและนักการเมือง ส่วนชาวนารายย่อยได้แค่เศษเนื้อจากเงินในโครงการไม่เกิน 30% แต่สร้างภาระงบประมาณไม่มีจุดสิ้นสุด ทั้งทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยในระดับที่ใหญ่หลวง

“การจัดทำงบปี 2557 ไม่ได้จัดงบเพื่อโครงการประชานิยม แต่เป็นการจัดสรรงบในโครงการที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเอาไว้ และปีงบ 2557 เงินที่ใช้ในบางโครงการก็ลดลง เช่น กองทุนหมู่บ้าน ปีที่แล้วตั้งงบไว้ 6.79 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้ ปีงบ 2557 ลดลงเหลือ 807 ล้านบาท ส่วนงบที่ตั้งไว้ที่ ธ.ก.ส.ก็เป็นงบที่ตั้งเพื่อชำระหนี้คืน” วราเทพ ชี้แจง

แต่ก็สะท้อนว่า เงินที่รัฐบาลใช้ในโครงการประชานิยมเริ่มผลิดอกออกผลเป็น “ภาระ” งบประมาณแล้ว

งบปี 2557 ที่ “ซ่อน” การขาดดุลงบประมาณไว้ในกฎหมายกู้เงินนั้น สะท้อนว่าโครงสร้างการจัดสรรงบประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอยิ่ง