posttoday

คลังฉีกธรรมาภิบาลเปิดทางแร้งทึ้งรัฐวิสาหกิจ

24 เมษายน 2556

การไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของคณะรัฐมนตรี (ครม. ) กลายเป็นดาบสองคมของอนาคตรัฐวิสาหกิจ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของคณะรัฐมนตรี (ครม. ) กลายเป็นดาบสองคมของอนาคตรัฐวิสาหกิจ

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารของรัฐวิสาหกิจให้ทันการณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่ทว่า ร่างกฎหมายใหม่กลับมีการเปิดช่องว่างให้ฝ่ายการเมืองเข้ากลุ่มอำนาจในการบริหารและแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น

เพราะแต่เดิมการเมืองก็ส่งคนเข้าไปเป็นประธานกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งของประเทศอยู่แล้ว

โดยในร่างกฎหมายยังเปิดกว้างให้ฝ่ายการเมืองดึงผู้มีประโยชน์ร่วมกันเข้ามากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจได้อีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากสาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ ได้ระบุไว้ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีอำนาจใช้ดุลพินิจมอบหมายให้ประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น เป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการในรัฐวิสาหกิจได้

แม้ว่าในร่างกฎหมาย กรรมการรัฐวิสาหกิจต้องไม่เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุนหรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้นก็ตาม กลับมีปลายเปิดให้มีการยกเว้น หากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบมีความจำเป็น

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐวิสาหกิจของไทยก็จะถูกครอบงำทั้งจากการเมือง และกลุ่มทุนที่แนบชิดฝ่ายการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การดำเนินการเช่นนี้ หากมองในแง่ดีก็สามารถได้คนเก่งจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยบริหารรัฐวิสาหกิจ แต่ในทางตรงกันข้ามหากคนจากเอกชนเข้ามาเพื่อผลักดันรัฐวิสาหกิจนั้นเอื้อประโยชน์กับบริษัทของตัวเอง ก็จะกลายเป็นการสูบเลือดรัฐวิสาหกิจดีๆ นั่นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที ที่วันนี้อยู่ในฐานะคนอมโรคป่วยไข้ไม่สามารถสู้กับเอกชนได้ ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสามารถทำได้ดีกว่าเอกชน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะที่ผ่านมาการเมืองส่งคนเข้าไปหาผลประโยชน์ โดยการให้สัมปทานเอื้อกับบริษัทของนักการเมืองและนายทุนของนักการเมืองได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

ขณะที่ตัวองค์กร กสทฯ และทีโอที กลับถูกปล่อยทิ้งเฉย ถูกบอนไชให้อยู่กับที่ บริษัทของนักการเมือง และนายทุนที่ใกล้ชิดนักการเมืองจะได้ไม่มีคู่แข่งนั่นเอง ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทสื่อสารเอกชนกำไรเป็นหมื่นล้านบาท แต่รัฐวิสาหกิจ กสทฯ และทีโอที กลับมีฐานะย่ำแย่ หารายได้ไม่พอรายจ่าย จนองค์กรไม่สามารถยืนอยู่ได้ในอนาคต

จากตัวอย่างที่เห็นขนาดกฎหมายไม่เปิดทางให้คนที่อยู่ในองค์กรที่มีส่วนได้เสียเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ ก็ยังมีการส่งนอมินีเข้าเป็นกรรมการยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจไปไว้ที่เอกชนกันอย่างเปิดเผย

ในขณะที่ร่างกฎหมายมีการเปิดช่องไว้ไม่ต้องตั้งนอมินีอีกต่อไป เท่ากับว่าในอนาคตจะมีรัฐวิสาหกิจภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ขนส่ง สถาบันการเงิน จะถูกการเมืองส่งคนที่มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจนั้น เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจนั้นไปไว้ในบริษัทเอกชนเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับ กสทฯ และทีโอที

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่ ครม.เห็นชอบยังกำหนดให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอาจใช้ดุลพินิจในการรับผู้มีลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องโทษจำคุกตามมาตรา 9 (5) เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจได้

โดย มาตรา 9 (5) แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ระบุว่า ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษ หรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เป็นต้น

การเปิดช่องเช่นนี้ เท่ากับแก้กฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลให้คนมีตำหนิเข้าไปเป็นกรรมการได้ ทำให้มาตรฐานของกรรมการรัฐวิสาหกิจตกต่ำ เมื่อเทียบกับกรรมการภาคเอกชนที่เดิมห่างอยู่แล้วให้ห่างยิ่งขึ้นไปอีก

กระทรวงการคลังให้เหตุผลการผ่อนปรนตรงนี้ เพื่อให้โอกาสกับผู้ที่เคยทำผิดได้กลับตัวกลับใจ ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับรัฐวิสาหกิจจริงหรือไม่

การแก้กฎหมายเปิดช่องให้คนมีตำหนิเข้าเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ ถูกมองว่าเป็นใบสั่งจากการเมืองมากกว่า เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าฝ่ายการเมืองตอบแทนคนที่ต่อสู้ทางการเมืองให้กับพรรครัฐบาล เพราะมีการส่งคนเสื้อแดงที่เป็นแกนนำทั่วประเทศเข้าไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นไม่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นเลย

แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีความคืบหน้าผู้สนับสนุนทางการเมืองส่วนใหญ่ติดคดีอาญาจำนวนมากและมีการตัดสินไปแล้วจำนวนไม่น้อย ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อถึงที่สุด คนเหล่านั้นก็จะขาดคุณสมบัติทันที

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดช่องให้คนมีตำหนิเป็นกรรมการได้ ก็เท่ากับเปิดทางสะดวกให้กับผู้สนับสนุนการเมืองและมีคดีติดตัวเป็นหางว่าว

ร่างกฎหมายใหม่ยังกำหนดยกเว้นการดำเนินกระบวนการสรรหาผู้บริหาร และแต่งตั้งกรรมการที่มาจากบุคคลในบัญชีรายชื่อ สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีเหตุผลจำเป็นพิเศษที่ รมว.คลัง ประกาศกำหนด โดยให้การได้มาและการจ้างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.คลัง ประกาศกำหนด

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดช่องกว้างอีกช่องหนึ่งให้ฝ่ายการเมืองเพิ่มโควต้าส่งคนของตัวเองเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจมากขึ้น เพราะปัจจุบันพบว่ามีรัฐวิสาหกิจไปตั้งบริษัทลูกจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ บริษัทลูกเหล่านี้เป็นเป้าที่จะได้รับการยกเว้นว่าไม่ต้องตั้งกรรมการที่มาจากบัญชีอีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคตจะเห็นบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อเพิ่มโควต้าให้ฝ่ายการเมืองตั้งคนของตัวเองเข้าไปหาผลประโยชน์มากขึ้นนั่นเอง

โดยภาพรวมของร่างกฎหมายที่แก้ใหม่ เป็นประโยชน์กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนการเมือง ส่วนตัวรัฐวิสาหกิจกลับไม่ได้ประโยชน์ มีแต่จะถอยหลังเข้าคลองอีกด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่ทำให้มาตรฐานของกรรมการรัฐวิสาหกิจตกต่ำ ยิ่งเมื่อเทียบกับกรรมการบริษัทเอกชนไม่สามารถจะเทียบได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การแก้กฎหมายยังทำให้ธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจลงเหว เพราะการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนเข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจ โดยคนที่มีตำหนิ เข้ามาคุมองค์กรไม่มีประเทศไหนทำกัน นอกจากรัฐวิสาหกิจไทยเท่านั้น