posttoday

เอเชียเสี่ยงหนี้ท่วมหัวแบงกืต่างชาติบุกตลาดสินเชื่อ

24 เมษายน 2556

ถือเป็นจุดหมายปลายทางความหวังท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ถือเป็นจุดหมายปลายทางความหวังท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา ในการขยับขยายกิจการของธุรกิจภาคธนาคารทั่วโลกสำหรับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

เหตุผลหลักสำคัญ เพราะภูมิภาคดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจไปในทิศทางบวก พร้อมด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างปริมาณประชากรชนชั้นกลางของแต่ละประเทศที่เริ่มมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ธุรกิจธนาคารรายใหญ่ข้ามชาติ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ต่างเร่งตบเท้าเข้ามาทำแต้มปล่อยสินเชื่อกันอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

กระทั่งเวิลด์แบงก์จึงต้องออกโรงเตือนผ่านรายงานประจำปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บางประเทศในเอเชียแปซิฟิกและอาเซียนจำต้องจับตาเฝ้าระวังหนี้ภาคครัวเรือนไว้ให้ดี เพราะส่งผลต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือตัวเลขการเติบโตของภูมิภาคแห่งนี้ในอนาคต

ทั้งนี้ ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์การวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาด เปิดเผยว่า ปริมาณสินเชื่อผู้บริโภคประเภทที่ไม่ต้องทำนิติกรรมจำนองในเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่น เพิ่มสูงถึง 67% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ 1.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2555 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันสินเชื่อผู้บริโภคในสหรัฐกลับเพิ่มเพียงแค่ 10% เท่านั้น

ด้านหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ธนาคารต่างชาติทั้งหลายต่างนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีทางเลือกหลากหลาย เช่น บริการบัตรเครดิต สินเชื่อผ่อนชำระระยะสั้นสำหรับรถยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้า แถมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่มีตั้งแต่ 15% สำหรับสินเชื่อรถยนต์ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไปจนถึงระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 40% สำหรับเงินกู้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยมีระยะเวลาจ่ายหนี้คืน 6 เดือนไปจนถึง 5 ปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินต่างเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ข้างต้นทำให้บรรดาธนาคารซึ่งมีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมตั้งเป้ามุ่งตรงมายังกลุ่มชนชั้นกลางในเอเชีย ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี

ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ ถือเป็นธนาคารจากชาติตะวันตกรายแรกที่เริ่มให้บริการบัตรเครดิตในจีนเมื่อปีที่แล้ว โดยโฆษกของธนาคารยอมรับว่า ตลาดบัตรเครดิตในแดนมังกรของซิตี้กรุ๊ปเติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดในโลก ขณะที่ เครดิต อะกริโกล เอสเอ ธนาคารจากฝรั่งเศสมีแผนขยายตลาดสินเชื่อเพื่อรถยนต์ในจีนให้ได้อีกราว 5.4 หมื่นราย ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง กวางโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป ด้าน พีพีเอฟ กรุ๊ป เอ็นวี โฮม เครดิต เครือธนาคารจากอัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า ในแต่ละวันธนาคารอนุมัติสินเชื่อเพื่อโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไฟฟ้า และจักรยานยนต์ให้แก่ชาวจีนวันละประมาณ 5,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2554

นอกจากจีนแล้ว ตลาดสินเชื่อในอินโดนีเซียก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยสินเชื่อผู้บริโภคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจำนองพุ่งขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และกิจการของธนาคารในประเทศอย่าง แอสตรา อินเตอร์เนชั่นแนล และพีที แบงก์ ดานามอนส์ อาดิรา ไฟแนนซ์ ก็ขยายตัวเติบโตได้ดี แม้จะมีกฎเกณฑ์การปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากขึ้นก็ตาม ขณะที่ ธนาคารในเครือมิซูโฮะ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ของญี่ปุ่นได้ซื้อกิจการบริษัทสินเชื่อรถยนต์ของอินโดนีเซียเพื่อวางรากฐานทางธุรกิจในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคที่ได้ชื่อว่าเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค

หรือแม้แต่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีประวัติบุคคลผิดนัดชำระหนี้สูงมากในช่วงวิกฤตการเงิน ปริมาณการสมัครรับบัตรเครดิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 7% หรือ 18.9 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากธนาคารตะวันตกอย่างซิตี้กรุ๊ปและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

เรียกได้ว่าการถาโถมเข้ามาของธนาคารชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 25502555 ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อของเอเชียขยายตัวอย่างมาก โดย ยูโร มอนิเตอร์ระบุว่า ตลาดสินเชื่อเพื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ของเอเชียเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว มาอยู่ที่ 2.197 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินกู้เพื่ออุปกรณ์เครื่องใช้และไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเช่นกัน โดยอยู่สูงถึง 1.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และสินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตทำสถิติถึง 90% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.341 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเช่นกันที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญและสถาบันองค์กรระหว่างประเทศจะส่งเสียงเตือนดังๆ ให้รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียเฝ้าระวังปริมาณหนี้ของประชาชนให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่บั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียได้โดยง่าย

ยืนยันได้จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุชัดเจนว่า สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐ คือการขยายตัวของหนี้ในภาคเอกชนและหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งยอดรวมของหนี้ภาครัฐ หนี้ในภาคเอกชนที่ไม่นับในภาคการเงิน และหนี้ครัวเรือนทั้งในมาเลเซีย ประเทศไทย และจีนนั้น พุ่งขึ้นไปเกินกว่า 150% ของจีดีพี

ขณะเดียวกัน เอเชียก็สมควรระวังความเสี่ยงจากปัญหาระดับหนี้ รวมถึงระดับเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยรวมถึงการหามาตรการมาควบคุมดูแลและป้องกันอย่างเข้มงวด

ด้านผลการสำรวจของธนาคารเอชเอสบีซียังแสดงให้เห็นอีกว่า แม้ระดับหนี้โดยรวมของเอเชียจะต่ำกว่าประเทศในซีกโลกตะวันตก แต่ภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับรายได้ต่อบุคคลในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย และไทย กลับมีระดับสูงกว่าถึง 30% เมื่อเทียบกับสหรัฐ

ทั้งนี้ เฟเดอริก นิวแมน หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซี กล่าวว่า ประเด็นที่น่าวิตกก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน ซึ่งในหลายๆ ครั้งความสามารถดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ดังนั้น หากไม่เอาใจใส่ต่อปัจจัยเสี่ยงอย่างจริงจัง รวมถึงการกำหนดใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด หนี้ส่วนบุคคลของประชาชนก็อาจสร้างปัญหาเลวร้ายได้มากพอๆ กับหนี้ภาครัฐที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้