posttoday

เพื่อไทยงัดข้อศาลรธน. สั่นคลอนถึงนายกฯ

22 เมษายน 2556

ส่งสัญญาณท้าทายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องของ “สมชาย แสวงการ” สว. สรรหา และมติ 5 ต่อ 3 รับคำร้องรองของ “บวร ยสินทร”

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ส่งสัญญาณท้าทายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องของ “สมชาย แสวงการ” สว. สรรหา และมติ 5 ต่อ 3 รับคำร้องรองของ “บวร ยสินทร” และคณะ เพื่อให้พิจารณาความผิดของ 312 สส.สว. แก้ไขรัฐธรรมนูญตัดเนื้อความในมาตรา 68 ลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน

พรรคเพื่อไทยมีมติยืนยันอำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับพิจารณา

“รัฐสภาจึงไม่ต้องดำเนินการตามศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ”

พร้อมกันนี้ 312 สส.สว. ที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนฉบับแก้ไขมาตรา 68 ยังได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กระบวนการในรัฐสภายังได้เร่งรัดสานต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณา 3 ชุด แยกพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 3 ฉบับ

โดยมีกำหนดการเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อในวาระ 2-3 ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ต้นเดือน ส.ค. ในจังหวะที่ประเมินว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

นั่นจะทำให้สถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราต้องสะดุด และทำให้ทุกอย่างกลับไปซ้ำรอยเมื่อครั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกแรก

ครั้งนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ได้ฝ่าแรงเสียดทานทั้งในและนอกสภาจนผ่านขั้นตอนในชั้น กมธ.แล้ว แต่ก็ต้องมาสะดุดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรเปิดให้มีการทำประชามติรับฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งเคยมีความเห็นชอบในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาแล้ว

ที่สำคัญนี่กลายเป็น “เงื่อนไข” ที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต้องค้างเติ่งอยู่ในวาระรัฐสภาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ท่าทีฮึดฮัดของ “เพื่อไทย” ที่ออกมางัดข้อกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับการดำเนินการ ไปจนถึงขั้นเตรียมจะถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรอบนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก

เมื่อที่ผ่านมา คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งมี “โภคิน พลกุล” เป็นประธาน ได้มีมติเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในวาระการประชุม และหลังจากที่ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ ก็จะทำประชามติรับฟังความเห็นของประชาชน

แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงัก เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยไม่อาจเลือกเดินทางเสี่ยงผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

เหตุการณ์ทำนองนี้กำลังกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้ง และต้องติดตามดูท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งประกาศไม่ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะกล้าเดินหน้าดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปจนสุดทางหรือไม่ หากศาลมีมติว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในฉบับแก้ไขมาตรา 68 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

เพราะอย่าลืมว่าเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ระบุว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”

ดังนั้น การประกาศจุดยืนไม่ปฏิบัติตามศาลรัฐธรรมนูญของเพื่อไทย ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำไปขยายผลสู่การถอดถอนหรืออาจลุกลามถึงขั้นยุบพรรค ไล่ตั้งแต่ สมาชิกรัฐสภา 312 คน ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปจนถึง สส. สว. ที่จะลงมติรับหลักการในวาระ 2-3 ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ที่ต้องรับไม้สุดท้ายต่อจากรัฐสภา นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ประกอบ 150, 151

นั่นทำให้นายกรัฐมนตรีไม่อาจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาในเรื่องนี้ได้อีกต่อไป และหากปล่อยให้ไปถึงขั้นตอนนั้นจริงๆ ย่อมทำให้เก้าอี้นายกฯ และเสถียรภาพของรัฐบาลต้องกลับมาสั่นคลอนอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวัดใจเพื่อไทยว่าการออกมา “งัดข้อ” กับศาลรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ จะแข็งขันไปจนถึงปลายทางหรือไม่