posttoday

สั่งรับประกันภัย "นาข้าว" ทำได้แต่ไม่หมู

17 เมษายน 2556

โครงการรับประกันภัยนาข้าวที่เป็นรูปเป็นร่างสมัยรัฐบาลเพื่อไทย โดย “เดอะโต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ทำท่าจะเข้า “ตาอับ”

โดย...จตุพล สันตะกิจ

โครงการรับประกันภัยนาข้าวที่เป็นรูปเป็นร่างสมัยรัฐบาลเพื่อไทย โดย “เดอะโต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ทำท่าจะเข้า “ตาอับ” หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ไม่สามารถรับประกันภัยนาข้าวได้

นั่นทำให้ฝ่ายการเมืองต้องเร่งจัดหากลไกอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่แทนกองทุนฯ

ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2555 “ขุนคลัง” กิตติรัตน์ เป็นหัวเรือใหญ่ผลักดันโครงการประกันภัยนาข้าว ปีการผลิต 2555 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ แต่การเสนอเรื่องเข้า ครม.คราแรกถูก “ตีกลับ”

เพราะการคุ้มครองภัยพิบัตินาข้าว 6 ภัย คือ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย เบี้ยประกัน 210 บาทต่อไร่ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ทำให้รัฐบาลรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยและภาษีมูลค่าเพิ่มแทนชาวนา 165.77 บาทต่อไร่ คิดเป็นเงิน 1,428.93 ล้านบาท

เบี้ยประกันภัยที่ 210 บาทต่อไร่ จึงสูงเกินไป และ ครม.มอบ กิตติรัตน์ ทบทวน มีการเสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติใน 23 สัปดาห์ถัดมา พร้อมลดเบี้ยประกันภัยเหลือ 120 บาทต่อไร่

แต่ก็ติดปัญหาว่า ไม่มีบริษัทประกันวินาศภัยสนใจเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะจะต้องมีจำนวนนาข้าวเข้าร่วมโครงการขั้นต่ำ 4.31 ล้านไร่ และขั้นสูงไม่เกิน 8.62 ล้านไร่ ซึ่งเป็นจำนวนพื้นที่นาข้าวที่สูง แต่จะทำให้ความเสี่ยงการรับประกันภัยนาข้าวอยู่ในระดับที่ “รับได้”

ฝ่ายชาวนาเองก็มีทีท่าไม่สนใจทำประกันภัยนาข้าวนัก เพราะชาวนาต้องควักเนื้อจ่ายเบี้ยประกันเองบางส่วน และยังไม่ชินกับระบบใหม่ แม้เงินคุ้มครองความเสียหายนาข้าวจะมีอัตราสมน้ำสมเนื้อ แต่ไม่ปลุกเร้าให้ชาวนาตื่นตัว

ครม.จึงมีมติให้กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเข้ามารับทำประกันภัยนาข้าว แม้ว่านั่นทำให้กองทุนฯ มีความเสี่ยง

“ผลกำไร ขาดทุนไม่ใช่ประเด็น เพราะเราต้องการเป็นที่พึ่งให้ชาวนา และแม้ว่าโครงการจะมีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เนื่องจากกองทุนมีจุดประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันให้ชาวนา” พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ ระบุ

สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ให้ความเห็นต่อ ครม.ว่า โครงการรับประกันข้าวนาปี 2555 จะทำให้กองทุนฯ มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะโครงการประกันภัยนาข้าวปี 2554 มีบริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ

แต่ปรากฏว่า มีผู้ซื้อประกันภัยจำนวน 8 แสนไร่ มีการเก็บเบี้ยประกันภัยได้ 130 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน 700 ล้านบาท หรือขาดทุนไปกว่า 570 ล้านบาท

ภาพเหล่านี้สะท้อนชัดเจนว่า การเข้าร่วมโครงการไม่แคล้วมีแต่ขาดทุน

และดูเหมือนว่าวันนี้ฝ่ายการเมืองจะทุบโต๊ะสั่งข้าราชการประจำเร่งโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงภายในเดือน พ.ค. 2556 แต่ไม่ใช่งานที่ง่ายแม้แต่น้อย

ด้วยมีเงื่อนไขที่ยากอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ 1.หากจะจูงใจให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมโครงการ เบี้ยประกันภัยคงไม่หยุดที่ 120 บาทต่อไร่ หรือ 210 บาทต่อไร่แน่นอน และเป็นไปได้ว่าเบี้ยประกันอาจสูงถึง 400500 บาทต่อไร่ ส่งผลให้รัฐบาลและชาวนารับภาระเพิ่มขึ้น แต่หากกดเบี้ยประกันให้ต่ำลงมา วงเงินคุ้มครองอาจเหลือประมาณ 200 บาทต่อไร่ ซึ่งไม่จูงใจให้ชาวนาทำประกันภัย

และ 2.ปัจจุบันแทบไม่มีบริษัทประกันวินาศภัยระดับโลกรายใดรับประกันภัยต่อกรณี “นาล่ม” เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งและน้ำท่วม ขณะที่ปลายปี 2554 ที่ผ่านมาไทยเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ บริษัทรับประกันภัยต่อต่างๆ ก็แหยงที่จะเข้ามารับประกันภัยในไทยอยู่แล้ว

หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการ ทางออกสุดท้ายคือ รัฐบาลอาจต้องใช้บริการธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ล่าสุด บุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า จะหารือกับบริษัทประกันภัยพันธมิตร คือ บริษัท สหประกันชีวิต และบริษัท บางกอกสหประกันภัย ให้เข้ามาร่วมโครงการฯ แต่หนทางนี้ก็ช่างมืดมนเหลือเกิน เพราะต่างฝ่ายต่างรู้กันดีว่าการรับประกันภัยนาข้าวมีแต่ขาดทุนและขาดทุน

ส่วนทางเผื่อเลือกที่ ธ.ก.ส.บอกว่าจะนำกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ที่มีเงินอยู่เกือบ 1,000 ล้านบาทเข้ามารับประกันภัยนาข้าวแทน ก็ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายเช่นกัน เพราะไม่มีทางที่ ธ.ก.ส.จะยอมขาดทุนฟรีๆ แน่นอน

ฉะนั้น ทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุดคือ รัฐบาลต้องให้ ธ.ก.ส.แยกบัญชีกำไรขาดทุนจากโครงการออกมา และให้รัฐบาลรับภาระชดเชยความเสียหายในโครงการประกันภัยนาข้าวทั้งหมด กรณีเกิดความเสียหายกับนาข้าว ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ นอกเหนือจากการรับภาระแบกเบี้ยประกันภัยแทนชาวนาปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

ที่สำคัญ หากต้องการให้โครงการมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศอาจต้อง “บังคับ” ให้ชาวนาต้องซื้อประกันภัยนาข้าวพ่วงกับการได้รับอนุมัติการกู้เงิน เช่นเดียวกับการกำหนดเชิงบังคับให้ลูกค้า ธ.ก.ส.ต้องทำประกันชีวิต

และเมื่อนั้นเสียงโวยวายของชาวนาจะตามมาแน่นอน โดยเฉพาะหาก ธ.ก.ส.ยืนยันที่จะเก็บอัตราเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ ทั้งๆ ที่แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน นี่เป็นอีกโจทย์ที่ ธ.ก.ส.ต้องตีให้แตก และรับรองว่าไม่หมูแน่