posttoday

ว่างงานรุ่นใหม่พุ่งเศรษฐกิจโลกสะเทือน

15 เมษายน 2556

ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่น้อย เมื่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่น้อย เมื่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้ออกมาชี้เมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) เช่น สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น คาดว่าในไตรมาสแรกปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น

แนวโน้มดังกล่าวสอดรับกับทิศทางดัชนีภาคการผลิตในหลายประเทศของเอเชียเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงการฟื้นตัวแบบชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เนื่องจากเมื่อลองหันกลับไปดูอัตราการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว และกลุ่มคนว่างงานในระยะยาวในหลายๆประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ต้องบอกเลยว่าหนทางข้างหน้าของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกในอนาคตมีขวากหนาม และความยากลำบากอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตต) ชี้ว่า ปัจจุบันประเทศซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้อย่างหนัก เช่น กรีซ และสเปน มีจำนวนคนหนุ่มสาวในประเทศต้องตกงานมากถึง 50% ของจำนวนประชากรในวัยดังกล่าวทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในอิตาลี ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ก็อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยเช่นกัน โดยอยู่ที่ 30%

ส่วนที่สหรัฐเองก็มีปัญหาไม่น้อย โดยในปี 2011 ตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวได้สูงขึ้นมาอยู่ที่ 17% ขณะที่ปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงยุคฟองสบู่ในบริษัทไอทีกำลังบูมมีตัวเลขต่ำกว่า 10% ขณะที่ในส่วนทางด้านของจำนวนคนว่างงานทั้งหมดในสหรัฐกว่า 40% ก็เป็นกลุ่มคนว่างงานมากกว่า 6 เดือน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่ามากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ขณะที่ภาพรวมทั้งโลกนั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่าในปีที่แล้วคนว่างงานในวัยหนุ่มสาวทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.7% หรือที่ 74.6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ราว 1%

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การว่างงานในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว และการว่างงานระยะยาวดังกล่าวเป็นอันตรายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาวก็คือ การขาดรายได้ และการถูกตัดลดสวัสดิการของคนงานในปัจจุบันจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ไปบั่นทอนกำลังในการซื้อและการขยายตัวของฐานผู้บริโภคในตลาดให้ลดลง ซึ่งนี่ถือเป็นการทำลายกลไกตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโลกที่สำคัญอย่างมาก เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาการบริโภคของคนในตลาดจำนวนมาก เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคการผลิต การบริการให้เดินไปข้างหน้า

ทั้งนี้ เหตุผลของการตัดลดการจ้างงาน และลดสวัสดิการคนงานก็มีต้นสายปลายเหตุมาจากการที่หลายประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ หันมาดำเนินแนวนโยบายมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันนั่นเอง

รายงานของธนาคารเครดิตสวิสเผยว่า แม้จำนวนตัวเลขของกลุ่มคนในวัยทำงาน (อายุตั้งแต่ 1565 ปี) หรือที่เรียกว่าการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ของโลกจะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นในอนาคต (ซึ่งเชื่อกันว่าหากยิ่งมากขึ้นก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น) แต่ทว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้รับประโยชน์จากภาวะดังกล่าวเลย เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 1524 ปีจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าสู่ระบบแรงงานได้ และไม่มีรายได้ และกลายเป็นคนว่างงานอยู่เฉยๆ

นอกจากนี้ การว่างงานและการขาดสวัสดิการต่างๆ ก็กำลังส่งผลสะเทือนไปยังเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากการที่ไม่สามารถไขว่คว้าหาอนาคตที่ดีได้นั้นถือเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่จะนำไปสู่ความไม่สงบและการลุกฮือขึ้นมาก่อความวุ่นวายในสังคมขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มต้องการใฝ่หาเสรีภาพ และมักแสดงออกถึงความต้องการอย่างเปิดเผยมากขึ้น

กรณีความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดจากการว่างงานของคนรุ่นใหม่นั้นได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้วในเหตุการณ์การลุกฮือประท้วงและล้มล้างการปกครองของรัฐบาลเผด็จการในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งในช่วงก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้ละเลยต่อปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกถึง 2 เท่า ขณะที่ปัจจุบันอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 18% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 12.7%

ดังนั้น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจึงเดินเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการลุกฮือขึ้นประท้วงของประชาชนเหมือนอย่างที่อาหรับเผชิญมาแล้วในต้นปี 2011

แม้ว่าภาวะดังกล่าวอาจจะยังดูเหมือนไกลตัว และอาจมองว่าเป็นการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ ทว่าเมื่อลองสังเกตถึงกลิ่นอายคุกรุ่นของความไม่พอใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุโรปต่อแผนรัดเข็มขัดที่ส่งผลต่ออนาคตแล้วก็จะเห็นว่าภาวะดังกล่าวไม่อาจมองข้ามได้เลย

เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ได้ทำให้หันไปหาแนวทางการเมืองแบบกระแสรองที่จะนำไปสู่การล้มล้างแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจเดิมแล้ว ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งในอิตาลีเมื่อเดือนที่แล้ว ที่ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาด ขณะที่พรรคต่อต้านแผนรัดเข็มขัดได้คะแนนมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งภาวะดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะนำพาดินแดนมะกะโรนีไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และอาจจะส่งผลสะเทือนไปยังความเชื่อมั่นทางฟากเศรษฐกิจอีกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อกลางปีที่แล้ว ผลการเลือกตั้งในกรีซ ที่พรรคฝ่ายซ้ายก็ทำให้ทั่วโลกต้องใจหายใจคว่ำอยู่หลายครั้ง เพราะไม่มีพรรคไหนได้รับคะแนนเสียงเด็ดขาดเช่นกัน จนทำให้ต้องไปตัดสินในการเลือกตั้งรอบสอง ท่ามกลางความกังวลของทั่วโลกว่าพรรคฝ่ายซ้ายที่ขายนโยบายฉีกแผนรัดเข็มขัดจะได้รับชัยชนะ ซึ่งนั่นหมายถึงการที่กรีซอาจจะต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน

“อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในกลุ่มยูโรโซนสูงเป็นสองเท่าตัวของอัตราการว่างงานทั้งหมดในภูมิภาค ขณะเดียวกันการไม่มีงานทำก็ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย ดังจะเห็นได้จากอัตราความยากจน และการถูกกีดกันทางสังคมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา” ยูโรสแตต ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาถกเถียง รวมไปถึงการหาวิธีการแก้ปัญหา ในเวทีที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียูซัมมิต) ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทว่าแนวทางความช่วยเหลือ อาทิ มาตรการช่วยเหลือคนว่างงานวัยหนุ่มสาวในประเทศที่ประสบปัญหาอย่างหนักในตลอด 7 ปีที่มีการจัดตั้งงบช่วยเหลือไว้ที่ 6,000 ล้านยูโร ยังคงเป็นที่กังขาของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่จับตาดูสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก

เพราะจำนวนดังกล่าวเมื่อหารค่าเฉลี่ยออกมาแล้ว คนตกงานวัยหนุ่มสาวในยุโรปจะได้รับเงินเพียงแค่ 1,000 ยูโร ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เงินยังชีพให้อยู่ต่อไปได้อีกไม่กี่วันเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาวเลย

ฉะนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงนับเป็นสิ่งที่น่าจับตาดูไม่น้อยว่า ในอนาคตเหล่าบรรดาผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจะเข็นมาตรการอะไรออกมาเพื่อแก้ไขและรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว เพราะมิเช่นนั้นแล้วการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกอาจไม่เป็นไปตามที่วาดหวังเอาไว้