posttoday

จ้างงานมะกันเข็นไม่ขึ้นนโยบายเฟดไร้ผลกู้วิกฤต

11 เมษายน 2556

หลังจากที่งัดสารพัดมาตรการเพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐก็ยังคงแก้ปัญหา “การว่างงาน” ในประเทศไม่ตกเสียที

โดย...ณัฐสุดา จิตตปาลพงศ์

หลังจากที่งัดสารพัดมาตรการเพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐก็ยังคงแก้ปัญหา “การว่างงาน” ในประเทศไม่ตกเสียที

เห็นได้จากตัวเลขอัตราว่างงาน ซึ่งเมื่อเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 7.6% โดยแม้จะปรับตัวลดลงจากระดับ 7.7% ในเดือนก่อน ทว่าก็ไม่ได้สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่เป็นจริงเลย

เพราะแม้จำนวนชาวอเมริกันที่เข้ารับสวัสดิการคนว่างงานจะลดลง ทว่าการจ้างงานนั้นขยับเพิ่มขึ้นเพียง 8.8 หมื่นตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้กว่าครึ่ง และต่ำกว่าตัวเลขเดือน ก.พ. ที่มีการจ้างงานมากถึง 2.36 แสนตำแหน่ง

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ สาเหตุที่อัตราว่างงานลดลงนั้นไม่ได้เกิดจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นผลพวงจากการที่ชาวอเมริกัน “ถอดใจ” เลิกหางานนั่นเอง

“อัตราว่างงานลดลงด้วยเหตุผลที่ผิดๆ การที่คนเลิกหางานนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความหวังว่าจะได้งานทำที่ลดน้อยลง” เคร็ก อเล็กซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโตรอนโตโดโนมินิกัน (ทีดีแบงก์) เผย

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเมืองลุงแซมยังพบว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ของสหรัฐ ซึ่งหมายถึงชาวอเมริกันในวัยทำงานทั้งที่มีงานทำและกำลังหางานทำในตลาดแรงงานนั้น ลดสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี โดยในเดือน มี.ค. เพียงเดือนเดียวดิ่งลงถึง 4.96 แสนคน และหากรวมตัวเลขตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น พบว่าลดลงไปแล้วถึง 6.26 แสนคน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิเคราะห์หลายคนจะออกโรงเตือนว่า สหรัฐกำลังเผชิญ “วิกฤตในตลาดแรงงาน” อย่างแท้จริง และหากไม่มีการเร่งแก้ไขปัญหา ก็อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบยาว

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาอัตราว่างงานสหรัฐนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2550 โดยนับตั้งแต่ปี 2550 ถึงต้นปี 2553 ชาวอเมริกันสูญเสียงานไปทั้งหมด 8.7 ล้านตำแหน่ง ขณะที่การสร้างงานนับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีเพียง 5.8 ล้านตำแหน่งเท่านั้น

“สถานการณ์เข้าขั้นหายนะแล้ว แต่รัฐบาลสหรัฐก็ยังคงนิ่งเฉย” ไฮดี มัวร์ นักข่าวเดอะการ์เดียน สื่อชื่อดังเมืองผู้ดี เผย

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์รายอื่นๆ ที่มองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐผลักภาระความรับผิดชอบไปที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพียงฝ่ายเดียว โดยแทบจะไม่มีการผลักดันมาตรการสร้างงานใดๆ เลย ซึ่งในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดนั้นก็ดูจะไร้ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูตลาดแรงงานโดยสิ้นเชิง

เจฟฟรี แลกเกอร์ ประธานเฟดสาขาเมืองริชมอนด์ ในรัฐเวอร์จิเนีย และชาร์ลส์ พลอสเซอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ได้เคยออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบที่ 3 ของเฟดจะไร้ผลในการกระตุ้นการจ้างงาน

“ผมเชื่อว่า คิวอี 3 จะส่งผลต่อตลาดแรงงานน้อยมาก แต่จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเป็นส่วนใหญ่” แลกเกอร์ เตือนเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในการดำเนินมาตรการคิวอีนั้น เฟดจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันอยู่ (เอ็มบีเอส) มูลค่า 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) ต่อเดือน เพื่อหวังกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ

และที่สำคัญก็คือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 0-0.25% เนื่องจากเชื่อว่าจะกระตุ้นให้ประชาชนกู้เงินและใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐกลับไม่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในประเทศจ้างงานเพิ่ม ซึ่งซีเอ็นบีซีชี้ว่า เป็นเพราะ 1.ภาคเอกชนยังคงไม่เชื่อมั่นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤตหนี้ยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และประเด็นเรื่องการตัดลดงบประมาณอัตโนมัติ (ซีเควสเตอร์) ของรัฐบาลสหรัฐ ผู้ประกอบการจึงเลือกชะลอการลงทุนออกไปก่อน และ 2.บริษัทส่วนใหญ่ไม่รู้สึกกดดันที่จะต้องจ้างพนักงานเพิ่ม และแก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานทำงานหนักขึ้นแทน โดยข้อมูลจากทางการสหรัฐพบว่า ตัวเลขวัดผลิตภาพการทำงานของพนักงานเมืองลุงแซมขยายตัว 1.9% ในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.ก.ย. ปีที่แล้ว จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

“สถานการณ์ในเมืองลุงแซมเลวร้ายมาก เพราะผู้ประกอบการแทบจะไม่มีการจ้างงาน ทั้งในส่วนของงานประจำและงานพาร์ตไทม์” โจเซฟ บรูซาเวลาส นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก เผย

สอดคล้องกับความเห็นของ นาตาชา แปบเลอร์ หญิงอเมริกันรายหนึ่งซึ่งตัดสินใจเลิกหางานและหันพึ่งเงินช่วยเหลือคนว่างงานแทน ภายหลังไม่มีบริษัทใดติดต่อกลับมาเลย

ขณะที่ เอพี ระบุว่า ในส่วนของชาวอเมริกันที่เลิกหางานนั้น หากเป็นหนุ่มสาวอายุน้อยมักเลือกเรียนต่อ ส่วนชาวอเมริกันวัยกลางคนส่วนใหญ่เลือกเกษียณอายุก่อนกำหนด ขณะที่ประชาชนในกลุ่มอายุอื่นๆ มักเลิกหางานชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

สถานการณ์แรงงานที่เข้าขั้นวิกฤตนี้จึงส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายคนออกมากดดันรัฐบาลสหรัฐให้เร่งผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นการจ้างงานมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ “ถูกจุด” มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเฟดเพียงฝ่ายเดียว

“สภาคองเกรส โดยเฉพาะพรรครีพับลิกัน ขวางร่างกฎหมายสร้างงานหลายฉบับ ไล่เรียงตั้งแต่ ‘อเมริกัน จ๊อบ แอค’ ซึ่งสามารถช่วยสร้างงานให้กับทหารนับล้านคน ‘สมอล บิซิเนส แอค’ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ธนาคารท้องถิ่นปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีมากขึ้น รวมทั้ง ‘บริง จ๊อบส์ โฮม แอค’ ซึ่งจะลดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสหรัฐปักหลักลงทุนในประเทศมากขึ้น” เดอะการ์เดียน ระบุ

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หากสภายังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องซีเควสเตอร์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าจะทำให้จีดีพีสหรัฐหดตัวถึง 0.5% ก็จะยิ่งทำให้ชาวอเมริกันตกงานมากขึ้นกว่าเดิม

“ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงในอนาคต” เอียน เชฟเฟอร์ดสัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาเศรษฐกิจแพนเทออน ในสหรัฐ เผย พร้อมย้ำว่า ปัญหาที่แท้จริงคือความต้องการพนักงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในบรรดาธุรกิจรายย่อย ซึ่งนับเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐ

เพราะฉะนั้น ตราบใดที่รัฐบาลเมืองลุงแซม ภายใต้การนำของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยังคงแก้ปัญหาการว่างงานไม่ถูกจุด เศรษฐกิจของประเทศก็คงต้องซบอีกยาว พร้อมลากเศรษฐกิจโลกดำดิ่งลงไปด้วย