posttoday

ปิดทางถลุงเงินสปส.ข้อเสนอที่ยากสนอง

09 เมษายน 2556

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันทีเมื่อที่ประชุมรัฐสภาตีตกร่างกฎหมายประกันสังคมที่นำเสนอโดยภาคประชาชน

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันทีเมื่อที่ประชุมรัฐสภาตีตกร่างกฎหมายประกันสังคมที่นำเสนอโดยภาคประชาชน นำโดย วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน

ประเด็นสำคัญที่ร่างกฎหมายประกันสังคมภาคประชาชนที่มีความแตกต่างจากร่างกฎหมายที่จัดทำโดยรัฐบาล ทำให้รัฐบาลยอมรับไม่ได้ คือข้อเสนอการรื้อโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ ปราศจากการเมืองแทรกแซง

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เลขาธิการประกันสังคมต้องเป็นมืออาชีพ คณะกรรมการจะต้องมาจากการเลือกตั้งตรงจากตัวแทนผู้ประกันตน

ที่สำคัญต้องสร้างกลไกการควบคุมค่าใช้จ่าย ป้องกันการล้วงเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้จ่าย และต้องสร้างกลไกการตรวจสอบการบริหารเงินกองทุนด้วย

เรียกว่าเป็นการสกัดกั้นการเมืองล้วงเข้าไปในกองทุนที่เป็นเงินสะสมของสมาชิกร่วม 10 ล้านคน

นี่คือจุดแตกต่างที่ทำให้ฝ่ายการเมืองยอมรับร่างของประชาชนไม่ได้

ต้องยอมรับกันว่า ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงิน 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นขุมทรัพย์มหาศาลของรัฐบาลที่มักจะใช้เป็นเครื่องมือจะสนองนโยบายประชานิยม หาเสียงว่าเป็นผลงานของรัฐบาล

โดยที่ผู้ประกันตนก็เคลิ้มและหลงลืมไปว่าเป็นเงินของตัวเองที่ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายในยามชราภาพ

ดังนั้น การที่จะถ่ายโอนขุมทรัพย์ที่มีเงินร่วม 1 ล้านล้านบาท ออกไปจากอ้อมกอดของรัฐเพื่อยกฐานะของ สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระนั้นคงยาก

ช่วงที่ผ่านมา “วิไลวรรณ” พยายามออกมาเรียกร้องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนที่ต้องการให้มีโครงสร้าง สปส.ให้เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารงานที่มีความเป็นอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่เป็นส่วนงานของราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และอยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะกรรมฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงมาตลอด

วิไลวรรณ ชี้ให้เห็นว่า การที่ สปส.อยู่ภายใต้เงาการเมือง และเป็นแดนสนธยาที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริหารเงิน

เนื่องจากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่า สปส.ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์กว่า 2,300 ล้านบาท การดูงานต่างประเทศปีละกว่า 30 ล้านบาท งบประชาสัมพันธ์กว่า 170 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการใช้เงินมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2553-2555 จำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย

จึงกลายเป็นคำถามตัวโตว่า ทำไม สปส.จึงไม่มีการติดตามทวงหนี้ ซึ่งหากเป็นผู้ประกันตนหรือนายจ้างค้างชำระการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จะต้องถูกเบี้ยปรับและถูกดำเนินคดี

“การที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระเพราะต้องการเข้ามาแทรกแซงเงินกองทุนประกันสังคม 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้เงินของประกันสังคมได้เลย ทั้งที่ผู้ประกันตนก็เป็นเจ้าของเงิน คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ก็ไม่กล้าที่จะขัดใจนักการเมือง และเป็นกรรมการตามตำแหน่งเท่านั้น” วิไลวรรณ ชี้ปม

ขณะที่ วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า สปส.มีปัญหาใหญ่ต้องเร่งแก้ไข คือ โครงสร้างองค์กรที่เป็นระบบราชการ ไม่มีความเป็นอิสระ ขาดความคล่องตัว และคณะกรรมการ สปส. เมื่อบริหารงานผิดพลาดก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การดูงานต่างประเทศไม่รู้ว่าได้เอามาใช้พัฒนาระบบประกันสังคมหรือไม่ การซื้อตึก อาคารต่างๆ เพื่อจัดเก็บเอกสารมีความโปร่งใสหรือไม่ จึงควรปรับปรุง สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ บริหารงานคล่องตัว โดยเฉพาะด้านการลงทุนเพื่อความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว

ทุบโต๊ะลงไปได้เลยว่า ไม่ว่าผู้ใช้แรงงานจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่เน้นปรับ สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระไปกี่ครั้ง ตกสภา เพราะรัฐบาลไม่เอาด้วยแน่นอน

อีกประเด็นที่ถูกการละเลยการแก้ไขร่างกฎหมาย สปส.ฉบับนี้ คือ การกำหนดเพดานการล้วงเงินประกันสังคมไปใช้จ่ายได้ไม่เกิน 10% ของเงินสมทบแต่ละปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยปรับลดให้เหลือ 5% และควรจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมาจากผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีความรู้และเป็นอิสระ

ข้อทักท้วงดังกล่าวนั้นได้รับการยืนยันจาก นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ กรรมการการแพทย์ คณะกรรมการประกันสังคม และอดีตบอร์ด สปส. ว่า การกำหนดให้สามารถใช้เงินกองทุนประกันสังคมเพื่อการบริหาร 10% ของเงินกองทุน เป็นอัตราสูงมาก และเป็นช่องโหว่ให้มีการใช้เงินที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่กองทุนประกันสังคมในต่างประเทศใช้เงินบริหารไม่เกิน 3% ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้เงินบริหารแค่ 1%

แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ยังออกโรงที่จะสนับสนุนให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระ และท้วงติงว่าการที่รัฐสภาพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดย คณิต ณ นคร ประธานกรรมการ คปก. ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม สภาผู้แทนราษฎร

แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายการเมืองจะยังเพิกเฉย

เพราะขุมทรัพย์ประกันสังคม 1 ล้านล้านบาท ในขณะนี้จึงกลายเป็นคลังสมบัติที่นักการเมืองจ้องตาเป็นมันไม่ยอมปล่อยมือออกไปง่ายๆ แน่นอน

จึงขึ้นอยู่ที่ผู้ประกันเจ้าของเงิน 10 ล้านคน กล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นเจ้าของ และทำให้ สปส.หลุดพ้นภายใต้เงาดำของนักการเมืองหรือไม่เท่านั้น

พลังของประชาชนจึงสามารถสู้พลังของฝ่ายการเมืองได้

มิเช่นนั้นเลิกคิดกันได้