posttoday

จับตา "ไพรเวท อิควิตี้" บุกอาเซียนส่ออันตราย

08 เมษายน 2556

หลังมีการคาดการณ์ว่ากองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ภายในปีนี้ จนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา


หลังมีการคาดการณ์ว่ากองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ภายในปีนี้ จนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน โดยเฉพาะภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อดรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ไม่ได้ เพราะถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของกองทุนดังกล่าว

นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าห่วงไม่ได้มีเพียงแค่เฮดจ์ฟันด์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะกองทุนขนาดใหญ่อย่าง “ไพรเวท อิควิตี้” (Private Equity) ก็กำลังมาแรงและพุ่งเป้ามายังเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ด้วยเช่นกัน

ต้องเข้าใจก่อนว่า การลงทุนใน “ไพรเวท อิควิตี้” ต่างจากการลงทุนในตลาดตราสารอนุพันธ์ หรือตลาดหุ้น ตรงที่เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (บริษัทนอกตลาด) โดยเงินลงทุนจะมาจากการระดมทุนจากบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชำนาญในการวิเคราะห์ เนื่องจากนักลงทุนอาจได้ข้อมูลบริษัทแบบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะบริษัทไม่ได้จดทะเบียนในตลาดจึงไม่จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลตามกฎที่กำหนดไว้ เช่น ตัวเลขงบการเงินประจำไตรมาส ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนต้องติดตามและพยายามประเมินบริษัทที่ต้องการลงทุนด้วยทักษะและความรู้ความสามารถของตน

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินหรือบุคคลนั้นๆ ยังต้องมีเงินค่อนข้างมาก เข้าขั้นเศรษฐี หรือจัดอยู่ในพวกที่มีความมั่งคั่งมั่นคงทางการเงินสูง (High Net Worth Individuals) เนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาในการลงทุนหลายปีกว่าจะได้รับผลตอบแทนแบบเป็นกอบเป็นกำ

ไพรเวท อิควิตี้ ได้รับความนิยมไม่แพ้เฮดจ์ฟันด์ เพราะแม้จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และใช้เวลานาน ราว 37 ปีกว่าจะได้ผลคืน แต่ก็เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมาก แถมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการลงทุนในไพรเวท อิควิตี้ ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าการลงทุนอื่น โดยในช่วงวิกฤตการเงิน ตั้งแต่ปี 2552-2555 ที่เศรษฐกิจตกต่ำ โกลดิง แคปปิตอล พาร์ตเนอร์ บริษัทวิจัยตลาดคำนวณว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในไพรเวท อิควิตี้ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 18%

ขณะที่ นิโคลัส บลอย นักวิเคราะห์และผู้จัดการการลงทุนของ นาวิส แคปปิตอล พาร์ตเนอร์ คาดการณ์ว่า ผลตอบแทนของการลงทุนในไพรเวท อิควิตี้ น่าจะเพิ่มขึ้นนับต่อจากนี้ โดยเฉพาะภายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งน่าจะมีผลตอบแทนอยู่ระหว่าง 15-25% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ความเห็นข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากรายงานของ เบนแอนด์โค บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและการลงทุน ที่ระบุชี้ชัดว่า การซื้อขายหุ้นของบริษัทเอกชนนอกตลาดในไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในปี 2556 นี้ โดยมีเหตุผลสำคัญจากการที่ประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มความต้องการบริโภคที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

เซบาสเตียน ลามีย์ นักวิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้น อธิบายว่า ชนชั้นกลางที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ของทั้งสามประเทศข้างต้นจะเป็นตัวผลักดันให้สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าแฟชั่น อุตสาหกรรม หรือธุรกิจบริการอย่างภาคสาธารณสุข และภาคธนาคาร มีความต้องการมากขึ้น และเพิ่มมากกว่าตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่ตลาดอุปโภคค่อนข้างอิ่มตัว เนื่องจากชนชั้นแรงงานเริ่มอิ่มตัว

ทั้งนี้ นักลงทุนในไพรเวท อิควิตี้ ต่างส่งสัญญาณเชื่อมั่นว่าความต้องการบริโภคสินค้าของประชาชนในไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่กำลังโตมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวชักนำให้มีเงินทุนไหลเข้าในปริมาณที่มากพอจะช่วยฟื้นให้การทำธุรกิจการค้าในอาเซียนคึกคักมากยิ่งขึ้น หลังจากที่สัญญาซื้อขายในไพรเวท อิควิตี้ ในภูมิภาคร่วงหล่นลงไปมากกว่า 50% หรืออยู่ที่ 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2550 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 1.27 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.81 แสนล้านบาท)

ด้าน กาเร็ธ ลีทเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ประจำกรุงลอนดอน ยอมรับว่า ชนชั้นกลางของหลายประเทศในอาเซียนที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และมีกำลังซื้อสูงขึ้น จะถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิดสำหรับเศรษฐกิจของอาเซียนนับต่อจากนี้ไป เพราะเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การที่เศรษฐกิจประเทศมัวแต่พึ่งพาภาคการส่งออกเพื่อเติบโตนั้น ไม่ได้เป็นผลดีและเป็นหนทางที่มีเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจประเทศเลยแม้แต่น้อย

ข้อมูลจากการสำรวจนักวิเคราะห์เมื่อปี 2554 โดยบริษัท แอ็กเซนเจอร์ (เอซีเอ็น) พบว่า ภายในปี 2563 การใช้จ่ายของผู้บริโภคในอาเซียน ซึ่งรวมถึงกัมพูชา และเมียนมาร์ เฉพาะในส่วนของสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่ม จะเพิ่มสูงถึง 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 10.5 ล้านล้านบาท) จากที่เคยมีการใช้จ่ายต่ำกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6 ล้านล้านบาท) ในปี 2543

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งได้ประมาณการอีกว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคในอาเซียนจะยังคงจับจ่ายใช้สอยไปกับสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด และจะซื้อเพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคลมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายรองลงมาก็คือ ผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย อย่างที่ดินและบ้าน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้รถยนต์ หรือการเดินทางคมนาคมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

เมื่อแนวโน้มข้างต้นทำให้บริษัทเอกชนอาเซียนมีพื้นที่ว่างในการเติบโต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่จะได้เห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทกองทุนไพรเวท อิควิตี้ หลายแห่งประกาศเปิดสำนักงานภายในภูมิภาคแห่งนี้มากขึ้น เช่น นาวิส แคปปิตอล พาร์ตเนอร์ จากสหรัฐ ประกาศเปิดสำนักงานเวียดนามและอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ขณะที่ เคเคอาร์ แอนด์ โค (เคเคอาร์) กองทุนไพรเวท อิควิตี้ ชั้นแนวหน้า เพิ่งจะเปิดสำนักงานแห่งที่ 7 ในเอเชียแปซิฟิก ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากสถานการณ์ในปัจจุบันเริ่มกดดันให้ไพรเวท อิควิตี้ ต้องเร่งตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

หลักฐานยืนยันก็คือ ขนาดของกองทุนที่นักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุนมีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดอย่างน้อยในรอบ 10 ปี โดยปริมาณเงินทุนในกองทุนไพรเวท อิควิตี้ ที่ยังไม่มีการนำไปลงทุนในบริษัทนอกตลาด เฉพาะที่มีเป้าหมายอยู่ในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.31 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.93 ล้านล้านบาท) หรือพุ่งขึ้นเกือบ 8 เท่าเมื่อเทียบกับปริมาณเงินในกองทุนไพรเวท อิควิตี้ เมื่อปี 2546

นักวิเคราะห์ระบุตรงกันว่า หากยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อการลงทุน กองทุนไพรเวท อิควิตี้ อาจต้องปิดตัวลงได้ เนื่องจากนักลงทุนอาจตัดสินใจถอนเงินออกมาลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะนี้ ตลาดหุ้นในอาเซียนมีความเคลื่อนไหวที่คึกคักและให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดไม่น้อย เห็นได้จากตลาดหุ้นในไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการดีที่สุด วัดจากดัชนีตลาดหุ้น 94 ประเทศรวบรวมโดยบลูมเบิร์ก โดยดัชนีวีเอ็นเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดที่ 22% ขณะที่ไทยและฟิลิปปินส์ปรับขึ้นถึง 16%

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อดีของ ไพรเวท อิควิตี้ จะเป็นการช่วยให้บริษัทนอกตลาดมีแหล่งทุนเพื่อการขยายกิจการ พร้อมกับมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจัดระบบบริหารจัดการของบริษัทให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งกลับอดออกโรงเตือนไม่ได้ หากไม่ระมัดระวัง บริษัทในอาเซียนทั้งหลายอาจโดนฮุบกิจการเอาได้ง่ายๆ

คาร์ล โอคาโมโต ผู้อำนวยการโครงการกฎหมายเพื่อธุรกิจและผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเดร็กเซล อธิบายว่า การเข้ามาลงทุนของไพรเวท อิควิตี้ มักจะใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการด้วยเงินกู้ (Leverage Buyout) หรือการซื้อขายหุ้นของบริษัทจากเจ้าของกิจการโดยตรง โดยจะระดมทุนให้กู้ด้วยการออกหุ้นกู้หรือพันธบัตร และใช้กระแสเงินสดของกิจการที่เข้าซื้อมาใช้ในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืน

เรียกได้ว่า วิธีการดังกล่าวจะเป็นช่องทางในการฮุบกิจการผู้อื่นด้วยการก่อหนี้ คือปล่อยกู้ให้ แล้วไปจ้างนักบริหารมืออาชีพมาจัดการ ซึ่งจะมีตั้งแต่ตัดค่าใช้จ่าย ปลดคนงาน ขายสินทรัพย์บางส่วนทิ้ง จนเมื่อผลประกอบการดีขึ้น ก็มักจะขายทิ้งไปเพื่อทำกำไร เพื่อนำกำไรมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือเงินลงทุนในกองทุนไพรเวท อิควิตี้ อีกทีหนึ่ง

ดังนั้น นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างสรุปตรงกันว่า สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนของอาเซียนจะต้องระมัดระวังให้ดีก็คือ กองทุนไพรเวทอิควิตี้ เหล่านี้ โดยจะต้องหามาตรการที่รอบคอบและเข้มงวดเพียงพอมากำกับดูแล เพื่อให้บริษัทกิจการในอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่เช่นนั้น แทนที่จะได้เห็นเศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโต อาจกลายเป็นมหกรรมฮุบรวมกิจการขนานใหญ่อีกครั้ง!