posttoday

"กบข." ระเบิดที่รอวันประทุ

04 เมษายน 2556

การแก้ไขปัญหาผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การแก้ไขปัญหาผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ยังไม่สามารถแก้ไขให้ได้ข้อยุติ แม้ว่าจะมีปัญหาข้ามมาหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่มีใครกล้าตัดสินใจแม้กระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออกมาระบุว่า จะนำแนวทางการแก้ไข กบข. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดสินใจภายในเดือนนี้ ซึ่งจะมีการแก้ไขเฉพาะผลตอบแทนของข้าราชการรุ่นเก่าที่ตอนตั้งกองทุน กบข.มีสิทธิเลือกที่จะเข้าระบบ กบข. หรือจะอยู่ในระบบบำนาญของข้าราชการแบบเก่าเหมือนเดิมเท่านั้น

ส่วนข้าราชการที่กฎหมายบังคับให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนโดยอัตโนมัติ ก็ไม่มีสิทธิเลือกแต่อย่างไร

การแก้ไขปัญหาเพียงบางส่วนทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า การแก้ไขปัญหา กบข.เป็นเพียงการตัดช่องน้อยแต่พอตัว เอาตัวรอดหลบร้อยม็อบของสมาชิกที่เตรียมเดินหน้ารวมตัวทวงคืนข้อเรียกร้องนี้อีกครั้ง

ที่ผ่านมาสมาชิก กบข.ได้เรียกร้องหลายข้อเสนอ ที่สำคัญการให้สมาชิกสามารถเลือกที่จะกลับไปรับเงินบำนาญแบบเก่าได้ เพราะสมาชิกจำนวนมากพบว่าการเป็นสมาชิก กบข. ได้ผลตอบแทนน้อยกว่า

นอกจากนี้ สมาชิกยังขอให้แก้กฎหมายมาตรา 63 เรื่องการคำนวณเงินบำนาญให้คำนวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการไม่เกิน 35 ปี หารด้วย 50 แต่ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

โดยขอให้แก้เป็นคำนวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 และไม่ควรต่ำกว่า 85% ของเงินเดือนเฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย

ขณะเดียวกัน สมาชิกยังขอให้มีการประกันผลตอบแทนของกองทุนไม่น้อยกว่า 9% ซึ่งเป็นอัตราที่รัฐบาลอ้างอิงในสมัยเริ่มตั้งกองทุนและชักชวนข้าราชการเข้าเป็นสมาชิก จากปัจจุบันได้ผลตอบแทนได้แค่ 7% เท่านั้น

ทั้งหมดเป็นข้อเรียกร้องสำคัญๆ ที่สมาชิกต้องให้รัฐบาลแก้ไข โดยให้ครอบคลุมไปถึงข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วให้ได้สิทธิดังกล่าวทั้งหมด

แน่นอนว่า รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองเงื่อนไขของสมาชิกของ กบข.ทั้งหมด เพราะแต่ละข้อเสนอต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งรัฐบาลไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายให้อย่างแน่นอน

เพราะหากดูข้อเสนอที่รัฐบาลพร้อมทำตาม คือ เรื่องการให้สมาชิก กบข.เลือกว่าจะรับบำนาญแบบเดิม หรือแบบ กบข. ที่กิตติรัตน์จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบ ยังต้องใช้เงินทั้งหมดถึง 7.19 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.56 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่ม

ประมาณการของรัฐบาล คิดจากสมาชิกในระบบราชการ 1.2 ล้านคน มีข้าราชการเก่าที่เลือกเข้าเป็นสมาชิกถึง 9.77 แสนราย ในจำนวนนี้รัฐบาลประเมินว่าจะมีผู้เปลี่ยนใจมาขอรับบำนาญแบบเดิม 7.33 แสนราย เป็นภาระงบประมาณที่ต้องจ่ายบำนาญแบบเดิมทั้งสิ้น 1.13 แสนล้านบาท แต่เมื่อหักกับเงินก้อนที่จะได้รับคืนจากสมาชิกที่ไปรับบำนาญแบบเดิม ทั้งเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ เป็นเงิน 2.6 แสนล้านบาท หักลบกลบกันแล้วทำให้รัฐบาลมีภาระถึง 7.19 แสนล้านบาท เป็นเงินที่หามาจ่ายแต่ละปีถึง 1.56 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อย

เมื่อภาระงบประมาณสูงมหาศาล การที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขที่สมาชิก กบข. จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากมีการแก้ไขสูตรคิดคำนวณจ่ายบำนาญใหม่ มีการประเมินว่าเป็นเงินที่ต้องเพิ่มขึ้นอีกปีหลายหมื่นล้านบาท

ยิ่งเงื่อนไขให้รับประกันผลตอบแทนที่ 9% ซึ่งเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงในขณะนี้ และจะรุนแรงมากขึ้นมาในอนาคต การรับประกันผลตอบแทนจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลมองว่าเหมือนเอาคอไปวางไว้บนเขียง ข้อเสนอนี้จึงถูกปิดประตูแบบไม่ต้องพิจารณา

หากรัฐบาลทำตามเงื่อนไขทุกข้อตามที่สมาชิก กบข.มีการประเมินกันว่าอาจจะต้องใช้เงินเพิ่มอีกปีละถึง 1 แสนล้านบาท เป็นภาระที่รัฐบาลรู้ว่าไม่สามารถหารายได้มาจ่ายตรงนี้ได้ จึงพยายามแก้ไขปัญหาชนิดเลือกเงื่อนไขที่คิดว่าทำได้และเป็นธรรมกับสมาชิกมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไม่สุดเช่นนี้ นอกจากไม่ได้ทำให้ปัญหาลดลงแล้ว ยังอาจจะทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ในกรณีให้สมาชิกเลือกการรับบำนาญแบบเดิม ข้อเรียกร้องของสมาชิกดูเหมือนต้องการให้ครอบคลุมทั้งข้าราชการเก่าก่อนกองทุนตั้ง และข้าราชการใหม่ที่ถูกบังคับให้เป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ หรือพูดง่ายๆ ว่าเปิดให้มี 2 ทางเลือกให้ข้าราชการได้เลือก ซึ่งก็เสี่ยงกับกองทุน กบข.ต้องล้มหายตายจาก เพราะสมาชิกเลือกไปรับบำนาญระบบเก่าหมด เพราะได้ผลตอบแทนมากกว่า

ซึ่งสมาชิก กบข.ก็รู้ดีว่าเป็นข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบสนองยาก จึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขสูตรการคิดคำนวณบำนาญของ กบข.ใหม่ ซึ่งจะทำให้ได้ใกล้เคียงกับการรับบำนาญในระบบเดิมอีกเงื่อนไขหนึ่ง แต่เงื่อนไขนี้เมื่อรัฐบาลดีดลูกคิดแล้วพบว่าภาระที่เพิ่มขึ้นหนักเกินไปที่จะรับได้

หากย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุน กบข. ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดภาระเงินงบประมาณแผ่นดินให้น้อยลงเพื่อนำไปใช้ในส่วนอื่นได้ ซึ่งที่ผ่านมากองทุน กบข.ก็ตอบโจทย์ของรัฐบาลในส่วนนี้ ที่ทำให้ภาระลดน้อยลง แต่ในทางฝั่งฟากสมาชิก กบข. ก็มองว่าตัวเองได้รับผลตอบแทนน้อยลงเช่นกัน

เมื่อจุดหมายปลายทางของทั้งสองฝ่ายสวนกันเหมือนเส้นทางรถไฟ ทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ไม่ง่าย และยิ่งเมื่อสมาชิก กบข.เห็นว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสนองจากรัฐบาล ก็ทำให้มีแนวโน้มยกระดับการเรียกร้องมากขึ้น อย่างกรณีล่าสุดมีสมาชิกบางกลุ่มเรียกร้องถึงขนาดให้มีการยุบกองทุน กบข.ทิ้งไปเสียเลย และให้กลับไปใช้ระบบการจ่ายบำนาญแบบเดิม

แม้ว่าเป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธปัญหาของ กบข.ไม่ได้ว่า ทำให้ข้าราชการผลตอบแทนน้อยลง ตัวอย่างเช่น สูตรการคำนวณบำนาญของ กบข. ทำให้ข้าราชการไม่จูงใจให้ทำงานในพื้นที่เสี่ยงเหมือนในระบบการคิดบำนาญแบบเดิม ที่ได้ปีทำงานแบบทวีคูณ บางคนมีอายุราชการถึง 50 ปี เมื่อนำไปคิดระบบบำนาญแบบเก่าทำให้ได้ผลตอบแทนสูง

แต่ในส่วนของการคิดของ กบข. ที่กำหนดเพดานอายุราชการไว้แค่ 35 ปี ทำให้อายุราชการที่ทำเกินกว่านั้นไม่มีประโยชน์เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ข้าราชการไม่สนใจทำงานในพื้นที่เสี่ยงอีกต่อไป เพราะทำงานในพื้นที่ปกติไปเรื่อยๆ ก็อายุข้าราชการได้ 35 ปีเหมือนกัน ไม่เห็นจำเป็นต้องเสียสละลงไปในพื้นที่เสี่ยงอีกต่อไป

หากข้าราชการส่วนใหญ่คิดเช่นนั้น การดูแลประชาชนในอนาคตก็จะมีปัญหามากขึ้น เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องวิ่งตามแก้ไขในที่สุดชนิดไม่มีทางเลี่ยง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาของ กบข. ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ยังไม่เพียงพอที่ถอนรากเหง้าของปัญหาได้ การแก้ปัญหาโดยแค่คำนึงลดแรงกดดันทางการเมือง ไม่ต้องการให้มีม็อบข้าราชการมาเรียกร้องให้ภาพรัฐบาลดูไม่ดี ทำให้ปัญหาของ กบข.ยังมีอยู่ต่อไป และก็พร้อมปะทุให้ข้าราชการขึ้นมาเรียกร้องกดดันรัฐบาลได้ทุกเมื่อ