posttoday

นิคม เป๋ สะเทือนหนักวุฒิสภา

03 เมษายน 2556

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่วันที่ 3 แล้ว ซึ่งพรรคเพื่อไทยคาดว่าวันนี้จะสามารถลงมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียดได้

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่วันที่ 3 แล้ว ซึ่งพรรคเพื่อไทยคาดว่าวันนี้จะสามารถลงมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียดได้ แต่การประชุมในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญเกี่ยวกับการอภิปรายในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความสนใจน้อยกว่าลายเซ็นสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “นิคม ไวยรัชพานิช” ประธานวุฒิสภา

ลายเซ็นเพียงไม่กี่ตัวอักษรกลายเป็นชนวนเดือดให้การประชุมรัฐสภาเกิดความวุ่นวายเป็นระยะ เนื่องจาก สส.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าประธานวุฒิสภาเสียความเป็นกลางและเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ถ้าจะให้คนที่ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาควบคุมการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในประเด็นนี้ หากมองตามกฎหมาย “นิคม” ซึ่งมีหมวก 4 ใบ “สว.ฉะเชิงเทราสมาชิกรัฐสภาประธานวุฒิสภารองประธานรัฐสภา” ย่อมปราศจากความผิด

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดห้ามไม่ให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงชื่อสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมก็ไม่ได้ห้ามการใช้สิทธิของประมุขวุฒิสภาและสภาเช่นกัน

แต่จะชอบธรรมด้วยมารยาททางการเมืองหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมาพิจารณา

รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผู้ทำหน้าที่แทน ต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่”

จะว่าไป คำว่า “ความเป็นกลาง” ไม่เคยมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญไหนให้ความเห็นไว้ว่าความเป็นกลางจะต้องมีแบบแผนอย่างไร มีเพียงหลักปฏิบัติที่ประมุขทั้งสองสภายึดกันมาจนเป็นประเพณี เช่น การใช้สิทธิ “งดออกเสียง” ในกรณีพิจารณากฎหมาย ญัตติ และแต่งตั้งบุคคล หรือถ้าเป็นประธานรัฐสภาก็จะไม่เข้าร่วมประชุมกับพรรคที่ตัวเองสังกัดอยู่

จารีตดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรักษาสถานะให้คู่ควรกับคำที่ สส.และ สว.เรียกว่า “ท่านประธานที่เคารพ”

อย่างไรก็ตาม การที่ประมุขนิติบัญญัติถูกท้าทายในเรื่องมารยาทการเมืองใช่ว่าเพิ่งจะเกิดกับกรณีของนิคมเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อครั้ง “โภคิน พลกุล” เป็นประธานรัฐสภาในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย เคยเจอกับเสียงวิจารณ์มาแล้ว จากการไปลงมติในสภา สนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2548

“ผมต้องแสดงความเป็นกลางด้วยการคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างนั้นหรือ ผมว่าใช้ไม่ได้ หรืออยากได้ประธานที่เสแสร้ง เรื่องโหวตนายกฯ ของผมเสียความเป็นกลางตรงไหน ผมไม่เข้าใจ มาบอกผมว่าไม่เป็นกลางอย่างไร และการห่วงว่าในอนาคตจะไม่เป็นกลางนั้น เป็นเรื่องที่วิตกกันไปเอง” ประธานโภคิน กล่าวตอบโต้พวกวิพากษ์วิจารณ์ (10 มี.ค. 2548)

สภาในเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่นัก ทุกย่างก้าวของโภคิน ถูกพรรคประชาธิปัตย์จับตาเป็นพิเศษ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่านิคมจะต้องเผชิญกับสภาพนั้นเช่นกันและทำท่าจะหนักกว่าที่โภคินเคยประสบมาด้วยซ้ำ

ความแตกต่างอยู่ที่ “โภคิน” เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ทำให้การออกเสียงสนับสนุนพรรคด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าทำตามมติพรรค แต่จะผิดมารยาทหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องที่วิจารณ์ได้ แต่น้ำหนักอาจไม่มากเท่ากับกรณีของ “นิคม”

สถานะ “นิคม” ในปัจจุบันคือ สว. ไม่ได้มีสถานะสมาชิกพรรคการเมือง เท่ากับว่าการตัดสินใจลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมถูกผลักให้ไปอยู่ข้างพรรคเพื่อไทยในฐานะตัวตั้งตัวตีแก้รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย ไม่ว่าตัวประธานวุฒิสภาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

แน่นอนว่าจากนี้ไป “วุฒิสภา” ภายใต้การนำของนิคมหนีไม่พ้นการถูกจับผิดในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพิจารณาวาระสำคัญในอนาคตอย่างน้อย 2 เรื่อง

1.ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ถ้าวุฒิสภาพิจารณากลั่นกรองเร็วเกินไปย่อมถูกมองว่าเป็นตรายางให้กับรัฐบาล

2.การเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ในเร็วๆ นี้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บางท่าน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คน จะหมดวาระลง โดยวุฒิสภาจะต้องมีหน้าที่เห็นชอบให้บุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทน

หมายความว่า วุฒิสภาจะถูกจ้องมองเข้มข้นว่าจะมีหวยล็อกหรือไม่ ทั้งๆ ที่การเลือกองค์อิสระในเวลานั้นอาจจะไม่มีอะไรในกอไผ่เลยด้วยซ้ำ เพราะวุฒิสภาไร้อำนาจในการคัดเลือก มีเพียงหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับบัญชีรายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาเสนอเข้ามาเท่านั้น

ทั้งหมดเป็นภาระที่ “นิคม ไวยรัชพานิช” ต้องแบกรับและนำพาวุฒิสภาให้ก้าวข้ามเสียงครหาเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของสภาสูง เพื่อรับผิดชอบกับลายเซ็นของตัวเองในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ