posttoday

เงินกู้ 2 ล้านล้านมัดตราสังเศรษฐกิจไทย

01 เมษายน 2556

ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภาวาระแรกเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว หลังจากนี้ไปจะมีการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ 30 วัน และกลับมาสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้กฎหมายมีผลบังคับใช้และกู้เงินประเดิมก้อนแรกให้ทันภายในปีนี้

การอภิปรายของฝ่ายค้าน สอดคล้องกับนักวิชาการนอกสภา ที่ล้วนแล้วแต่สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการกู้เงินนอกงบประมาณปกติมาดำเนินการ เพราะขาดความโปร่งใส เปิดช่องทุจริต และรัฐบาลสามารถใช้เงินจากในงบประมาณที่การตรวจสอบจากสภาที่มาจากตัวแทนของประชาชนทำงานได้เต็มที่กว่า

ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แม้ผ่านสภาได้แล้ว อาจจะต้องไปสู้กันถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นผู้ชี้ขาด และจะเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน

สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลในการกู้เงินก้อนโตครั้งนี้ คือ ประเทศจะมีปัญหาเศรษฐกิจจนอาจแก้ไม่ตกเหมือนหลายประเทศในยุโรปที่เศรษฐกิจมีต้นตอจากการก่อหนี้เกินตัว เป็นวิกฤตที่ยังแก้ไม่ได้ถึงทุกวันนี้

ยังไม่รวมกับความเป็นห่วง ความไม่โปร่งใสทุจริตคอร์รัปชัน ที่ภาคีต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ประเมินว่ามีสูงถึง 30% ในปัจจุบัน

นั่นหมายความว่าการกู้เงินมา 2 ล้านล้านบาท จะมีเงินหลุดออกไปในการทุจริตถึง 6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่าการประเมินเงินกู้ของรัฐบาลมองโลกในแง่ดีเกินไป จนอาจผูกมัดเศรษฐกิจไทยให้ตกอยู่ใต้แรงกดดันของหนี้ก้อนโต และจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 ที่ประเทศไทยมีหนี้ภาคเอกชนล้นประเทศ แต่มาเที่ยวนี้กลายเป็นรัฐบาลเป็นต้นตอปัญหาสร้างหนี้ท่วมประเทศ

จากข้อมูลการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมีเงื่อนปมหลายด้านที่ผูกมัดให้เศรษฐกิจเดินไปสู่วิกฤตรอบใหม่

เงื่อนไขแรก การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี ต้องใช้คืนให้หมดภายใน 50 ปี จะมีภาระดอกเบี้ยถึง 3 ล้านล้านบาท โดยคิดจากดอกเบี้ยเฉลี่ย 50 ปี อยู่ 5% ต่อปี ทำให้ภาระเงินกู้ที่แท้จริงสูงถึง 5 ล้านล้านบาท

รัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้หนี้ ก็ไม่ได้มีการบอกชัดเจน

กรณ์ จาติกวณิช สส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง อภิปรายในสภาว่า ดอกเบี้ยในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น และทุก 1%ที่เพิ่มขึ้นจากที่รัฐบาลประมาณการไว้ ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท

นั่นหมายความว่า ภาระหนี้ของไทยไม่ใช่ 5 ล้านล้านบาทอย่างที่รัฐบาลประเมินไว้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มเป็น 6 ล้านล้านบาท หรือ 7 ล้านล้านบาท หากดอกเบี้ยในอนาคตปรับขึ้นเรื่อย

หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลจะชำระหนี้ไหวหรือไม่ และหากไม่ไหวเศรษฐกิจไทยก็หนีไม่พ้นวิบัติในที่สุด

ประการต่อมา หากย้อนตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ยังพบว่ามีการก่อหนี้ทำโครงการประชานิยมจำนวนมาก จนมีปัญหาบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังไม่ได้ นั่นคือสัดส่วนชำระหนี้ต้องไม่เกิน 15% ของเงินงบประมาณ เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องโอนเงินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ออกไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ

และยิ่งดูหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันที่มีจำนวน 5 ล้านล้านบาท เท่ากับภายในอีก 7 ปี รัฐบาลจะมีหนี้สาธารณะของประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท

รัฐบาลจะบริหารเงินก้อนโตที่เติบโตพรวดเดียวอีกเท่าตัวภายในไม่กี่ปีกันอย่างไร

การประเมินชำระเงินต้น 2 ล้านล้านบาท ใน 10 ปีแรก ปลอดเงินต้น ใน 10 ปีที่สองชำระเงินต้น 1% ใน 10 ปีที่สามชำระเงินต้น 2% ใน 10 ปีที่สี่ชำระเงินต้น 3% และใน 10 ปีที่ห้าชำระเงินต้น ไม่มีอะไรการันตีว่าจะดำเนินการได้ และก็ไม่มีความชัดเจนว่า หากไม่ดำเนินการได้ตามนั้นจะแก้ไขอย่างไร

ที่สำคัญ เดิมรัฐบาลจะบรรจุกรอบเวลาชำระหนี้ 50 ปี และรายละเอียดการชำระหนี้ไว้เป็นมาตราหนึ่งของกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ดึงออก ให้เป็นแค่มติ ครม. เพราะรัฐบาลกลัวทำไม่ได้ตามกฎหมาย

ทำให้เห็นว่ายังไม่ทันเริ่มกู้รัฐบาลก็เริ่มเบี้ยวการจ่ายหนี้แล้ว เพราะรู้ว่าการใช้หนี้ตามกรอบที่กำหนดไม่ใช่เรื่องง่าย และมีทางเป็นไปไม่ได้ตามที่เขียนไว้ไม่ใช่น้อย

เงื่อนปมต่อมา ของกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลตั้งสมมติฐานการกู้เงินครั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่น้อยกว่าปีละ 4.5% มีเงินเฟ้อ 3% ต่อปี และหนี้สาธารณะไทยจะอยู่ที่ไม่เกิน 50% ของจีดีพี เป็นการประเมินภาวะเศรษฐกิจดีเกินจริงในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในมีความผันผวนรุนแรง

หากไปดูการขยายตัวเศรษฐกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีการขยายตัวอยู่แทบไม่ถึง 4.5% นอกจากนี้เศรษฐกิจในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเจอวิกฤตอีกอย่างน้อย 3 รอบ ในรอบแรกวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐในปี 2552 เมื่อผสมม็อบการเมืองในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 2.3%

นอกจากนี้ ในปี 2544 ไทยเจอน้ำท่วมใหญ่ ทำให้การขยายตัวได้แค่ 0.1% เท่านั้น และปี 2555 ที่ไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจกรีซจากปัญหาหนี้เสีย ทำให้การส่งออกของไทยทรุดหนักจากที่คาดว่าขยายตัวได้ 15% แต่ขยายตัวได้จริง 4% แม้ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจจะสูงถึง 6.4% สูงกว่าประมาณการ 5.5% ก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการอัดโครงการประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท รถคันแรกเสียเงินไป 9 หมื่นล้านบาท บ้านหลังแรกเสียเงินภาษีไปอีกนับหมื่นล้านบาท ลดภาษีนิติบุคคล ทำให้ภาษีหายไป 1.5 แสนล้านบาท การเพิ่มค่าแรง ทำให้เศรษฐกิจพองโตขึ้นมาได้ 6.4%

จากเงื่อนปมของการกู้เงิน ที่ผูกมัดว่าต้องกดหนี้ให้ไม่เกิน 50% ต้องหาเงินมาใช้หนี้ ทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกที่ต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวนับจากนี้ไปตลอด 50 ปี ที่เป็นหนี้จากเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพราะหากเศรษฐกิจปีไหนไม่เข้าเป้า จะทำให้หนี้สาธารณะขยับทันที

ที่น่ากลัวที่สุด หากเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตทรุดหนักหลายปีเหมือนในสหรัฐ ยุโรป หนี้ไทยจะพุ่งสูงขึ้นทันที และมีความเป็นไปได้จะเกิน 60% ของจีดีพี ตามกรอบความยั่งยืนทางการ

ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยพัฒนาประเทศทำการประเมินว่า ภายใต้การกู้เงินของรัฐบาลในขณะนี้ หากปีไหนเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3% หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นถึง 60-70% ทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้ การกู้เงินจำนวนก้อนโตภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน ยุโรปยังมีปัญหาหนี้ลุกลามไปเรื่อย จีนขยายตัวได้ลดลงและต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในไม่ช้า เป็นจุดเปลี่ยนที่อ่อนไหว

ปัญหาภายในประเทศของไทยเองก็ไม่มีเค้าลางดีขึ้น การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยนายใหญ่กลับบ้าน เป็นการจุดเพลิงเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ และทุกครั้งที่มีปัญหาการเมืองภายใน เศรษฐกิจไทยหดทุกครั้ง ตั้งแต่การปฏิวัติปี 2549 การปิดสนามบินปี 2551 และการก่อม็อบเผาบ้านเผาเมืองในปี 2553 ล้วนเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

ยังไม่รวมภัยธรรมชาติที่รุนแรงทั้งในและนอกประเทศ ความรุนแรงการก่อตัวของสงครามในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงปัญหาความรุนแรงของไทยในภาคใต้ หรือปัญหาปราสาทพระวิหาร ที่เป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจไทยยากที่จะควบคุมผลกระทบได้

ลำพังแค่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นานา ทั้งในและนอกประเทศที่มีอยู่ เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะรับมือในระยะสั้นแล้ว แต่วันนี้รัฐบาลเดินหน้ากู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มัดตราสังเศรษฐกิจให้ไทยได้เดินตามแผน สร้างหนี้ข้ามภพให้คนทั้งประเทศแบกรับกันทุกหย่อมหญ้า โดยมีเดิมพันของการเพิ่มศักยภาพประเทศเป็นตัวจูงใจ