posttoday

พท.-ปชป.สู้ยิบตาเดิมพันกู้ 2 ล้านล้าน

28 มีนาคม 2556

ดุเดือดแน่!!! กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

โดย..ธนพล บางยี่ขัน

ดุเดือดแน่!!! กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยและฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ จะต้องงัดทุกกลเม็ดมาฟาดฟันกันกับเดิมพัน 2 ล้านล้านบาท ที่จะส่งผลยาวต่ออนาคตทางการเมือง

แน่นอนว่าสำหรับรัฐบาลเพื่อไทยวงเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ ย่อมเป็นสายป่านอย่างดีต่อการดำเนินนโยบายสร้างผลงาน กับเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

หากพลาดพลั้งไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ย่อมทำให้เมกะโปรเจกต์ที่วางแผนไว้ต้องสะดุดลงทันที ที่สำคัญ พ.ร.บ.กู้เงิน ที่จัดเป็นกฎหมายทางการเงิน หากพลาดพลั้งไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา ย่อมต้องถูกแรงบีบให้แสดงความรับผิดชอบ

รัฐบาลเพื่อไทยจึงต้องวางแผนรัดกุมกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังจะเห็นว่าประชุม สส.เพื่อไทย นัดที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นต้องสไกป์มากำชับป้องกัน พร้อมขู่คาดโทษเด้งพ้นเก้าอี้ หากเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสภาล่มเหมือนที่ผ่านๆ มา

ต่อด้วยการเปิดคอร์สติวเข้ม สส.เพื่อไทย ให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และ รมว.คลัง มาบรรยายสรุปข้อมูลถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อให้ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้ถูกต้องและเป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายฯ

จัดทัพคุมศึกอภิปรายเที่ยวนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงเสียดทานต่างๆ ต้องตกไปอยู่ที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “เพื่อไทย” วางตัวรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กิตติรัตน์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไว้ชี้แจงและตอบคำถามรายละเอียด ที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาถล่ม

ที่สำคัญเพื่อความรัดกุมรอบคอบทางเพื่อไทยได้จัด “วอร์รูม” ณ ห้องประชุม 3310 อาคารรัฐสภา เพื่อประสานข้อมูล ทั้งนำเสนอ ตอบโต้หักล้างข้อมูลแก้เกมของทางฝ่ายค้านได้อย่างทันท่วงที

งานนี้รัฐบาลเพื่อไทยได้ดึง “โภคิน พลกุล” ที่ปรึกษานายกฯ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร มานั่งบัญชาการด้วยตัวเอง ด้วยหวังจะอาศัยความแม่นยำในข้อกฎหมายและข้อบังคับการประชุมมาช่วยคุมเกมตั้งแต่ต้นจนจบการอภิปราย

ในแง่เนื้อหาการอภิปรายฯ เพื่อไทยจัดหมวดการอภิปรายฯ ออก 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มศึกษาโครงข่ายรถไฟทางคู่ 2.ท่าเรือลำน้ำและชายฝั่ง 3.พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และ 4.พัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ

โดยวางคิว สส.พรรคร่วมรัฐบาลไว้อภิปรายประมาณ 30 คน ที่จะนำทีมโดย “ไชยา พรหมา” สส.หนองบัวลำภู ในฐานะประธานกมธ.การเงิน การคลัง การธนาคาร แลสถาบันการเงิน ที่ตุนข้อมูลไว้ในมือเพียบ นอกจากนี้ยังมี ลีลาวดี วัชโรบล สส.กทม. เยาวนิตย์ เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พงศ์พันธุ์ สุนทรชัย สส.หนองคาย นพคุณ รัฐไผท สส.เชียงใหม่ สงวน พงษ์มณี สส.ลำพูน

นอกจากนี้ ยังเตรียมอุดช่องโหว่ด้วยการจัดทีมองครักษ์และทีมคอยประท้วง หากฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พายัพ ปั้นเกตุ สส.บัญชีรายชื่อ และไพจิตร ศรีวรขาน สส.นครพนม

พร้อมกันนี้ ยังเตรียมเปิดเกมรุกสวนกลับประชาธิปัตย์ ด้วยการเตรียมข้อมูลถล่มโครงการไทยเข้มแข็ง และมิยาซาวาสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์

ในขณะที่ทางฝั่ง “ประชาธิปัตย์” หากปล่อยให้สภาผ่าน พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ไปได้แบบฉลุย ย่อมอาจต้องผูกขาดเป็นฝ่ายค้านยาว

แต่ทว่าด้วยเสียงในมือรวมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างภูมิใจไทยและรักประเทศไทย ย่อมไม่อาจทัดทานเสียงท่วมท้นของรัฐบาล ที่สุดท้ายย่อมเอาชนะในการโหวตได้แบบไม่ยากเย็น เวทีอภิปรายฯ ในสภาที่จะถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ จึงเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายค้านจะต้องชำแหละให้เห็นถึงพิษภัยอันตรายจาก พ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้

ชำแหละ พ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนชัด ว่าเห็นด้วยกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการกู้เงินมาใช้ลงทุน ที่มองว่าเป็นการจงใจหลบเลี่ยงการตรวจสอบของสภา ที่อาจสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170

พร้อมวางคิวถล่มในกรอบ 3 กรอบใหญ่ คือ 1.การก่อหนี้ที่สูงเป็นประวัติการสุ่มเสี่ยงต่อหนี้สาธารณะที่จะสูงเกินเพดาน แต่เป็นห่วงกันว่าสมมติฐานที่นำมาคำนวณอาจไม่เป็นไปตามนั้น ยังไม่รวมกับประเด็นหนี้ที่จะต้องชำระกันยาว 50 ปี และดอกเบี้ยเกิน 3 ล้านล้านบาท ทั้งที่สามารถนำไปบรรจุในงบประมาณรายจ่ายปกติ

2.ความเหมาะสมของโครงการพุ่งเป้าไปที่รถไฟความเร็วสูง ซึ่งถือเป็นโครงการหลักใน พ.ร.บ.กู้เงินนี้ แต่หลายเส้นทางถูกปรับลดขนาดจนไม่เชื่อมต่อไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงความสามารถของการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งที่ผ่านมาหลายโครงการก่อนหน้านี้ ติดขัดมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน

3.เรื่องความโปร่งใสที่จะหยิบยกตัวอย่างจากการใช้จ่ายงบที่ผ่านมา ซึ่งพบปัญหาความไม่โปร่งใสในหลายจุด รวมทั้งประเด็นเรื่องรายละเอียดโครงการที่ไปหลบอยู่ในเอกสารประกอบ ไม่ใช่บัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. ที่จะกลายเป็นเช็คเปล่าเปิดช่องให้โยกงบได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท

ขุนพลหลักก็ยังเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง กรณ์ จาติกวณิช สรรเสริญ สมะลาภา อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รวมไปถึงประธาน กมธ. ที่เก็บรวบรวมข้อมูลมาใช้ในการอภิปราย

การอภิปรายตลอด 2 วันนี้ จึงน่าจะเป็นการขับเคี่ยวครั้งสำคัญของสองพรรคใหญ่ ที่เดิมพันกันด้วยอนาคตทางการเมืองต่อไป