posttoday

ถลุงเงินคงคลังเพื่อรถคันแรก

27 มีนาคม 2556

“โครงการรถคันแรก” เป็นหนึ่งในโครงการประชานิยมที่รัฐบาลใช้เป็นไม้เด็ดหาเสียงจนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

“โครงการรถคันแรก” เป็นหนึ่งในโครงการประชานิยมที่รัฐบาลใช้เป็นไม้เด็ดหาเสียงจนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

เมื่อดีเดย์เปิดตัวรถคันแรกปลายปี 2554 รัฐบาลตั้งเป้ามีผู้มาใช้สิทธิ 5 แสนคัน เป็นเงินที่ต้องจ่ายคืน 3 หมื่นล้านบาท แต่จังหวะไม่ดีเจอน้ำท่วมใหญ่เสียก่อน ประชาชนเลยหมดอารมณ์ซื้อ ส่วนผู้ผลิตรถก็เจอน้ำท่วมโรงงานเสียหายยับเยิน ส่งผลให้โครงการรถคันแรกหมดความขลังไปชั่วขณะ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ยอมให้รถคันแรกเป็นประชานิยมที่ล้มเหลว มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขขยายเวลาการส่งมอบรถ ให้ใช้ใบจองมาขอใช้สิทธิได้ก่อนและรับรถได้ในภายหลัง ทำให้โครงการกลับมาคึกคักยอดใช้สิทธิเมื่อปิดโครงการเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2555 พุ่งสูงถึง 1.25 ล้านคัน เป็นเงินที่ต้องจ่ายคืนถึง 9.1 หมื่นล้านบาท

จากตัวเลขผู้ใช้สิทธิสูงกว่าเป้าถึง 2 เท่า และเงินที่ต้องจ่ายคืนมากกว่าที่ประเมิน 3 เท่า รัฐบาลยังประกาศเต็มปากว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ

ว่าไปแล้ว โครงการรถคันแรกมีผลดีหลายอย่างที่เกิดขึ้นทันตาเห็น คือ ผู้ซื้อรถยนต์ได้รถราคาถูก เพราะมีการคืนเงินเท่ากับจำนวนภาษีสรรพสามิตที่รถยนต์คันนั้นต้องเสีย แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรถยนต์ฟื้นตัวจากน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ฟันรายได้และกำไรเข้ากระเป๋าชื่นบานกันทั่วหน้า

ในแง่ของรัฐบาลเอง การที่มีการซื้อขายรถเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น กรมสรรพสามิตเก็บภาษีรถยนต์มากกว่าเป้าเป็นเท่าตัว ทำให้การเก็บภาษีภาพรวมในปี 2555 ที่ผ่านมาสูงกว่าเป้าหลายหมื่นล้านบาท ทั้งที่ต้องเสียรายได้จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ขณะที่กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น รวมถึงภาษีกำไรจากผู้ผลิตรถยนต์ ทำให้กรมสรรพากรตีตื้นเก็บรายได้ในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ทำให้เสียรายได้ไปกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ในแง่เศรษฐกิจภาพรวม โครงการรถคันแรกมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่น้อย อย่างน้อยก็มีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ถึง 6.4% ต่อปี จากที่ประเมินไว้เดิม 5.5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โครงการรถยนต์ก็มีผลกระทบด้านลบไม่น้อย ที่เห็นเป็นอันดับแรก กระตุ้นให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงคุกคามเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ หากไม่ระวังการก่อหนี้ของภาคประชาชนท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนอย่างมากในขณะนี้

เรื่องหนี้ภาคครัวเรือน เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนอย่างต่อเนื่องว่ามีสัญญาณที่ไม่ดี และหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงการประชานิยมของรัฐบาล ที่เร่งให้คนใช้จ่าย ไม่สนใจเรื่องการออมเท่าที่ควร ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่พอใจ ธปท.ที่ออกมาให้ความเห็นแทงใจดำอยู่ตลอด

ผลกระทบใหญ่ที่รัฐบาลไม่คิดและกำลังเกิดขึ้น คือ เงินที่จะนำมาจ่ายคืนให้กับผู้ที่ได้สิทธิที่มีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังในขณะนี้

รัฐบาลตั้งงบประมาณปี 2556 เพื่อมาจ่ายคืนให้ผู้ได้สิทธิเพียง 7,250 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ผู้ใช้สิทธิจริงมีถึงกว่า 9 หมื่นราย เป็นเงินที่ต้องจ่ายคืนถึง 3.8 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายคืนผู้ได้สิทธิถึงเดือน มี.ค. 2556 มีเงินเหลือแค่ 300 ล้านบาท แค่ผู้ได้สิทธิคืนเงินในเดือน เม.ย. 2556 ก็ไม่พอจ่ายแล้ว ไม่ต้องนึกถึงเดือนอื่นที่เหลืออีกหลายเดือน

ภาวะเช่นนี้ รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการรถคันแรกถังแตก เงินไม่มีจ่าย เพราะขนาด มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังออกมายอมรับว่าไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เพราะต้องใช้เงินจ่ายผู้ได้สิทธิจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2556 หรือสิ้นเดือน ก.ย. ปีนี้ถึง 3.1 หมื่นล้านบาท

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะสำนักงบประมาณปฏิเสธกระทรวงการคลัง ที่ขอให้จัดสรรงบกลางมาจ่ายคืนผู้มีสิทธิได้รถคันแรกในส่วนที่เหลือปีงบประมาณ 2556 ทั้งหมด โดยสำนักงบประมาณให้เหตุผลว่า งบกลางเป็นงบของนายกรัฐมนตรี ต้องเก็บไว้ใช้ในโครงการอื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนั้น โครงการรถคันแรกก็ถูกลอยแพจากรัฐบาลกลายๆ เพราะการใช้งบกลางถึง 3.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่ได้ประโยชน์อะไร เมื่อเทียบกับการนำเงินดังกล่าวไปทำโครงการให้ผู้รับเหมาที่ใกล้ชิดฝ่ายการเมือง ทำให้นักการเมืองทั้งนายใหญ่ นายเล็ก ได้ค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่าหัวคิว จากการอนุมัติโครงการ 3050% ดีกว่ากันเยอะเลย

เมื่อมาถึงทางตัน ทำให้กระทรวงการคลังต้องพาโครงการรถคันแรกแหกโค้ง ดอดเงียบมาใช้เงินคงคลังจ่ายคืนผู้ได้สิทธิไปก่อน โดยปล่อยให้ข้าราชการคลังรับหน้าเสื่อไปดำเนินการ ส่วนฝ่ายการเมืองก็มีทั้งชิ่งและลอยตัว เพราะไม่ต้องการเอาเผือกร้อนมาไว้กับตัว

ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ที่กำกับดูแลกรมสรรพสามิต และเดินหน้าผลักดันโครงการรถคันแรก โยนให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะล้วงเงินคงคลังมาจ่ายคืนรถคันแรก

ขณะที่ กิตติรัตน์ ยืนกระต่ายขาเดียวว่ารถคันแรกไม่ใช่โครงการประชานิยม และไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย ก็ยังเก็บตัวเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถามว่าเงินที่จ่ายคืนรถคันแรกจะมาจากที่ไหน

สุดท้ายเรื่องนี้ก็มาตกหนักที่ข้าราชการประจำ ต้องมาตามเก็บกวาดโครงการรถคันแรกของรัฐบาล โดยการไปหาเหตุผลแบบสีข้างเข้าถูเพื่อไปนำเงินคงคลังมาจ่ายคืนรถคันแรกให้ได้

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหารถคันแรกดังกล่าวเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด เพราะการใช้เงินคงคลังมีการปรับปรุงกฎหมายว่า เมื่อนำเงินคงคลังไปใช้ ในปีงบประมาณต่อไปต้องมีการตั้งงบมาใช้คืน เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง ป้องกันนักการเมืองมักง่าย ที่นึกว่าเงินคงคลังเป็นโรงพิมพ์แบงก์ใช้แล้วไม่ต้องจ่ายคืน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาระงบประมาณปี 2557 จะมีปัญหาอย่างมาก เพราะรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาคืนเงินคงคลังถึง 3.1 หมื่นล้านบาท ที่จะนำออกไปจ่าย

นอกจากนี้ยังมีภาระที่ต้องจ่ายคืนให้กับผู้ที่ได้สิทธิส่วนที่เหลือ 5.3 หมื่นล้านบาท พูดง่ายๆ คือ ภาระต้องจ่ายคืนรถคันแรกทั้ง 9.1 หมื่นล้านบาท จะตกอยู่ในปีงบประมาณ 2557

ภาระที่มากขนาดนั้น ทำให้งบประมาณปี 2557 ที่ยังต้องเป็นงบประมาณแบบขาดดุล มีแนวโน้มสูงว่าต้องขาดดุลมากขึ้น เพื่อกู้เงินมาจ่ายคืนรถคันแรก ทำให้หนี้สินของประเทศสูงขึ้น สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

โครงการรถคันแรก ไม่ใช่โครงการประชานิยมแรก ที่รัฐบาลคิดแบบหยาบๆ หวังแต่คะแนนเสียง เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ

โครงการรับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้เงินกู้ไป 5 แสนล้านบาท สร้างความเสียหายปีละกว่าแสนล้านบาท ข้าวไทยไม่มีคุณภาพ การส่งออกข้าวมีปัญหา ไม่ต้องพูดถึงการระบายข้าวที่ทำมากแค่ไหนรัฐขาดทุนเท่านั้น แต่คนที่เกี่ยวข้องมีแต่รวยขึ้น สุดท้ายผู้เสียภาษีก็ต้องใช้หนี้ให้รัฐบาล

การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง โดยอ้างว่าจำเป็นต้องให้มีการลงทุนต่อเนื่อง แต่สร้างภาระหนี้ให้คนไทยกว่าจะใช้หมดภายใน 50 ปี ที่รัฐบาลวาดฝันแล้ว รวมทั้งต้นและดอกเบี้ยเป็นภาระสูงถึง 5 ล้านล้านบาท

มาถึง ณ ขณะนี้ โครงการรถคันแรกกำลังสร้างภาระหนี้ให้กับคนไทยอีก 9 หมื่นล้านบาท เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะตัดใบบัวมาปิดโครงการเน่าแบบนี้มากแค่ไหนก็ปิดไม่มิด เพราะสุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องกู้เงินมาจ่ายอยู่ดี

ทั้งนโยบายรถคันแรก และจำนำข้าว จะถูกนำมายกตัวอย่างการละลายเงินงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนอย่างไร้ประสิทธิภาพ ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในสภาวันที่ 28 มี.ค.นี้ แน่นอน