posttoday

"ตลาด"ดันไม่ขึ้นเงินเฟ้อพุ่งเศรษฐกิจจ่อสะดุด

18 มีนาคม 2556

ขณะที่ตลาดหุ้นของบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นหลักของโลกอย่างวอลสตรีต สหรัฐ อยู่ในสภาพกระทิงเปลี่ยวคึกคะนองที่พุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดรอบแล้วรอบเล่า

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ขณะที่ตลาดหุ้นของบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นหลักของโลกอย่างวอลสตรีต สหรัฐ อยู่ในสภาพกระทิงเปลี่ยวคึกคะนองที่พุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดรอบแล้วรอบเล่า จนนักลงทุนทั่วโลกบางส่วนเริ่มเชื่อมั่นแล้วว่า เศรษฐกิจของมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งโลกกำลังฟื้นตัว

ทว่า บรรดาตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มบริก คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน กลับอยู่ในสภาพไม่คึกคักเท่าที่ควร เมื่อรายงานส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนภายในประเทศเริ่มถอนปริมาณเงินออกจากตลาด

ขณะนี้นักลงทุนรายย่อยของบราซิลลดปริมาณการลงทุนในตลาดจนดัชนีตลาดหุ้นบราซิล โบเวสปา อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 ด้านกองทุนรวมรัสเซียมีปริมาณเงินไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2539 ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียมีตัวเลขการขนเงินออกจากตลาดสูงที่สุดในรอบกว่า 2 ปี และนักลงทุนจีนแห่ถอนเงินออกจากบัญชีหุ้นของตัวเองแล้วกว่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จากการรวบรวมข้อมูลของบลูมเบิร์ก

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของดัชนีเอ็มเอสซีไอ อีเมิร์จจิง มาร์เก็ต ซึ่งเป็นดัชนีที่ครอบคลุมประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึงบริก ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดัชนีดังกล่าวปรับตัวลงไปแล้ว 1.1% ขณะที่ดัชนีเอ็มเอสซีไอ บริก อยู่ในระดับต่ำกว่า ระดับสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อปี 2550 ที่ 37% โดยที่ซื้อขายในตลาดของกลุ่มบริกมีราคาที่ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2552

เรียกได้ว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงดาวเด่นอย่างบริกไม่ค่อยจะสดใส และสวนทางกับตลาดหุ้นของสหรัฐหรือญี่ปุ่น ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% และ 8% ตามลำดับในช่วงเวลาเดียวกัน

หากมองอย่างผิวเผิน อาจบอกได้ว่าที่นักลงทุนภายในประเทศต่างล่าถอยออกจากตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะต้องการหอบทรัพย์สินเข้าไปลงทุนในตลาดของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ซึ่งหนีไม่พ้นสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มกำลังฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาสภาพเงื่อนไขของตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในปัจจุบัน บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนภายในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และอาจรวมถึงนักลงทุนต่างชาติขณะนี้ เป็นการกระทำที่พอจะเข้าใจและยอมรับได้

เหตุผลแรกสุดมาจากแนวโน้มการจัดการกับสภาพคล่องและเงินเฟ้อของรัฐบาลในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากระดับของสภาพคล่องมีความสัมพันธ์กับภาพรวมตลาดหุ้นถึง 70% ทำให้นักลงทุนเริ่มวิตกว่า ปัญหาจากสภาพคล่องที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อจะกลายเป็นข้อจำกัดในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศที่จำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตและขับเคลื่อนต่อไปได้

โมฮัมเหม็ด อภาภัย หัวหน้านักค้าในตลาดเอเชียของซิตี้กรุ๊ป โกลบอล มาร์เก็ตส์ อธิบายว่า หากพิจารณาตลาดจากเงื่อนไขสภาพคล่อง บรรดาตลาดใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ออสเตรเลีย ต่างมีสภาพคล่องล้นเหลือด้วยแรงผลักดันของธนาคารกลาง ซึ่งให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าอัดเงินเข้าระบบอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้วยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี)

ตรงกันข้ามกับสภาพคล่องของตลาดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยทุนร้อนจากโลกตะวันตกที่ไหลทะลักเข้ามาตลาดภายในประเทศเพื่อเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ย

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ สิ่งที่รัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายทางการเงินอย่างธนาคารกลาง ต้องระวังคือปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ จนทำให้มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินเสริมสภาพคล่องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว โจวเสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนได้แสดงความเห็นในลักษณะที่ตอกย้ำกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือการจัดการกับราคาสินค้าในตลาด หลังจากที่ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ดัชนีวัดเงินเฟ้อสำคัญพุ่งถึง 3.2% ในเดือน ก.พ. หรือสูงที่สุดในรอบ 10 เดือน

และเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ธนาคารกลางย่อมไม่เหลือทางเลือกมากนัก นอกจากคงหรือปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงต่อไป

สำหรับเหตุผลต่อมา คือ ความสงสัยกังวลต่ออัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดย มาร์ก แมทธิวส์ หัวหน้าทีมวิจัยเอเชียจากจูเลียส แบเออร์ กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล นอกจากจะน่าสนใจน้อยลงแล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่ยังอดใส่เครื่องหมายคำถามโตๆ กับอัตราการเติบโตของชาติเหล่านี้ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น อินเดียที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ที่ปรับตัวร่วงแรงมาอยู่ที่ 4.5% ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2555 นับเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นในประเทศส่วนใหญ่เริ่มแสดงให้เห็นความอ่อนแรง โดยข้อมูลจากบลูมเบิร์กพบว่ารายงานรายได้ประจำไตรมาสของเหล่าบริษัทในดัชนีเอ็มเอสซีไอ บริก มากกว่า 59% อยู่ในสภาพน่าผิดหวัง โดยส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% ทำให้นักลงทุนภายในประเทศเริ่มถอดใจ

ผลลัพธ์ข้างต้น ส่งผลให้แม้ภาพรวมอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่ในระดับที่ดีและเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายขุม แต่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเมื่อพิจารณาจากกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส : Earnings Per Share) กลับน้อยกว่าที่ได้จากตลาดหุ้นในสหรัฐ หรือญี่ปุ่น

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปี 2556 นี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าจะให้ผลตอบแทนอีพีเอสได้ถึง 40% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียโดยเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้น บวกกับการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ และค่าเงินเยนอ่อนค่า ขณะที่อีพีเอสของอินเดียกับจีนจะอยู่ที่เพียง 13% เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ความสงสัยต่อการเติบโตข้างต้น สำหรับนักลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคลุมไปถึงแนวทางกระตุ้นของรัฐบาล ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ให้เหตุผลว่า นอกจากนโยบายของรัฐบาลชาติตนจะโดนจำกัดด้วยสภาวะเงินเฟ้อแล้ว นโยบายต่างๆ ยังไม่อาจเชื่อถือได้สักเท่าไรนัก เพราะมักผูกอยู่กับผลประโยชน์ภายในของพวกพ้องของรัฐบาลเป็นสำคัญ จนบางครั้งก็เป็นเหตุให้รัฐบาลทำหรือไม่ทำแนวทางบางอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักสรุปตรงกันว่า ปัญหาจากการจัดการสภาพคล่อง รวมถึงความไม่ชัดเจนในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนอัตราการเติบโตที่น่าสงสัย น่าจะส่งผลทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขยาดและหวาดหวั่นกับตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศตัวเอง จนเดินหน้าถอนการลงทุนของตนอย่างต่อเนื่อง

และท้ายที่สุด อาจทำให้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ สร้างปรากฏการณ์สวนทางกับตลาดหุ้นโลกที่กำลังมีแววคึกคักอยู่ในขณะนี้