posttoday

วางคนยึดรัฐวิสาหกิจกุมอำนาจสนองนโยบาย

12 มีนาคม 2556

การบริหารงานของรัฐบาลในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศไว้ตอนหาเสียง

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง


การบริหารงานของรัฐบาลในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศไว้ตอนหาเสียง

ไล่เรียงไปตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าว รถคันแรก บ้านหลังแรก ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ขึ้นเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท

การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหากมองแต่ด้านบวก ถือว่ารัฐบาลทำได้ออกดอกออกผลไม่น้อย เพราะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจปี 2555 ออกมาโตถึง 6.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายได้เพียง 5.5% เท่านั้น ถือว่าเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 1%

หลังจากที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้รัฐบาลเริ่มมีเวลาที่จะมาวางแผนจัดกำลังคนเข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปขับเคลื่อนในแบงก์รัฐและรัฐวิสาหกิจมีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

การเข้าคุมแบงก์รัฐและรัฐวิสาหกิจ มีทั้งในระดับนโยบายการส่งคนใกล้ชิดเข้าไปเป็นกรรมการ และในระดับปฏิบัติมีการส่งคนที่ไว้ใจได้สั่งได้เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการ

แบงก์รัฐที่เห็นได้ชัด คือ ธนาคารออมสิน ที่ล่าสุดมีการแต่งตั้ง ชูจิรา กองแก้ว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ธนาคารออมสิน เป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีเจ๊ ด. และอดีตนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผลักดันให้เข้ามานั่งในตำแหน่งนี้

ขณะเดียวกันก็มีการโยก วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ที่ไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เพียง 2 ปี มานั่งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ ซึ่งวรวิทย์มีสายสัมพันธ์แนบแน่น ทั้งเป็นเด็กสาย วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และเกี่ยวดองกับวรวิทย์

ยังมี ชัยธวัช เสาวพนธ์ ข้าราชการบำนาญ สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศรกวี ปูรณโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ที่มีสายสัมพันธ์กับตระกูลชินวัตร นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บริษัท ไทยคม นี่คือผู้ที่นั่งเป็นกรรมการแบงก์ออมสิน

ต้องยอมรับว่า ธนาคารออมสินถือเป็นแบงก์รัฐเฉพาะกิจที่เป็นแขนขาของรัฐบาลในการปล่อยสินเชื่อรากหญ้าพ่อค้าแม่ขาย และยังมีภารกิจเติมเงินกองทุนหมู่บ้านอีกหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ต้องเป็นคนสายตรงเข้ามานั่งคุมเท่านั้น

ขณะที่ ธอส.ก็มีการดัน อังคณา ไชยมนัส จากรองกรรมการผู้จัดการ เป็นกรรมการผู้จัดการ ธอส. คนใหม่ ซึ่งอังคณาถือว่าได้รับไฟเขียวจากนายใหญ่จากต่างแดน ชนิดเป็นตัวเก็งนอนมาตั้งแต่ยังไม่เปิดคัดสรร

ธอส.ถือว่ายังมีภารกิจสานนโยบายรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะการให้รากหญ้าเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หลังจากที่ผ่านมาสินเชื่อบ้านหลังแรกยังถือว่าทำไม่เข้าเป้า

มาที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการวางคนการเมืองเข้าไปคุมแบบเต็มตัว จากปกติที่ประธานเป็น รมว.คลัง แต่ครั้งนี้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มอบหมายให้ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ไปปฏิบัติหน้าที่แทน โดยวงในเป็นที่รู้กันว่าฝ่ายการเมืองไม่ปลื้มกิตติรัตน์ ในการทำหน้าที่ตำแหน่งนี้

สำหรับทนุศักดิ์ มีภารกิจจากฝ่ายการเมือง เข้าไปดูแลการจำนำข้าวของ ธ.ก.ส.ไม่ให้สะดุด ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเดินหน้าทำบัตรเครดิตเกษตรกรให้ได้ตามเป้า 2 ล้านใบ เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้คะแนนเสี่ยงจากประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าการดำเนินการจะทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากก็ตาม

คณะกรรมการธนาคารแห่งนี้ที่ถูกส่งมาล้วนเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงบทบาทรับใช้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างออกนอกหน้า ถึงขั้นเคยถูกตั้งคำถามว่า ปั้นตัวเลขเศรษฐกิจในเรื่องเงินเฟ้อจนถูกวิจารณ์อย่างหนักมาแล้ว และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการจำนำข้าวด้วย

ส่ง สมหมาย กู้ทรัพย์ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมทนายความให้กับลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในคดีสังหาร ด.ต.ยิ้ม แล้ว ยังเป็นทนายความคนเสื้อแดงด้วย

แต่งตั้ง ธนรัชต์ วิเชียรรัตน์ ผู้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีหลายคนของพรรคเพื่อไทยเป็นกรรมการ

แต่งตั้ง วศิน ธีรเวชญาณ เป็นกรรมการ วศินนั้นผู้มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) เพื่อทำหน้าที่การเจรจาในกรอบเจบีซีกับฝ่ายกัมพูชา ในรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ถูกวิจารณ์อย่างหนักก่อนถูกปลดออกในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่ฮือฮา คือ การส่ง วิรัติ ศักดิ์จิรพาพงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.นครศรีธรรมราช (สอบตก) พรรคไทยรักไทย ปี 2544 และ ทวีป ตันพิพัฒนกุล ที่ปรึกษา สส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย เข้าไปเป็นกรรมการ

เรียกว่า ส่งคนการเมืองเข้าไปเต็มพรืด ธ.ก.ส.

ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่หนี้เสียจากนโยบายรัฐ ก็ยังโดนฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรก เมื่อทนุศักดิ์ ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล ตั้งอนุกรรมการถึง 3 ชุด เข้าไปดูแลแบงก์ทุกด้าน ทั้งด้านการแก้หนี้เสีย การระดมเงิน และการปรับโครงสร้างองค์กร แสดงให้เห็นฝ่ายการเมืองเข้ายึดแบงก์นี้ยังเบ็ดเสร็จ

หนึ่ง มีคำสั่งแต่งตั้ง ภิญโญ ตั๊นวิเศษ ที่ปรึกษา รมช.คลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการกำกับติดตามการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อและการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มี ประภาศ คงเอียด ที่ปรึกษาด้านกฎหมายกระทรวงการคลัง ที่มาจากกระทรวงยุติธรรมเป็นกรรมการ

สอง แต่งตั้ง ธนาธร โล่ห์สุนทร ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.คลัง ปฏิบัติราชการประจำ รมช.คลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามและสนับสนุนการวางแผนทางการเงิน

ประธานคณะอนุกรรมการทั้งสองคนล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย

แม้แต่ธนาคารกรุงไทยก็ยังมีการปรับขบวนทัพ เมื่อมีการผลักดัน เบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร ขึ้นเป็นประธานอีกตำแหน่ง จากที่ก่อนหน้านี้นั่งเป็นประธานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นการตอบแทนข้าราชการสายบ้านจันทร์ส่องหล้า ที่ไม่ได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคลังตามที่ฝ่ายการเมืองวางไว้

นี่ไม่นับรวมกรรมการอีกส่วนหนึ่งเช่น วีรภัทร ศรีไชยา กรรมการอิสระและ กัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ อรุณภรณ์ ลิ่มสกุล ผู้ล้วนแล้วแต่มากคอนเนกชันกับตระกูลชินวัตร

ธนาคารกรุงไทย นอกจากเป็นแขนขาสนับสนุนปล่อยสินเชื่อตามนโยบายแล้ว ยังเป็นขุมทรัพย์ของนักการเมืองและนายทุนที่อิงแอบฝ่ายการเมือง การปล่อยกู้บริษัทค้าข้าวเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน กรณีบริษัทค้าข้าวเคยเป็นลูกหนี้ที่เกือบทำให้ธนาคารเสียหายเป็นหมื่นล้านบาทน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ขณะที่บริษัท ปตท. มีการโยกประธานกันใหม่อีกครั้ง ให้คนใหม่ขึ้นมาเชยชม โดยให้ ณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ลงจากเก้าอี้ประธาน เปิดทางให้ วิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีต รมช.คมนาคม สมัยรัฐบาลทักษิณ มานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพลังงานไทย

ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่าอากาศยาน บริษัท การบินไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต่างถูกคนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปคุมนโยบายและอำนาจการบริหารทุกหย่อมหญ้า

การเข้ายึดรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล ถือเป็นการกุมอำนาจองค์กรต่างๆ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงการต่างๆ ที่ฝ่ายการเมืองต้องการให้เกิด เพื่อทั้งประโยชน์ทางการเมืองและประโยชน์ของกลุ่มทุน และผลประโยชน์ของนักการเมืองนั่นเอง