posttoday

ร่อนตะแกรงสุขุมพันธุ์นั่งผู้ว่าฯ

11 มีนาคม 2556

แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาว กทม. แต่ ณ นาทีนี้ยังไม่อาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการ

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาว กทม. แต่ ณ นาทีนี้ยังไม่อาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการ

เหตุเพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ต้องถูกร่อนตะแกรงผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และยังตามด้วยเกมชิงไหวชิงพริบทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามหาช่องทางเตะสกัดระหว่างทาง

ปัญหาว่าจะฉุดรั้งคุณชายหมูล้มก่อนไปถึงลานเสาชิงช้ากลายเป็นแค่ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้หรือไม่

ด่านสกัดมาจากการยื่นเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต สว.สรรหา ที่รู้กันดีว่าคล้องแขนอยู่กับฝั่งเพื่อไทย ใน 3 ปมด้วยกัน

ปมที่ 1.กรณี ศิริโชค โสภา สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง 2.กรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ช่วยหาเสียงโดยปราศรัยว่า “อภิสิทธิ์เบอร์อะไร... (16) ประชาธิปัตย์เบอร์อะไร... (16)” และ 3.กรณีที่ เสรี วงษ์มณฑา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า “ใครก็ตามที่ไม่ต้องการให้เพื่อไทยยึดครองกรุงเทพฯ ปราการด่านสุดท้ายที่เหลืออยู่เราต้องถามตัวเองว่าจะลงคะแนนให้ใครที่จะทำให้ พงศพัศ ไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ คำตอบก็คือคุณชายสุขุมพันธุ์หมายเลข 16” ทั้ง 3 ปม กกต.จะพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 57(5) ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 หรือไม่

ทั้งนี้ คำร้องคัดค้านอยู่ในมือของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ที่มี พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา เป็นประธาน มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและรู้ทันทุกเล่ห์เหลี่ยมที่นักกฎหมายมืออาชีพมักใช้เล่นแง่โจมตีกัน แต่ด้วยบุคลิกตรงไปตรงมา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน กกต.กทม. ต้องทำตามหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

ผลจึงออกมาเป็นมติที่ประชุม กกต. ชุดใหญ่ 31 เสียง ยังไม่ประกาศรับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจาก พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ไม่ยอมลัดขั้นตอนก่อนรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง จึงได้ทำหนังสือแจ้งมายัง กกต.ชุดใหญ่ว่า ยังไม่ควรประกาศรับรองผล และขอเวลาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสประมาณ 15 วัน

ผนวกกับ อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ยังอยู่ระหว่างดูงานต่างประเทศ ทำให้คณะกรรมการ กกต. ยังไม่ครบองค์ประชุมโดยสมบูรณ์

โฟกัสไปที่มติ กกต. 1 เสียงนั้นเป็นของ ประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง ที่ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 48 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง จึงเห็นควรให้ประกาศรับรองผู้ว่าฯ กทม.ออกมาก่อน

แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 32 ให้อำนาจหน้าที่ กกต.สามารถสืบสวนสอบสวนกรณีผู้ได้รับเลือกตั้งมีเรื่องร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จยังสามารถให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อนได้

อีกทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ.องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ประกอบกับฝั่ง พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ได้ยืนยันแล้วว่าจะใช้เวลาในการสอบสวนคำร้องให้แล้วเสร็จในวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งนับว่าไม่ได้ทำให้เสียเวลามากเกินความจำเป็น

สังเกต กกต.พิจารณาแต่ละครั้ง ถ้าเรื่องร้องเรียนไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง มักปล่อยผ่าน เพราะไม่ถือว่าหนักหนาอะไร

ยิ่งตัวเลขประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีจำนวน 2,715,640 คน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 4,244,465 คน คิดเป็น 63.98% ส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้คะแนนอันดับ 1 รวม 1,256,349 คะแนน

เท่ากับว่าเป็นไปได้ยากที่ กกต.จะฉีกล้านคะแนนของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งมาไม่กี่วันทิ้ง แล้วอาศัยมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือให้เลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งย่อมส่งผลให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งรอบใหม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ คือ เกมตัดขาที่เล่นโดยกองเชียร์เพื่อไทยยังไม่จบลงง่ายๆ และร้อนแรงมากขึ้นด้วยการยื่นคัดค้านผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เข้ามาอีก การที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นเอกสารคำถอดเทปเสียงการปราศรัยของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ 12 เวที 48 วัน ความยาว 7 ชั่วโมง ให้เป็นภาระของ กกต.รับไว้พิจารณา

อีกทั้งดูสอดรับกันดีเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกโรงในระยะนี้ด้วยการเปิดความคืบหน้าคดีการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองให้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยวิธีการให้สภาผู้แทนราษฎรหักเงินเดือน สส.เข้าบัญชีพรรค พร้อมทั้งส่งหนังสือเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 14 มี.ค. อาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 57 วรรค 2 แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

ท้ายที่สุด วันที่ 12 มี.ค. กกต.ต้องตัดสินใจประกาศรับรองให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 เพราะไม่อาจสวนทางกับของคนกรุงกว่าล้านเสียงได้ จึงเป็นเพียงพิธีกรรมรับเรื่องสอบสวนไว้ก่อนเท่านั้น

เรื่องไหนไม่หนักหนาก็ปล่อยไป