posttoday

โพลเสื่อมกู่ไม่กลับหมดความเชื่อถือ

07 มีนาคม 2556

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เที่ยวนี้ นอกจากจะทำลายสถิติหลายด้านแล้ว

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เที่ยวนี้ นอกจากจะทำลายสถิติหลายด้านแล้ว ยังทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักโพลหลายแห่งแบบกู่ไม่กลับ

เมื่อนี่ไม่ใช่ความผิดพลาดครั้งแรก...เพราะหากย้อนไปเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 3 ก.ค. 2554 “ประชาธิปัตย์” กวาดที่นั่งมาแบบถล่มทลายในพื้นที่ กทม. สวนทางกับผลโพลที่ฟันธงให้ “เพื่อไทย” เป็นฝ่ายชนะ

ความผิดซ้ำสองในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้จึงยิ่งสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของสำนักโพลอย่างรุนแรง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูก ชี้ทิศทางโพลให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการได้

ยิ่งในวันที่ “เอกซิตโพล-เอนทรีโพล” ออกมาผิดพลาดแบบเละเทะไปในทิศทางเดียวกันเกือบหมด หรือหากย้อนไปดูรายละเอียดโพลที่ผ่านมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แคนดิเดตจากเพื่อไทยออกตัวนำตั้งแต่โค้งแรกจนโค้งสุดท้าย หนำซ้ำคะแนนยังค่อยๆ ทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แชมป์เก่าจากประชาธิปัตย์ แบบยากจะไล่ตามทันแต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งที่ออกมากลับไม่ได้สอดรับกับผลโพลที่ปรากฏ

นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เคยวิเคราะห์ในช่วงโค้งที่ 4 ว่า คะแนนของ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 16.7 จุดว่า อาจมาจากเหตุผลเรื่องการปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ประชาชนคาดไม่ถึงว่าจะใช้ถ้อยคำที่ขัดต่อบุคลิกภาพเรื่องความสุภาพและขัดต่อความคาดหวังของประชาชนที่เคยสนับสนุนในอดีต

รวมไปถึงยุทธศาสตร์ของประชาธิปัตย์ ที่รื้อฟื้นความทรงจำของประชาชนเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” ที่เป็นภาพความขัดแย้งรุนแรงแตกแยกของคนในชาติ ที่อาจเป็นผลเสีย เพราะประชาชนส่วนใหญ่เบื่อความขัดแย้งรุนแรงแต่อยากเห็นบ้านเมืองสงบร่มเย็นมากกว่า

ทว่า ยุทธศาสตร์นี้ที่ประชาธิปัตย์ยังยืนยันเดินหน้าแบบไม่กลัวกระแสตีกลับและใช้หาเสียงอย่างหนักในโค้งสุดท้ายดูจะไม่ทำให้คะแนนตกลงอย่างที่วิเคราะห์ไว้แต่อย่างไร

ก่อนหน้านี้ การลาออกของ “มานิจ สุขสมจิตร” นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สร้างแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ ว่ากันว่ามาจากที่มหาวิทยาลัยไปรับจัดทำเวทีเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 แห่งให้รัฐบาล งบประมาณ 168 ล้านบาท ซึ่งไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง

ที่สำคัญฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินไขก๊อกครั้งนี้มาจากการทำโพล!!!

“ผมไม่ได้บอกว่ามหาวิทยาลัยไปรับเงินจากใครมา เพียงแต่การทำโพล ต้องมีจริยธรรม ถ้าทำตรงไปตรงมา ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ได้”

“สุขุม เฉลยทรัพย์” ออกมายอมรับความผิดพลาดของ “สวนดุสิตโพล” พร้อมขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก “เอนทรีโพล” โดยจะนำผลการวิเคราะห์และประเมินความผิดพลาดนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาการทำโพลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดทำโพล ที่จะต้องวางแผนรัดกุมและเคร่งครัด ต้องมีการตรวจสอบดับเบิลเช็ก การสุ่มกระจายตัวอย่างต้องละเอียดรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่

ที่สำคัญต้องควบคุมตัวแปร โดยเฉพาะ “พฤติกรรมการให้ข้อมูลของคนกรุงเทพฯ” กระแสความนิยมที่ก่อให้เกิด “การเลื่อนไหลของข้อมูลตามกัน” การแข่งขันอย่างดุเดือดของฝ่ายที่แข่งขัน รวมทั้ง “ฐานเสียง” ของแต่ละฝ่าย ฯลฯ

ความผิดพลาดของสำนักโพลหลายสำนักที่ออกมา จะเกิดจากความจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความน่าเชื่อถือของผลโพลกำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก จนกระทบถึงผลโพลที่จะออกมาหลังจากนี้ ซึ่งย่อมถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือต่อไป

นั่นย่อมนำมาสู่ความปั่นป่วนต่อไป เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมาผลโพลหลายต่อหลายเรื่องถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มีกระแสคัดค้านจากสังคม

แต่หากหลังจากนี้ต่อไป ผลโพลที่ปรากฏออกมาไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของสังคมที่แท้จริง และไม่เป็นที่เชื่อถือในสังคม ย่อมไม่อาจชี้วัดหรือเป็นหลักอ้างอิงใดๆ ได้อีกต่อไป

ยิ่งในวันที่รัฐบาลกำลังจะเดินหน้าลุยเรื่องร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากต่อไปมีการอ้างอิงผลสำรวจต่างๆ เพื่อเดินหน้าลุยเรื่องเหล่านี้ ย่อมนำมาสู่การถกเถียงและบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในที่สุด

การเร่งกู้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสำนักโพลที่จะต้องเร่งเแก้ไขเพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่ระบบปกติ