posttoday

"แปรรูปรัฐวิสาหกิจจีน" ภารกิจใหญ่ชี้อนาคตผู้นำรุ่นใหญ่

05 มีนาคม 2556

เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้สำหรับการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้สำหรับการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน วาระสำคัญของการประชุมที่เป็นที่จับตามมองในครั้งนี้ ก็คือการขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีของ สีจิ้นผิง ต่อจาก หูจิ่นเทา อย่างเป็นทางการ ขณะที่ หลี่เค่อเฉียง ก็จะขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก เวินเจียเป่า อย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน

การเข้ารับตำแหน่งผู้นำอย่างเป็นทางการถือเป็นการตอกย้ำบทบาทการเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการกำหนดทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และอนาคตของประเทศจีนอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา สีจิ้นผิง ได้ขึ้นมาครองอำนาจในตำแหน่งที่เป็นรากฐานอำนาจสำคัญในการบริหารประเทศไปก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น การขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ การเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง (โพลิตบูโร) ของพรรค รวมไปถึงผู้นำกองทัพ

แน่นอนว่า การเข้ามารับตำแหน่งผู้นำของ สีจิ้นผิง อย่างเต็มตัว ที่มีขึ้นในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญทั้งปัญหานานัปการที่รุมล้อมเข้ามา ทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ปัญหาฟองสบู่ ช่องว่างการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำคนรวยคนจนในสังคมที่มีสูงมาก การทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์กับสหรัฐ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น รวมไปถึงบางประเทศในอาเซียนที่ไม่ค่อยจะสู้ดี จึงนับได้ว่าเป็นภาระงานของผู้นำแดนมังกรรุ่นที่ 5 ชุดนี้ ที่ท้าทายอย่างมาก

เพราะหากไม่เร่งแก้ไข อนาคตรัฐจีนก็คงจะต้องถึงคราวสูญสิ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากความอดทนอดกลั้นของประชาชนหลายพันล้านคนต่อปัญหาต่างๆ ที่สุมเข้ามากำลังเข้าใกล้จุดที่จะระเบิดออกมาแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำจีนรู้ดีอยู่เต็มอก

เห็นได้จากดัชนีความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Gini Co-efficent) ที่จีนมีคะแนนอยู่ที่ 0.474 จุด ซึ่งคะแนนดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้จะนำไปสู่ภาวะความวุ่นวายทางสังคมแล้ว เพราะนักวิเคราะห์ระบุไว้เลยว่าถ้าน้อยกว่านี้อีก 0.4 จุด จะถือว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะจลาจลและความไม่สงบในสังคมสูงมาก (คะแนน 0 จุดของดัชนีดังกล่าวหมายถึงความเท่าเทียมในสังคมอย่างสมบูรณ์ ขณะที่คะแนน 1 จุด หมายถึงความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ในสังคม)

ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่การขึ้นมาของ สีจิ้นผิง จะต้องมาพร้อมกับแนวทางการปฏิรูปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ดังเห็นได้จากการที่ สีจิ้นผิง ได้ริเริ่มมาตรการต่างๆ ออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ขึ้นกุมบังเหียนบริหารประเทศอย่างเต็มตัว เช่น การยกเลิกการจัดงานเลี้ยงที่หรูหราอู้ฟู่ของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง การลดขนาดการจัดงานต้อนรับผู้นำระดับสูงลง รวมไปถึงการรณรงค์เร่งปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกันเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนก็ได้มีการเสนอให้มีการเก็บภาษีคนรวยและให้รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้าคลังหลวงมากขึ้น เพื่อนำรายได้มาจุนเจือและเสริมความแข็งแกร่งของกองทุนสวัสดิการต่างๆ ของรัฐให้มากขึ้น และเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หลังจากที่พบว่าเศรษฐี 1 ใน 5 ของโลกจะอยู่ในเมืองจีน โดยมีทรัพย์สินรวมกันถึง 3.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.51 ล้านล้านบาท) ทว่าประชาชนอีก 13% ของประเทศหรือประมาณ 170 ล้านคน ยังมีชีวิตอยู่อย่างขัดสน โดยมีรายได้ไม่เกินวันละ 1.25 เหรียญสหรัฐ (ราว 3540 บาท)

นอกจากนี้ ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนที่เริ่มต้นขึ้นในวันนี้ ก็คาดว่าจะมีการเสนอการปฏิรูประบบราชการด้วยการผนวกรวมกระทรวงและหน่วยงานบางหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อลดความล่าช้าในการบริหารการสั่งงานและทำให้การทำงานเกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การรวมกระทรวงบริหารดูแลระบบรางให้เข้ามาอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อการประสานงานที่คล่องตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้นำจีนจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันการปฏิรูปเพื่อมุ่งแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาในข้างต้นอย่างแรงกล้า แต่ปัญหาและโจทย์ใหญ่สำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าการปฏิรูปของ “สีจิ้นผิง” คือของจริงแท้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการยกเครื่องและเร่งแปรรูปเหล่ารัฐวิสาหกิจในประเทศ

เพราะต้องบอกเลยว่าภาครัฐวิสาหกิจคือที่มาและเป็นรากของปัญหาหลายๆ ด้านของจีน เนื่องจากแนวทางการอุ้มชูส่งเสริมรัฐวิสาหกิจแดนมังกรในหลายๆ ด้านที่มากเกินไป ทั้งการเปิดให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ที่ต่ำเกินจริง การใช้ระบบพวกพ้อง โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บริหารที่มีที่มาจากคนสนิทของนักการเมืองและผู้มีอำนาจเข้าไปบริหาร ก็ได้ทำให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เหล่านี้กลายเป็นภาระและคอยถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ จนนำไปสู่การทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอกชนภายในประเทศในระยะยาวทางอ้อมอีกด้วย

“ถ้าผ่านพ้นปีนี้ไป และจีนยังไม่มีการเร่งปฏิรูปและออกแผนการลงมือขนานใหญ่ในภาครัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงตลาดการเงินให้เสรีขึ้น การเติบโตและขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอนาคตย่อมไม่มีทางจะกลับมาร้อนแรงได้เหมือนเช่นในอดีตอย่างแน่นอน นอกจากนี้ความชอบธรรมและกระแสความนิยมของ สีจิ้นผิง ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำการปฏิรูปไปได้ไกลแค่ไหน” อาลิสเทียร์ ทอร์นตัน นักวิเคราะห์จากไอเอชเอสโกลบอลอินไซต์ กล่าว

ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ก็ออกมาให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง จีนก็จะไม่สามารถหลุดพ้นไปจากกับดักของประเทศที่มีรายปานกลางไปได้ แม้ว่าใน 30 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างร้อนแรงก็ตาม

ด้านนักวิเคราะห์บางส่วนถึงกับชี้เลยว่า ถ้าหากไร้ซึ่งการปฏิรูป โดยเฉพาะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในไม่เกินอีก 10 ปีข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะลดลงมาเหลืออยู่ที่ราวๆ 5% เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้ต่อไป และค่าแรงภายในที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้สถานะการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหลักของโลกไม่อาจคงอยู่ได้ต่อไป

ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีรายงานข่าวจากรอยเตอร์สออกมาก่อนการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนที่จะมีขึ้นในวันนี้ ว่า กลุ่มนักธุรกิจเอกชนกลุ่มหนึ่งได้เตรียมแผนจะขอเข้าพบคณะผู้นำจีน ในระหว่างนอกรอบการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน เพื่อหวังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปและแปรรูปรัฐวิสาหกิจขึ้น ถ้าการผลักดันสำเร็จ จะถือเป็นการยกเครื่องและปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ต่อจากการเปิดรับระบบกลไกตลาดในปี 1978 เป็นต้นมา

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจีนจะต้องเร่งแก้ไข ทว่าการลงมือดำเนินการนั้นไม่ใช่เรื่อง่ายเลย เนื่องจากการลงมือปฏิรูปดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์และฐานอำนาจเดิมที่มีบทบาทสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์และได้ประโยชน์จากการคงสถานะเดิมของรัฐวิสากิจเหล่านั้นเอาไว้

และที่สำคัญกว่านั้น คือ ผู้นำชุดใหม่และเหล่าบรรดาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิด ซ้ำร้ายบางคนยังเป็นญาติพี่น้องกันอีก เช่น ลูกชายของ หลี่เค่อเฉียง ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นถึง 1 ใน 4 ผู้ช่วยผู้อำนวยการของรัฐวิสาหกิจผลิตบุหรี่แห่งหนึ่ง และรัฐวิสาหกิจนี้ซึ่งครองส่วนแบ่งของตลาดไว้ในกำมือมากถึง 98% ก็สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างมหาศาลด้วย

ฉะนั้น หลายฝ่ายจึงกังวลว่า การดำเนินการปฏิรูปอาจไม่เกิดขึ้นจริง หรือหากมีก็ทำได้เพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น

จึงเป็นที่น่าติดตามว่า นับจากวันนี้ไปผู้นำจีนคนใหม่จะผลักดันการปฏิรูปออกมาได้จริงจังแค่ไหน