posttoday

ศึกเล็กผ่านไปศึกใหญ่รออยู่

04 มีนาคม 2556

ในที่สุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ในที่สุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนนทิ้งห่างนับแสนคะแนน รักษาเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เอาไว้ได้อีกสมัย

ถึงการเลือกตั้งสนามเล็กจะจบลงไปแล้ว แต่ความขัดแย้งการเมืองระลอกใหม่จะกลับมาอีกครั้ง โดยมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเดิมพัน

สถานการณ์แรกที่รัฐบาลต้องเผชิญหนีไม่พ้นความขัดแย้งภายในจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

โดยเฉพาะท่าทีจาก “กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล” ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องและความกดดันมายังรัฐบาลแล้วว่าต้องการให้เริ่มนับหนึ่งกระบวนการนิรโทษกรรมให้กับมวลชนเสื้อแดง ภายหลังพรรคเพื่อไทยเสร็จสิ้นภารกิจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ถามใจพรรคเพื่อไทยเวลานี้ไม่ได้ต้องการทำอะไรที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลอย่างการนิรโทษกรรม เพราะมองว่าเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวพอสมควร

แม้ว่าก่อนหน้านี้ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเดินเกมเอาไว้บ้างแล้วจากการเชิญตัวแทนพรรคและแกนนำมวลชนมาหารือร่วมกัน เพื่อเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้มวลชนตัวเองเห็นประหนึ่งว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงการซื้อเวลาของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

การซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ของพรรคเพื่อไทยย่อมไม่เป็นผลดี แต่แรงกดดันจากคนเสื้อแดงจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว บานปลายลามไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาลในอนาคต

ครั้นพรรคเพื่อไทยจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเอาใจเสื้อแดงก็เสี่ยงต่อการถูกมวลชนเสื้อเหลืองและกลุ่มอื่นๆ ออกมาต่อต้านจนเร่งอุณหภูมิการเมืองให้สูงขึ้น

เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ในระหว่างการเตรียมตัวทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนร่วมกันลงความเห็นว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ ซึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดงก็รุมเร้าอยากให้พรรคเพื่อไทยเร่งเดินหน้า เพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งการล้มการรัฐประหาร 2549

แต่จากความพ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เพิ่งผ่านไปย่อมเป็นตัวกระตุกให้รัฐบาลฉุกคิดได้เหมือนกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

ขณะที่ การปรับคณะรัฐมนตรี น่าจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวในเร็วๆ นี้เช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าวังวนแห่งความขัดแย้งจะคงอยู่กับพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิมและขบวนการทวงบุญคุณจะอุบัติขึ้น

ในส่วนของแกนนำ นปช.จะออกมากดดันให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่มโควตารัฐมนตรีให้กับเสื้อแดงจากเดิมมีเพียง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพียงคนเดียว

ยังไม่นับรวมกับกลุ่มก๊วนภายในพรรคที่จะออกฤทธิ์ทวงสัญญาใจจากนายใหญ่ที่เคยบอกว่าจะให้โอกาสได้ลิ้มลองตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีบ้าง

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเอาคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรี แต่อยู่ที่การเอาคนเก่าออกจากเก้าอี้อย่างไรไม่ให้เกิดรอยร้าวในพรรคมากกว่า

นอกเหนือไปจากเรื่องการเมืองแล้ว การบริหารความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ถือเป็นงานใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่เช่นกัน

รัฐบาลพยายามสร้างผลงานผ่านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

กฎหมายกู้เงินฉบับนี้มีคิวจะเข้าสภาผู้แทนราษฎรภายในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติก่อนหมดสมัยประชุมในวันที่ 18 เม.ย. ตอนนี้เหลือเพียงขั้นตอนการกลั่นกรองในรายละเอียดอีกเล็กน้อยเท่านั้น

การกู้เงินของรัฐบาลครั้งประวัติศาสตร์กำลังถูกวิจารณ์ว่า เป็นการสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนและประเทศ

เนื่องจากมีผลการวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าการกู้เงินจะสร้างหนี้ต่อหัวให้กับคนไทยถึง 1.1 แสนบาท จากเดิม 7.5 หมื่นบาท

ผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจจากผลพวงของนโยบายประชานิยม ซึ่งกำลังก่อตัวเป็นระเบิดเวลาอยู่ เช่น ค่าแรง 300 บาท และรถคันแรก เป็นต้น

โดยมีความเป็นไปได้ที่ปัญหาเหล่านี้กระทบต่อการบริหารงานรัฐบาลในระยะยาว แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากเต็มสภาที่เพียงพอต่อการปั๊มกฎหมายกู้เงินออกมาใช้อยู่แล้วก็ตาม

ทั้งหมดนี้หากรัฐบาลผ่านไปไม่ได้ การเลือกตั้งใหญ่อีก 2 ปีข้างหน้าอาจสร้างปัญหาให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างคาดไม่ถึง