posttoday

แผนลดขาดดุลมะกันเหลวผิดเวลา ผิดทาง ขวางเศรษฐกิจ

04 มีนาคม 2556

ทันทีที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ จรดปากกาลงนามรับรองคำสั่งมาตรการตัดลดงบประมาณแบบเหมารวม(ซีเควสเตรชัน)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ทันทีที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ จรดปากกาลงนามรับรองคำสั่งมาตรการตัดลดงบประมาณแบบเหมารวม(ซีเควสเตรชัน) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการเจรจาหาทางออกกับพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสล้มเหลว กริ่งเตือนถึงอันตรายการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็เริ่มส่งเสียงดังให้ได้ยินอย่างชัดเจน

เพราะการกระทำดังกล่าวคือการส่งสัญญาณว่า อีกไม่นานประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกจะเดินหน้าเข้าภาวะรัดเข็มขัดอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นหนทางที่ แอนดรูว์ ฟิลด์เฮาส์ นักวิเคราะห์นโยบายงบประมาณรัฐจากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจในวอชิงตัน เห็นว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการประหยัดรายจ่ายภาครัฐท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเซื่องซึมจะสร้างความเสียหายมากกว่าเป็นผลดีต่อการเติบโตประเทศ

ความเห็นข้างต้นสอดคล้องกับนักวิเคราะห์อีกหลายสำนักที่กล่าวตรงกันว่า ไม่ว่าอย่างไรสหรัฐก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการจัดการกับการขาดดุลงบประมาณของตนเอง ทว่าการทำตามแผนซีเควสเตรชันในขณะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวจากวิกฤตก่อนหน้าไม่เต็มที่ รังแต่จะทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงต่ำที่สุดอย่างน้อยในรอบ 50 ปี

ขณะเดียวกัน นอกจากจะเลือกจัดการกับการขาดดุลงบประมาณไม่ถูกเวลาแล้ว รัฐบาลสหรัฐยังเลือกตัดลดค่าใช้จ่ายไม่ถูกทาง เพราะแทนที่จะทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลง กลับจะให้ผลในทางตรงกันข้ามในระยะยาว และส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศสหรัฐโดยรวม

สำหรับผลกระทบหลักใหญ่และหนักที่สุดจากมาตรการซีเควสเตรชันครั้งนี้ก็คือ บรรดาโครงการที่ถือเป็นรายจ่ายจำเป็นของรัฐ เช่น กองทัพและความมั่นคง การศึกษา การบริการ การสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และโครงการช่วยเหลือแก้ไขความยากจนต่างๆ เนื่องจากโครงการเหล่านี้จะกำหนดงบประมาณเป็นรายปีตายตัว ทำให้ง่ายต่อการจัดการตัดลดมากกว่าโครงการสวัสดิการเงินบำนาญ หรือภาษีที่มีกฎหมายกำกับดูแลอีกขั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ เหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงโครงการข้างต้นได้ออกโรงเตือนก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้วว่า หากรัฐบาลยอมให้เกิดการตัดลดแบบเหมารวม สถานการณ์ที่จะได้เห็นมีตั้งแต่คิวรอแถวในสนามบินจะยาวขึ้น การรอข้ามพรมแดนจะนานขึ้น การตรวจตราชายฝั่งจะลดน้อยลง ครูจะตกงานและนักเรียน ตลอดจนโครงการศึกษาพิเศษจะหดหายไป

เหตุผลเพราะโครงการรัฐเหล่านี้จำต้องเลือกตัดลดค่าใช้จ่ายที่ทำได้ง่ายที่สุดก่อน คือ การตัดลดกำลังคน ซึ่งล่าสุดในขณะนี้หน่วยงานรัฐหลายแห่ง เช่น สหภาพแรงงานรัฐ ได้วางแผนสั่งพักงานลูกจ้างแบบไม่จ่ายเงินเดือนแล้ว โดยมีระยะเวลาหยุดตั้งแต่อาทิตย์ละ 1 วัน ไปจนถึงต่อเนื่องกันเกือบ 1 เดือน เพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้มีแรงงานว่างงานสูงถึง 7.5 แสนตำแหน่ง ภายในสิ้นปี 2556

และกลายเป็นห่วงโซ่กระทบภาคเศรษฐกิจจริงที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากพลเรือนส่วนใหญ่มีรายได้เข้ากระเป๋าน้อยลง หรืออยู่ในสภาพตกงานเพิ่มมากขึ้น แถมยังเลวร้ายกว่าตรงที่รัฐบาลไม่จ่ายเงินช่วยเหลือการว่างงานอีกต่อไป

นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังทำแบบผิดทาง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หลายราย เช่น วิลเลียม เกรล จากสถาบันบรูคกิง ยังเห็นอีกว่าการที่รัฐบาลเลือกที่จะจัดการกับค่าใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นต่อการวิจัยพัฒนาและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาว มากกว่าการแตะเรื่องการปฏิรูประบบเงินบำนาญและการจัดเก็บภาษีเพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น เป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง

เพราะสุดท้าย ต่อให้รัฐสามารถตัดลดยอดการขาดดุลด้วยสารพัดวิธีประหยัดได้จริง แต่หากรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้า รัฐบาลสหรัฐย่อมหนีไม่พ้นคำว่า “ขาดดุล” โดยสำนักงานงบประมาณสภาคองเกรส(ซีบีโอ) ประเมินว่า ต่อให้แผนตัดลดงบประมาณอัตโนมัติมีผลบังคับใช้เต็มที่ ตัวเลขการขาดดุลในปี 2558 ก็จะลดระดับอยู่ที่ 2.4% ต่อจีดีพี ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ต่อจีดีพี ในปี 2565 อยู่ดี

ทั้งนี้ ซีบีโอได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า การขาดดุลงบประมาณปี 2556 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ส.ค.นี้ จะลดลงมาอยู่ที่ 8.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5.3% ต่อจีดีพี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2551 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจไม่ต่ออายุลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้คลังสามารถเก็บเงินได้ถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับมองในแง่ดีว่า สถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายเกินไป เนื่องจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันน่าจะหาทางยุติมาตรการซีเควสเตรชันได้ เพราะยังพอมีเวลาก่อนที่ปีงบประมาณ 2555 จะสิ้นสุดในวันที่ 27 มี.ค. หรือก่อนที่มาตรการซีเควสเตรชันจะมีผลต่องบประมาณภาครัฐทั้งระบบในอีก 7 เดือนข้างหน้า

และสิ่งที่น่าคิดวิตกมากกว่า คือ สหรัฐจะตัดลดงบขาดดุลได้เท่าไรและด้วยวิธีใด