posttoday

เงินออมหด หนี้พุ่งเศรษฐกิจจะยุ่งระยะยาว

04 มีนาคม 2556

การส่งสัญญาณเตือนภาวะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ “น่าเป็นห่วง”

โดย...จตุพล สันตะกิจ

การส่งสัญญาณเตือนภาวะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ “น่าเป็นห่วง” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการแถลงภาวะสังคมเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับ “ข้อกังวล” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมากระตุ้นเตือนสังคมในประเด็นหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา

นั่นเพราะอัตราการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน “ยังคง” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหนี้สินส่วนบุคคล ที่เป็นหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า มีการขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 1520% ทุกไตรมาสนับแต่ต้นปี 2554 โดยไตรมาส 4 ปี 2555 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 21.6% ส่งผลให้หนี้สินส่วนบุคคลที่เป็นหนี้เพื่อการบริโภคมีมูลค่าสูงถึง 2.91 ล้านล้านบาท

หรือเท่ากับ 25.6% ของจีดีพี (ขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสิ้นปี 2555 มีมูลค่า 11.36 ล้านล้านบาท) ในขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปัจจุบันอยู่ที่ 43.99% (หนี้สาธารณะเดือน ธ.ค. 2555 อยู่ที่ 4.96ล้านล้านบาท)

“หนี้สินครัวเรือนเป็นดัชนีที่สะท้อนความมั่นคงของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่การมีกินมีใช้เท่านั้น หากครัวเรือนมีการใช้จ่ายเกินตัว มีหนี้สินล้นพ้นตัวจะมีผลต่อความมั่นคงของครัวเรือนระยะยาว” ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สศช. ระบุ

ขณะที่การเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนไตรมาสล่าสุด พบว่า สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 33.9% และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 29.4% โดยสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและลีสซิงมียอดคงค้างรวม 2.51 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนสินเชื่อเพื่อที่พักอาศัยขยายตัวเพียง 12.4% เท่านั้น

สะท้อนได้ว่าแนวโน้มการก่อหนี้สินครัวเรือนขณะนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิด “สินทรัพย์” ในระยะยาว แต่เป็นการก่อหนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอย

และนั่นก็ต้องยอมรับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลพวงจากนโยบายสร้างกำลังซื้อในประเทศของรัฐบาลก็ว่าได้ ทั้งการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน การอัดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการบริโภคและอุปโภคในที่สุด

“หากคนมั่นใจว่ามีรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่อง การก่อหนี้เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องปกติของระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องย้อนถามกลับไปว่ารายได้เหล่านั้นถาวรหรือไม่ และในอนาคตคนเหล่านี้ยังจะมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและชำระหนี้สินที่มีอยู่หรือไม่” นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ แห่งมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุ

นิพนธ์ เปรียบเทียบว่า สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์แจกเช็ค 2,000 บาท ให้กับคนมีเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท แต่ไม่พบว่ามีสัญญาณก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพราะคนรู้ว่าตรงนั้นเป็นมาตรการชั่วคราว

ส่วนประเด็นหนี้สินครัวเรือนนั้น นิพนธ์ ระบุว่า การวิเคราะห์ตรงนี้ต้องแยกตามประเภทครัวเรือน คือ 1.ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่ได้อานิสงส์จากค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน 2.ครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และ 3.กลุ่มครัวเรือนชั้นกลางที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการรถยนต์คันแรก

“หนี้สินโครงการรถคันแรกถือว่าน่าห่วงที่สุด เพราะเมื่อพิจารณารายได้ของคนที่ซื้อรถ ส่วนใหญ่เป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานมีเงินเดือนระดับ 2 หมื่นบาท หักค่าเช่าบ้านและใช้จ่ายก็แทบจะไม่เหลือเงินสำหรับผ่อนรถยนต์ ซึ่งผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าการที่กรมสรรพสามิตจะไปไล่ฟ้องตามเงินคืนจากประชาชนจะมีหน้าตาอย่างไร” นิพนธ์ กล่าว

เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทของรัฐบาล ก็สมควรต้องตั้งคำถามเช่นกันว่า หากโครงการที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนเกือบครึ่งประเทศ “ไปไม่ไหว” จะเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่ตัวโครงการรับจำนำข้าวเปลือกถือว่าเป็นโครงการที่สร้าง “หายนะ” ระดับทีเดียว

แต่กระนั้น นิพนธ์ มองว่า การก่อหนี้สินของครัวเรือนที่มีฐานะปานกลางและระดับล่าง จะไม่นำไปสู่วิกฤตหรือเกิดผลกระทบระดับรุนแรงต่อเศรษฐกิจมหภาค เพราะขนาดของหนี้สินน้อยเมื่อเทียบกับหนี้ในระบบเศรษฐกิจ ต่างจากการก่อหนี้สินของ “คนรวย” ที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

“ในระยะสั้นๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น นั่นคือ ปัญหาสังคม อาชญากรรม และคุณภาพชีวิตที่ลดลง ขณะที่นโยบายประชานิยมของรัฐบาลหลายๆ ชุด ทำให้คนไทยขาดวินัยในการใช้จ่ายและมีการใช้เงินเกินตัว ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยเสียให้คนไทยในระยะยาว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากมีการก่อหนี้สูงๆ กระจายไปยังครัวเรือนทุกกลุ่ม” นิพนธ์ ระบุ

นอกจากนี้ การบ่มเพาะนิสัยการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ “ไม่มีเหตุมีผล” ยังมีผลต่อโฉมหน้าการเลือกตั้งและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคตด้วย เพราะทุกพรรคการเมืองต่างโถมนโยบายประชานิยม“ลด แลก แจก แถม” หนักมือขึ้น เพื่อชนะการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาลที่จะตามมา

อย่างไรก็ตาม นิพนธ์ ยอมรับว่า วงการนักเศรษฐศาสตร์ขณะนี้ ยังไม่มีใครคิดค้นโมเดลหรือภาพจำลองเศรษฐกิจว่า หากโครงการประชานิยมของรัฐบาลมีปัญหาจะสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจระดับใด เพราะรูปแบบนโยบายประชานิยมที่ไทยทำอยู่นี้ ไม่เหมือนกับประเทศใดๆ เลย เพราะนโยบายนี้รุกคืบไปยังกลุ่มคนชั้นกลาง นอกจากคนฐานราก

ทว่าปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจากการแถลงภาวะสังคมของ สศช. คือ แนวโน้มหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยไตรมาส 4 ปี 2555 มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 28.1% โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 20.5%

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีสัญญาณตั้งแต่ไตรมาสแรก ปี 2555 โดยสัดส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2554 ที่สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อ ลดลง 0.5% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลขณะนั้น เป็นผลพวงจากเหตุการณ์น้ำท่วมปลายปี 2554

แต่ไตรมาส 2 ปี 2555 หนี้เอ็นพีแอลขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก คือ เพิ่มขึ้น 13.2% และหนี้เอ็นพีแอลขยายตัวสูงถึง 25.1% ในไตรมาส 3 ก่อนลดลงเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ที่ขยายตัวในระดับ 20.5%

เรียกได้ว่าปี 2555 หนี้เอ็นพีแอลจากการบริโภคทะยานขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการบริโภค อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้ากระเป๋าประชาชนทุกรูปแบบ เพิ่มกำลังซื้อคนที่มีรายได้น้อย ปั่นเศรษฐกิจให้ขยายตัว 56% ต่อปี แต่หนี้เสียกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ทิ้งปมให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องขบคิดหาสาเหตุ

แต่นั่นกลับเป็นการสะท้อนวินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยได้อย่างดี คือ คนมีเงิน แต่ยอมไม่จ่ายหนี้ หรือก่อหนี้ก้อนใหม่และทิ้งหนี้เก่าปล่อยให้เป็นหนี้เสีย

“บางคนมีเงินเดือน 2 หมื่นบาท นำเงินไปดาวน์และผ่อนรถยนต์คันแรก บางคนก็ซื้อสมาร์ตโฟนเครื่องละ 2 หมื่นบาท จ่ายค่าผ่อนเดือนละ 2,000 บาท แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเช่นนี้ เพราะในช่วงที่หลังน้ำท่วมใหญ่ครัวเรือนมีภาระต้องซ่อมแซมบ้านเรือนจำนวนมาก” แหล่งข่าวจากธุรกิจเช่าซื้อหรือลีสซิงตั้งข้อสังเกต

ไม่เพียงเท่านั้น สศช.ให้ข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบหนี้สินเทียบกับการออมจะพบว่า ในขณะที่ครัวเรือนมีการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราการออมของครัวเรือนกลับอยู่ในระดับ 5.29% ต่อจีดีพี โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีการก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28,883 บาทต่อปี และมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อรายได้เป็น 1.9 เท่า

“ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นและการออมต่ำ จะส่งผลกระทบในช่วง 10 ปีจากนี้ไป เพราะไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้คนแก่ที่อยู่ตัวคนเดียว โดยเฉพาะคนแก่ในเมืองใหญ่ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น ส่วนรัฐบาลเองต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ” ทีมงานจัดทำรายงานภาวะสังคม สศช.ระบุ

และนั่นส่งผลให้เงินงบประมาณของประเทศที่มีจำนวนจำกัด ถูกใช้ไปกับการจัดสวัสดิการสังคมแทนเงินออมของครัวเรือน

สอดคล้องกับ กิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การออมของครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่หนี้สินครัวเรือนสูงถึง 2526% ของจีดีพี ถือว่าน่าห่วงเทียบกับประเทศที่เตรียมเข้าสู่สังคมคนแก่ ซึ่งส่วนใหญ่หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 10% ของจีดีพี แต่ก็นับว่าครัวเรือนไทยมีระดับการกินดีอยู่ดีขึ้นจากนโยบายประชานิยม

“ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหยุดนโยบายประชานิยมที่ทำกันมาเป็น 10 ปีแล้ว บางเรื่องก็ต้องปรับเปลี่ยน ที่สำคัญหันมาให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่คนรวยและคนจนที่มีรายได้แตกต่างกัน 20 เท่า และเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนให้มากขึ้น” กิตติ ระบุ

แม้หนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ครัวเรือนไทยกลับสูญเสียวินัยการเงิน เป็นปัญหาใหญ่และไม่เป็นผลดีต่อประเทศเลย