posttoday

หลบกระแสตีกลับดีเอสไอถอยคดีโรงพัก

22 กุมภาพันธ์ 2556

เริ่มออกอาการแปลกๆ ให้เห็นแล้ว สำหรับการทำคดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง หลังจาก “ธาริต เพ็งดิษฐ์”

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เริ่มออกอาการแปลกๆ ให้เห็นแล้ว สำหรับการทำคดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง หลังจาก “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตัดสินใจไม่เรียก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาชี้แจง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทุบโต๊ะเสียงดังว่าจะเรียกทั้งสองคนมาที่ดีเอสไอให้ได้

“ดีเอสไอพบหลักฐานสำคัญว่าก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกคำสั่งอนุมัติก่อสร้าง จากรายกองบัญชาการ 19 มาเป็นการประมูลแบบรวมสัญญาว่า บริษัทผู้รับเหมาเคยรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านถึงอภิสิทธิ์และสุเทพ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล สตช.ในขณะนั้นแล้ว

ดีเอสไอจึงเห็นควรว่าจำเป็นต้องเรียกอภิสิทธิ์ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเช่นกัน และหากพบว่ามีมูลความผิด ก็ต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อไป” คำประกาศขึงขังจากเจ้ากรมดีเอสไอ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.

หากจะเอาเหตุผลที่ดีเอสไออ้างว่ามีหลักฐานเพียงพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเรียก “อภิสิทธิ์สุเทพ” มาให้ถ้อยคำ ก็นับว่ามีเหตุมีผลเหมือนกัน เพราะคดีนี้ในมุมของดีเอสไอเห็นว่าไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก โดยเป็นเพียงเรื่องการทำให้รัฐเกิดความเสียหายจากการใช้อำนาจอนุมัติโครงการ เอกสารการลงนามในคำสั่งต่างๆ ก็ปรากฏชัดเจน

ที่สำคัญดีเอสไอไม่มีอำนาจไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยสมบูรณ์ ถ้าเทียบกับ ป.ป.ช. เนื่องจาก พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ให้อำนาจดีเอสไอไว้อย่างจำกัด ซึ่งไม่อาจเข้าไปไต่สวนถึงนักการเมืองได้ เลยตัดปัญหาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อแทน

แต่หากใช้เหตุผลทางการเมืองก็นับว่ามีน้ำหนักไม่แพ้กัน

คดีนี้แม้จะไม่มีความลึกลับมาก แต่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและถูกขอความร่วมมือในการตรวจสอบ เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นต้น

โดยเฉพาะกับ สตช.ที่เข้ามาพัวพันโดยตรง ซึ่งดีเอสไอได้เรียกอดีต ผบ.ตร.มาชี้แจงแล้วหลายคน รวมถึง “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผบ.ตร.คนปัจจุบันด้วย

ปรากฏว่า ทันทีที่ดีเอสไอเตรียมเรียกบิ๊กอู๋มาให้ข้อมูลกลับต้องถอยไม่เป็นท่า เมื่อบิ๊กตำรวจรายนี้แสดงอาการไม่พอใจอย่างแรง โดยมองว่าดีเอสไอไม่ให้เกียรติ จน ธาริต ประกาศขอโทษผ่านสื่อมวลชนและเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ ด้วยตัวเอง

หาก “ธาริต” เดินหน้าคุ้ยคดีนี้ต่อไปอีก อาจต้องเผชิญหน้ากับ สตช.อีก เพราะ คณะกรรมการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาร้องทุกข์ดำเนินคดีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่ง ที่มี พล.ต.อ.เจตน์ มงคลหัตถี ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธาน สรุปว่าการจัดซื้อจัดจ้าง การทำทีโออาร์โครงการดังกล่าวยังไม่พบจุดใดที่เข้าข่ายว่าตำรวจถูกฉ้อโกง

นอกจากนี้ การขุดคุ้ยคดีนี้ทำให้ดีเอสไอเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมือง เนื่องจากอยู่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะคู่แข่งคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องออกมาตอบโต้

การตอบโต้ของประชาธิปัตย์นำมาสู่การเปิดแผลพรรคเพื่อไทยสะเทือนไปถึง “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ผู้สมัครของพรรค หลังจากฝ่ายค้านนำหลักฐานมาแสดงว่าบิ๊กจูดี้เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. มีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาลงนามเห็นชอบกับโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังตามมาด้วยปมสำคัญที่ดีเอสไอไม่สามารถสลัดให้พ้นตัวได้อย่างน้อย 2 ประเด็น

1.ทำไมดีเอสไอไม่ตรวจสอบรัฐบาลชุดนี้ในฐานะผู้บริหารสัญญาที่เห็นแจ้งแล้วว่าความเสียหายกำลังเกิดขึ้น แต่ยังปล่อยให้มีการขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก

2.ถ้าใช้ตรรกะในการสอบสวนอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ว่าเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดก็ควรใช้แนวทางนี้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในปัจจุบันเช่นกัน แต่ทำไมดีเอสไอไม่ดำเนินการ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องยากที่ดีเอสไอจะอุ้มเผือกร้อนต่อไป เพราะที่ผ่านมาเห็นผลแล้วว่ายิ่งตรวจสอบยิ่งโยงถึงคนในรัฐบาลชุดนี้ด้วย

ครั้นจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ดีเอสไอย่อมถูกมองได้ว่ากำลังเลือกปฏิบัติเพื่อหวังผลทางการเมืองให้พรรคเพื่อไทยได้เปรียบในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยในช่วงโค้งสุดท้าย

สู้รีบสรุปสำนวนทั้งหมดให้ ป.ป.ช.รับไม้ต่อเพื่อตัดปัญหาดีกว่า เพราะกว่าที่ ป.ป.ช.จะนับหนึ่งเริ่มกระบวนการได้ก็คงจะเป็นหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว ถึงเวลานั้นถ้า ป.ป.ช.จะเรียกบิ๊กประชาธิปัตย์และเพื่อไทยไปไต่สวนย่อมไม่ถูกกระแสกดดันมากเท่ากับการให้ดีเอสไอเช็กบิลเอง

สรุปว่าใส่เกียร์ถอยเพื่อรักษาตัวไว้ดีกว่าเดินหน้าแต่ของเข้าตัว