posttoday

เสรีน่านฟ้าส่อสะดุดชนวนสกัด"เออีซี"อาเซียน

22 กุมภาพันธ์ 2556

นับถอยหลังเหลืออีกเพียงปีกว่าๆ ที่ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นับถอยหลังเหลืออีกเพียงปีกว่าๆ ที่ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเต็มรูปแบบตามที่ตกลงกันไว้ภายในปี 2558

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จะกลายเป็นตลาดเดียวที่มีฐานการผลิตร่วมกัน ขณะเดียวกันก็สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมือได้อย่างเสรีมากขึ้น และพ่วงด้วยกำลังการบริโภคจากประชากรในภูมิภาครวมกว่า 600 ล้านคน

ต้องยอมรับว่า ในห้วงโมงยามนี้ชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต่างเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจร่วมกันมากขึ้น และหนึ่งในความร่วมมือที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ ในฐานะกุญแจสำคัญที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างภูมิภาคเป็นไปได้อย่างสะดวกโยธินมากขึ้นก็คือ การเปิดเสรีน่านฟ้าของอาเซียน

ทั้งนี้ “น่านฟ้าเสรี” ก็คือ ข้อตกลงระหว่างรัฐกับรัฐที่อนุมัติบริการแบบไม่จำกัดของสายการบินต่างๆ ทั้งด้านขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ทำให้เครื่องบินสามารถบินไปกลับและบินเหนือน่านฟ้าของประเทศอื่นๆ โดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องความถี่ของเที่ยวบินหรือชนิดของเครื่องบิน

พูดได้ว่าการเปิดน่านฟ้าเสรีจะช่วยจัดการข้อจำกัดในการเพิ่มเที่ยวบินระหว่าง 10 ชาติสมาชิก โดยในขณะนี้มีประเทศนำร่องไปบ้างแล้ว เช่น ไทยกับมาเลเซีย ที่เที่ยวบินของทั้งสองประเทศนี้สามารถบินไปมาหาสู่กันได้มากเท่าที่ต้องการ หรือจะเป็นน่านฟ้าเสรีระหว่างไทยกับสิงคโปร์และบรูไน

อย่างไรก็ตาม แม้หลายประเทศจะเริ่มนำร่องเชื่อมโยงเปิดเสรีน่านฟ้าไปบ้างแล้ว แต่ก็มีบางประเทศเช่นกันที่ยังคงติดขัดกับปัญหาภายในบางประการ จนนักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่าประเด็นดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในความไม่พร้อมที่อาจส่งผลต่อการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

และกรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดคืออินโดนีเซีย

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ที่อาเซียนเริ่มใช้นโยบายน่านฟ้าเสรีในปี 2552 เป็นต้นมา ธุรกิจการบินภายในภูมิภาคเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากอัตราการขยายตัวเติบโตของสารพัดสายการบินต้นทุนต่ำมากมาย เช่น แอร์เอเชียของมาเลเซีย ไลออน แอร์ของอินโดนีเซีย และเซบู แปซิฟิกของฟิลิปปินส์

ขณะที่ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ระบุชัดว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้สนามบินต่างๆ ในอาเซียนขึ้นแท่นติดอันดับสนามบินที่หนาแน่นคับคั่งมากที่สุดในโลก ขณะที่สนามบินของบางชาติสมาชิก อย่างไทยและสิงคโปร์มีผู้โดยสารต่างชาติแวะเวียนมามากกว่าสนามบินยอดนิยม เช่น ในลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศในอาเซียนจะเดินหน้าปฏิรูประบบ สร้างสนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการบิน เพื่อพร้อมรองรับการเปิดน่านฟ้าเสรีเต็มตัวในปีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทว่า ในขณะที่สิงคโปร์เดินหน้าสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 4 ให้สนามบินชางงี ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 85 ล้านคนภายในปี 2560 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 66 ล้านคน ไทย อนุมัติแผนปรับปรุงพัฒนาสนามบินดอนเมืองเพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ และฟิลิปปินส์ เปิดเผยแผนมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างสนามบินแห่งใหม่ในกรุงมะนิลา ประเทศอินโดนีเซีย กลับอยู่ในสภาพไม่พร้อมเท่าไรนัก

ไม่พร้อมทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับเที่ยวบินต่างๆ และไม่พร้อมที่จะรับมือการแข่งขันกับสายการบินอื่น

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะมีแผนลงทุนมูลค่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพสนามบินใกล้กรุงจาการ์ตาเป็น 3 เท่า โดยรวมถึงการเพิ่มรันเวย์และคลังเก็บสินค้าภายในปี 2557 แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินส่วนใหญ่กลับระบุตรงกันว่า การกระทำดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

เหตุเพราะสนามบินภายในอินโดนีเซียไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว แต่มีรวมกันแล้วมากกว่า 20 แห่งเลยทีเดียว ดังนั้น หากจะให้ทันต่อการเปิดน่านฟ้าเสรีในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า รัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องเร่งมือมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

กระนั้น ความเห็นของมาริ ปันเกสึ รัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวกลับระบุชัดเจนว่า อินโดนีเซียไม่ควรรีบร้อนจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า ความไม่พร้อมหลักๆ ของอินโดนีเซียไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐาน แต่น่าจะอยู่ที่ผลประโยชน์ของบรรดาสายการบินที่เริ่มรวมตัวกดดันให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการบินภายในประเทศให้เข้มงวดขึ้นมากกว่า

อลัน ถาน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการบินแห่งมหาวิทยาลัยนานาชาติในสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัญหาของอินโดนีเซียคือบรรดาธุรกิจสายการบินภายในประเทศ ที่ต้องการให้รัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เห็นได้จากการที่ อีเมียร์ยาส ซาตา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินการูดา ซึ่งรัฐบาลมีหุ้นร่วมด้วย กล่าวว่า อินโดนีเซียยินดีเปิดรับสายการบินอื่นๆ จากอาเซียน แต่รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศนั้นๆ จะไม่ใช้ระเบียบข้อบังคับอื่นที่ขัดขวางสายการบินของอินโดนีเซีย

และการที่ประชากรของแดนอิเหนาแห่งนี้มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียนทั้งหมด การแสดงความไม่พร้อมดังกล่าวจึงส่งผลขัดขวางการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ต้องการให้เกิดเสรีภาพในการค้าและการบริการระหว่างกันไม่น้อย

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงอีกหลายประการ เช่น การขาดกลยุทธ์ที่แน่นอนในการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำด้านการบินของแต่ละประเทศที่มีค่อนข้างสูง โดย คาสปาร์ บาอัม หัวหน้าด้านการบินในภูมิภาคเอเชียของอีซี แฮร์ริส แอลแอลพี ระบุว่า ความแตกต่างดังกล่าว ยังรวมการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างสายการบินกับตัวสนามบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งช่องว่างดังกล่าวจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของภายในอาเซียนได้ในอนาคต ไม่เป็นเสรีจริงดังที่หวัง

กระทั่ง ในท้ายที่สุดการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน อาจสะดุดล้มชนิดที่ไม่ทันนึกถึงกันก็ได้