posttoday

จับตาเพื่อไทยเดินหมากดับไฟใต้

19 กุมภาพันธ์ 2556

พรรคเพื่อไทยตั้งกลุ่มวาดะห์เดินหมากดับไฟใต้ครั้งที่ 3

พรรคเพื่อไทยตั้งกลุ่มวาดะห์เดินหมากดับไฟใต้ครั้งที่ 3

การแต่งตั้ง กลุ่มวาดะห์ นักการเมืองมุสลิมชายแดนภาคใต้ เป็นที่ปรึกษา ถือเป็นการเดินหมากครั้งที่สาม ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่การตั้งศูนย์ปฎิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้(ศปก.กปต.) โดยให้ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้อำนวยการ ถัดมาคือการใช้แนวทางให้ผู้กระทำผิดมามอบตัวตามมาตรา 21 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งกำลังจะมีการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ โดยจะประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน

และล่าสุด ร.ต.อ.เฉลิมมีคำสั่งแต่งตั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายเด่น โต๊ะมีนา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายซูการ์โน มะทา นายนัจมุดดิน อูมา น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด นายสุธิพันธ์ ศรีวิกานนท์ นายสุดิน ภูยุทธานนท์ และนายบูราฮานุดีน อุเซ็ง ซึ่งล้วนเป็นนักการเมืองกลุ่มวาดะห์เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

ร.ต.อ.เฉลิม เปิดเผยถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษาทั้ง 10 คนว่า ได้ขอความเห็นจากฝ่ายความมั่นคงก่อนแล้ว ไม่มีฝ่ายใดขัดข้อง และภายในสัปดาห์หน้าก็จะเชิญทั้ง 10 คนมาหารือกัน และจะนำความเห็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ศปก.กปต.

กลุ่มวาดะห์ ถือเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญมากในการเมืองชายแดนภาคใต้ เดิมแกนนำสำคัญอย่างนายวันมูหะมัดนอร์ นายเด่น และนายอารีเพ็ญ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแล มีคำสั่งห้ามนักศึกษาสตรีมุสลิมคลุมผมหรือฮิญาบ ทั้ง 3 ก็ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าสังกัดพรรคประชาชน และรวบรวมนักการเมืองมุสลิมรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน

แถลงการจัดตั้งกลุ่มวาดะห์ เมื่อปี 2529 ประกาศเจตนารมณ์ว่า มีปัญหาอีกมากมาย ที่แสดงใหัเห็นว่าข้าราชการ หน่วยราชการ และบุคคลระดับบริหารประเทศบางคน ยังไม่เข้าใจ "ระบอบของอิสลาม"  ดังนั้น ผู้นำศาสนาอิสลาม และนักการเมืองหลายคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ร่วมกันพิจารณา เห็นว่า จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยรีบด่วน เพื่อมิให้ขยายวงกว้างออกไป จึงรวบรวมนักการเมืองที่มีแนวความคิดเห็นตรงกันเข้าไปสังกัดพรรคการเมืองพรรคเดียว เพื่อให้พรรคการเมืองนั้นๆ ร่วมกันผลักดันให้นโยบายของกลุ่มเป็นนโยบายของพรรค พรรคจะได้ดำเนินการ เป็นชั้นๆ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม

ยุคทองของพรรควาดะห์คือเมื่อครั้งเข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่ โดยแกนนำอย่างนายเด่น มีตำแหน่งเป็นรมช.มหาดไทย ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ ตำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย และเลขาธิการพรรค ภายหลังกลุ่มวาดะห์ส่วนใหญ่เข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย ล่าสุดในการเลือกตั้ง 2554 สมาชิกแยกกันสังกัดพรรคเพื่อไทยและมาตุภูมิ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.แม้แต่คนเดียว

แม้จะไม่มีสมาชิกทั้งพรรคมาตุภูมิและพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเลย เนื่องจากกระแสความนิยมตกต่ำจากความผิดพลาดการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่กลุ่มเข้าร่วม แต่ฐานการเมืองของกลุ่มวาดะห์นั้นถือว่าเหนียวแน่นเป็นกลุ่มก้อนยิ่งกว่าทุกพรรค บทบาทในช่วงหลัง กลุ่มวาดะห์เข้าร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ เคลื่อนไหวในประเด็นความยุติธรรม การยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน และเรียกร้องการกระจายอำนาจที่เหมาะสมกับพื้นที่

ก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มวาดะห์ได้รวมตัวนัดหารือกันที่บ้านพักนายวันมูหะมัดนอร์

นัจมุจดิน อูมา กล่าวหลังจากร.ต.อ.เฉลิมมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาว่า รัฐบาลเพื่อไทยอ่อนทางเชิงการเมืองเพราะไม่มี ส.ส.ในพื้นที่เลย จากการหารือกันกลุ่มวาดะห์ก็เห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมมือกับรัฐบาล

ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การตั้งบุคคลที่มีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ มาเป็นที่ปรึกษาจะช่วยให้ได้ข้อมูลระดับหนึ่ง แต่อยากให้ฟังความเห็นของทุกฝ่ายให้รอบด้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็เห็นว่าการแจ่งตั้งกลุ่มวาดะห์นั้น รัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ต้องดูเรื่องการทำงานกันต่อไป ทหารมีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งของรัฐบาล ถ้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ดี

การเดินหมากดับไฟใต้ในครั้งนี้ของรัฐบาล แม้จะมีภาพในเชิงบวก จากการดึงกลุ่มการเมืองที่ยังคงมีสายสัมพันธืกับหลายกลุ่มในพื้นที่เข้ามาร่วมงาน แต่ก็ยังคงต้องรอดูการเดินหมากในครั้งต่อไป โดยเฉพาะ 28 ก.พ.นี้ ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อหารือ คือการประสานงานกับมาเลเซียในการร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

แต่กว่าจะถึงจุดหมาย ทั้งรัฐบาลและขบวนการก่อความไม่สงบ ยังคงต้องผลัดกันเดินหมากแก้เกมกันอีกหลายยก สถานการณ์ยิ่งต้องจับตา

 

10 ที่ปรึกษาดับไฟใต้
 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตส.ส.ยะลาหลายสมัย อดีตเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม และรองนายกรัฐมนตรี
นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตส.ส.ปัตตานีหลายสมัย รมช.มหาดไทย และสว.ปัตตานี เป็นบุตรชายของหะยีสุหรง โต๊ะมีนา นักการศาสนาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของมลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้ และเป็นน้องชายของ หะยีอามีน โต๊ะมีนา อดีตส.ส.ปัตตานี ซึ่งถุกทางการไทยกล่าวหาว่า เป็นแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็น

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธ์ อดีตส.ส.นราธิวาสหลายสมัย และอดีตรมช.ศึกษาธิการ เป็นพี่ชายของ รอมลี อุตรสินธ์ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งรางวัลนำจับ 2 ล้านบาท ฐานกบฎแบ่งแยกดินแดน ขณะที่กูรเนียวัน อุตรสินธ์ บุตรชายของรอมลี เคยถุกผู้ต้องหาซัดทอดว่าเป็นแกนนำก่อความไม่สงบในพื้นที่จ.นราธิวาส

นายนัจมุจดิน อูมา อดีตส.ส.นราธิวาสหลายสมัย มีบทบาททางการเมืองในฐานะแกนนำกลุ่มพีเอ็นวายเอส ซึ่งรวบรวมนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำกิจกรรม ถูกซัดทอดว่าเป็นผู้บงการวางแผนปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และส่งฟ้องศาลในข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดน ต่อมาศาลยกฟ้อง

นายสุทธิพันธ์ ศรีวิกานนท์ อดีตส.ส.นราธิวาส เป็นเลขานุการนายวันมูหะมัดนอร์  และถือว่าเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมาก จนได้รับการสถาปนาเป็นดาโต๊ะ

นายสุดิน ภูยุทธานนท์ อดีตส.ส.ปัตตานี ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

นายบูราฮานุดีน อุเซ็ง อดีตส.ส.ยะลา ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกลุ่มวาดะห์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

นายซูการ์โน มะทา อดีตส.ส.ยะลา น้องชายนายวันมูหะมัดนอร์

พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 16 กรมสุขภาพจิต อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์(กอส.) เป็นบุตรสาวนายเด่น โต๊ะมีนา

นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามจ.นราธิวาส ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ เป็นผู้ที่วิจารณ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ต่อมาในการเบือกตั้ง 2554 ปรากฎอยู่ในรายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง