posttoday

รัฐบาล"ปู"กู้สนั่นปั่นเศรษฐกิจ

15 กุมภาพันธ์ 2556

ใครได้ฟัง กิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ใครได้ฟัง กิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง บอกถึงความทุกข์ใจเมื่อเห็นตัวเลขการขาดทุนสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อออกพันธบัตรดูดซับเงินบาทกระทั่งขาดทุนเพิ่มจาก 4 แสนล้านบาท เป็น 5.3 แสนล้านบาท อาจเกิดอาการเห็นคล้อยไปด้วย

กิตติรัตน์ ย้ำว่า รู้สึกไม่สบายใจที่เห็นตัวเลขขาดทุนของ ธปท.ที่เพิ่มขึ้นเป็นแสนล้านบาท

โดยระบุว่า “ผมไม่สบายใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอยู่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นแสนล้าน และสิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจมาก คือ เวลาพูดข้อมูลเศรษฐกิจแบบนี้มีความทุกข์ เหมือนเป็นการสาวไส้กันเอง ผมพูดแล้วพูดเล่า พูดเบา พูดเฉียด พูดอ้อม แต่ก็ไม่ได้รับการสนใจจากคนที่เกี่ยวข้อง”

ถือเป็นคำพูดที่น่าทุกข์ใจสำหรับคนไทยที่ได้ฟัง ไม่ใช่เฉพาะ กิตติรัตน์ และเสนาบดีในรัฐบาลเท่านั้น

ทว่าเมื่อเหลียวหลังไปพินิจการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในห้วงเวลา 1 ปี 7 เดือนที่ผ่านมา คนไทยก็ต้องทุกข์ใจไม่ต่างกัน

เพราะรัฐบาลเพื่อไทยที่เคยป่าวประกาศว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ “ดีแต่กู้ หาเงินไม่เป็น” จากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

แต่วันนี้รัฐบาลเพื่อไทยกำลังย่ำซ้ำรอยเดิมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะต่างกันที่ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย “กู้หนักมือกว่าหลายสิบเท่า”

ในขณะที่เหตุผลของการกู้เงินแทบไม่ต่างกัน นั่นคือการกู้เงินเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศทดแทนภาคการส่งออกไม่แน่นอน เหตุการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศ

หากไล่เรียงกันให้เห็นภาพกันชัดๆ ก็ต้องบอกว่าการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อไทยก็คงเรียกว่า “กู้กันสนั่นเมือง” จริงๆ

1.หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ได้แก่1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

2.ออก พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

3.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 โดยให้ ธปท.ปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยแก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 แสนล้านบาท

สิริรวมเงินกู้ล็อตแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยกู้ไปอยู่ในกรอบวงเงิน 7 แสนล้านบาท

ยังไม่หนำใจ ต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีความคิดที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยย้ำความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ หวัง “ยกระดับ” โครงสร้างพื้นฐานของไทยจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งระบบราง เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รวมไปถึงระบบถนนอีก 2ล้านล้านบาท

เป็นการกู้ตามแผนลงทุนสร้างอนาคตประเทศทั้งทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ พลังงาน โทรคมนาคม และสาธารณูปโภค ภายใต้วงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท และรัฐบาลก็รับลูกทันที กระทั่งเตรียมเสนอออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่จะเสนอสภาในเดือนเม.ย.นี้แล้ว

เงินกู้ยกที่ 2 จะพบว่า รัฐบาลมีแผนกู้เงินอีก 2 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 ปี

การกู้เงิน 2 ยกที่ว่านั้นฟังเสียงผู้คนก็บ่นกัน “สะท้านเมือง” อยู่แล้ว

แต่เมื่อพิจารณาการกู้เงินจากการดำเนินนโยบายเฉพาะของรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งโครงการประชานิยมและการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลต่อเนื่อง 3 ปีงบประมาณติดกัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2557 จะพบว่า วงเงินกู้เฉียด 1 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว แม้แนวโน้มการขาดดุลงบประมาณจะลดลงก็ตาม

โดยปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลเพื่อไทยจัดทำงบประมาณขาดดุล 4 แสนล้านบาท ก่อนลดการขาดดุลงบประมาณเหลือ 3 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2556 และตามกรอบโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลมีแผนตั้งงบประมาณขาดดุลที่ 2.5 แสนล้านบาท

และก็เช่นกันการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 3 ปี เป็นจำนวนเงิน 9.5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องหยิบยืมเงินจากแหล่งอื่นมาใช้ก่อน เมื่อถึงเวลาก็ต้องชำระคืนหนี้สินอยู่ดี

ขณะที่การกู้เงินตามโครงการประชานิยมที่เรียกว่าการกู้เงินนอกงบมาใช้ โดยเฉพาะการกู้เงินภายใต้โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา พบตัวเลขการกู้เงินที่ซุกอยู่ตามแบงก์รัฐไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาทแล้ว

ตัวเลขการกู้เงินยังไม่จบเท่านี้หากนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรราคาสูงยังดำเนินต่อไป

เมื่อเรียงลำดับการกู้เงินนอกงบเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โครงการที่กู้เงินหนักมือที่สุด คือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ที่ย่างเข้าสู่ฤดูกาลที่ 2 ใช้เงินกู้ไปแล้ว 5 แสนล้านบาท

ส่วนโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง 2ฤดูกาลคือ ปี 2554/2555 ที่ใช้เงิน 3.3 หมื่นล้านบาท และปี 2555/2556 ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 45,048 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกู้หมุนเวียน 7.8 หมื่นล้านบาท

ยังมีเงินกู้ในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือการแทรกแซงราคายางกรอบวงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท

สรุปเบื้องต้น พบว่ารัฐบาลต้องกู้เงินนอกงบประมาณในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเป็นเงิน 6.2 แสนล้านบาท และเมื่อรัฐบาลทยอยระบายสินค้าเกษตรที่รับซื้อเก็บไว้ก็จะมีเงินมาคืนหนี้เงินกู้ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องจ่ายวันต่อวัน คือ ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ค่าเก็บรักษาสินค้า ค่าเสื่อมสภาพสินค้า และการระบายสินค้าเกษตรขาดทุน

เงินรัฐบาลกู้มาแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ยังไม่มีใครประเมินได้ว่ากลับคืนมาเป็นเงินเท่าไหร่

เมื่อสรุปกรอบวงเงินคร่าวๆ ที่รัฐบาลเพื่อไทยกู้แล้ว และมีแผนจะกู้ทุกกรณี ตกเป็นเงินไม่น้อย 4.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับหนี้สาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ 4.9 ล้านล้านบาท

ดูแล้วตัวเลขการก่อหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตน่าตกใจทีเดียวสำหรับคนไทย เพราะเพียงชั่วระยะบริหารประเทศไม่ถึง 2 ปีก่อหนี้เท่ากับหนี้สาธารณะทั้งประเทศ

แม้ว่าวันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังดูดี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่เฉลี่ย45% เพราะการอัดฉีดเงินอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล และการกระตุ้นให้ประชาชนดึงเงินมาใช้สอยกันสนุกมือ

แต่ถ้าว่ากันเฉพาะเงินที่รัฐบาลกู้มากระตุ้นให้เศรษฐกิจกระชุ่มกระชวยในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเงินกู้ ไม่ต่างกับการนำเงินในอนาคตมาใช้

หากเศรษฐกิจไทยมีอันต้องประสบกับมรสุมเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ก็ลองตรองดูแล้วกันว่ารัฐบาลจะมีกระสุนสำรองหรือไม่

โดยเฉพาะการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งในระยะเวลา 50-100 ปี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลหวังให้เป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญยกระดับฐานรายได้คนไทยและเพิ่มขีดความสามารถเศรษฐกิจในระยะยาว

ถือได้เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่จะเป็น“หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของประเทศไทยเลยทีเดียว แต่หากใช้เงินไม่คุ้ม หรือเงินที่ลงไปละลายสูญเปล่า ก็คิดกันให้ดีว่าอีก 10-20 ปีจากนี้ไป เราจะอยู่กันอย่างไร