posttoday

จำนำข้าวทุกย่างก้าว"ธกส."ร่อแร่

11 กุมภาพันธ์ 2556

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มต้นในวันที่ 7 ต.ค. 2554

โดย...จตุพล สันตะกิจ

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มต้นในวันที่ 7 ต.ค. 2554

“ถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว ทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่รัฐบาลชุดก่อนใช้ชดเชยในระบบประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่า ในฐานะรองนายกเศรษฐกิจจะรับผิดชอบอย่างไร” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ลั่นวาจาก่อนเริ่มโครงการรับจำนำข้าว

กิตติรัตน์ ยังระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลจะยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น และเมื่อรัฐบาลระบายข้าวสารในสต๊อก รัฐบาลจะมี “กำไร” เท่ากับว่านโยบายรับจำนำข้าวเปลือกเดินมาถูกทาง และชาวนาจะขายข้าวเปลือกเจ้าได้ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งถือว่ารัฐบาล “สอบผ่าน”

แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 5 เดือน สิ่งที่กิตติรัตน์พูดวันนั้น กับความจริงที่เกิดขึ้นวันนี้ เรียกได้ว่า “สวนทาง” กันคนละทาง

เนื่องด้วยข้อมูลทางการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 6,979,681.61 ตัน เงินที่จ่ายให้เกษตรกร 118,535.238 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 14,727,468.15 ตัน เงินที่จ่ายให้เกษตรกร 218,196.478 ล้านบาท

และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 พบว่า ณ วันที่ 4 ก.พ. 2556 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 8,233,273 ตัน เงินที่จ่ายให้เกษตรกร 132,555.690 ล้านบาท

สรุปแล้วตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกวันที่ 7 ต.ค. 25544 ก.พ. 2556 รัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเก็บไว้ในสต๊อกแล้ว 29.94 ล้านตัน และจ่ายเงินแล้ว 4.69 แสนล้านบาท ไม่รวมค่าบริหารโครงการไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ทำให้รัฐบาลมีข้าวสารเก็บไว้ในสต๊อก 17-18 ล้านตัน

สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่รายงานว่า ปริมาณข้าวสารในสต๊อกของไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2556 นี้ จากนโยบายรับจำนำข้าว โดยมีปริมาณข้าวที่สีแปรสภาพแล้วทั้งหมดทะลุ 18.2 ล้านตัน

เอฟเอโอ ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของไทย ส่งผลให้เกิดการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และนำไปสู่ปัญหาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามายังไทยอีกด้วย ซึ่งจากการประมาณการตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า จะมีข้าวทะลักเข้ามาถึง 7.5 แสนตัน ในปี 2556 จาก 4 แสนตัน ในปีที่แล้ว

เช่นกัน สิ่งที่รัฐบาลมุ่งหวังว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลแบกข้าวไว้เองทั้งหมด

แต่ราคาข้าวในตลาดโลกต่ำเตี้ยลงทุกวัน ข้อมูลเอฟเอโอ ระบุวันที่ 5 ก.พ. 2556 ราคาข้าว 5% ของไทยราคา 599 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาข้าว 5% ของเวียดนาม 385 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาข้าว 5% ของอินเดีย 430 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าว 5% ของปากีสถานอยู่ที่ 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ในขณะที่ก่อนมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก พบว่าราคาข้าว 5% เฉลี่ยปี 2555 ของไทยอยู่ที่ 573 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 432 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวขาว 5% ของอินเดียอยู่ที่ 435 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า แม้ข้าวไทยจะราคาแพงขึ้น 2030 เหรียญสหรัฐต่อตัน หลังมีโครงการ แต่ข้าวของเวียดนามและอินเดียราคาทรงตัวที่ 420430 เหรียญสหรัฐต่อตัน

แต่สาระที่มากกว่านั้น คือ ข้าวไทยมีราคาแพงกว่าข้าวเวียดนามและข้าวอินเดียเกือบ 150 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกคู่แข่งได้ โดยปี 2555 ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 6.94 ล้านตัน ขณะที่อินเดียส่งออกข้าวได้ 9.75 ล้านตัน เวียดนามส่งออกข้าว 8.04 ล้านตัน

แม้รัฐบาลจะระบุว่า แม้ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณที่น้อยกว่าปี 2554 แต่มีรายได้จากการขายข้าวสูงกว่าเวียดนามและอินเดียหลายพันล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว แต่คงได้ไม่คุ้มเสียกับการที่รัฐบาลต้องเก็บข้าวไว้ในโกดังเกินกว่า 15 ล้านตัน ณ ขณะนี้ เพราะราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน

จึงสรุปได้ชัดเจนว่าเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเกือบ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตาม “ความเชื่อ” ของคนในรัฐบาล

ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐก็ยังเป็นปริศนาคาใจสังคม เพราะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขระบายข้าวอย่างเป็นทางการ มีเพียงวงการค้าข้าว คาดว่ามีการระบายข้าวจากสต๊อกของรัฐไม่เกิน 2 ล้านตัน ทั้งมีข้อมูลที่ “เชื่อได้ว่า” การระบายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ

เป็นการนำข้าวสารในโกดังมาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกซ้ำอีกรอบ และเปาเกาข้าว (นำข้าวเก่าในโกดังรัฐบาลมาปรับปรุงสภาพและส่งขายในตลาด) เท่านั้น

หลักฐานที่ชี้ชัด คือ ตัวเลขขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ปี 2555 ที่ระบุว่า มีการส่งออกข้าวแบบจีทูจี 1.7 ล้านตัน แต่พบว่าเป็นการส่งออกแบบจีทูจีในนามบริษัทเอกชนรายหนึ่งเพียง 3 แสนตัน ส่วนข้าวสาร 1.4 ล้านตัน ไม่มีหลักฐานการเปิด “แอล/ซี” และการโอนเงินค่าข้าวจากประเทศผู้ซื้อข้าว

เช่นกันล่าสุดวันที่ 1 ม.ค.5 ก.พ. 2556 ไทยมีปริมาณจะส่งออกข้าว 4.48 แสนตัน เพิ่มขึ้น 24.01% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณส่งออกข้าว 3.61 แสนตัน

แต่ไม่ต้องแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวหอมมะลิในโครงการด้วยวิธีพิเศษแก่ผู้ส่งออกที่ราคา 28.5 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณ 2 แสนตัน และได้ทยอยส่งมอบไปกันแล้ว และข้าวสารที่ส่งออกแทบทั้งหมดเป็นข้าวหอมมะลิที่เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ใช่ข้าวขาวที่เป็นข้าวส่วนใหญ่ในสต๊อกของรัฐบาล

จากข้อมูลเหล่านี้ ชี้ให้เห็นแนวโน้มการระบายข้าวจากสต๊อกรัฐบาลที่ยังคง “เชื่องช้า” ต่อไป

ทางออกทางเดียววันนี้ คือ กระทรวงพาณิชย์ต้องเทขายข้าวทุกราคาที่มีโอกาส

“เราเก็บข้าวสารจากโครงการรับจำนำมาแล้ว 1 ปี ถ้าไม่เร่งขายในอีก 6 เดือน ก็มีหวังข้าวเน่าคาโกดัง นี่จึงเป็นเหตุให้กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดว่า ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าว 8 ล้านตัน แต่ราคาคงจะไม่สูง หากไม่ทำเช่นนั้นจะไม่มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีที่ 3 แน่นอน” สมพร อิศวิลานนท์ แห่งสถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ระบุ

แต่ทว่าการจะใช้วิธีแอบขายข้าวผ่านเครือข่ายโรงสีและบริษัทที่ใกล้ชิดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จับตาการระบายข้าวไม่วางตา แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า “ป.ป.ช.เงื้อดาบจ้องฟันคนบงการแอบขายข้าวในโกดังอยู่ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอขายข้าวจากไม่มีเงินคืน ธ.ก.ส.”

แต่นั่นก็เป็นที่มาของประเด็นที่น่าขบคิดมากกว่า คือ การที่รัฐบาลกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอย่างสนุกมือ แต่แทบไม่มีเงินที่ได้จากการขายข้าวส่งคืนมา ธ.ก.ส.ตามแผนที่วางไว้

ยิ่งกรณีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ แอ่นอกตอบกระทู้ในสภา กรณีการตรวจสอบทุจริตการระบายข้าวสารในโครงการรับจำนำว่า การตรวจสอบทุจริตโครงการที่ยังต้องสอบเพิ่มอีก 90 วัน นั่นก็เท่ากับว่ากระทรวงพาณิชย์จะต้องชะลอการระบายข้าวในสต๊อกไปอีก 3 เดือน

ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก “มีแต่เงินไหลออก ไม่มีเงินไหลเข้า” แน่นอนว่าจะสะเทือนต่อฐานะการเงินของ ธ.ก.ส.อย่างเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ผลพวงจากโครงการรับจำนำข้าว สั่นคลอน “เก้าอี้” ประธานบอร์ด ธ.ก.ส. ของกิตติรัตน์ เพราะถูกรัฐมนตรีสายเจ๊ ด. “แท็กทีม” จนหลุดจากเก้าอี้ประธานบอร์ด ธ.ก.ส. แบบสมยอม เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องบากหน้าหวงหนี้ค่าข้าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กิตติรัตน์จะพ้นบ่วงความรับผิดชอบโครงการนี้ไปได้

เพราะมีความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่งที่ ธ.ก.ส.จะต้องมีการเพิ่มทุนอีกรอบ หลังจากปี 2555 ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติการเพิ่มทุนของ ธ.ก.ส. จาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท แม้ไม่เปิดปากจากคนในรัฐบาลว่าเป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่คนใน ธ.ก.ส. ต่างรู้ถึงสาเหตุการเพิ่มทุนครั้งนี้ดี

“แม้ว่าเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นเงินที่รัฐบาล “กู้” จาก ธ.ก.ส. มาใช้ก่อน แต่เมื่อรัฐบาลยืมเงินจำนวนมาก “แต่ไม่คืน” ย่อมส่งผลต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. และนั่นทำให้ ธ.ก.ส. มีฐานะการเงิน “ร่อแร่” และวิ่งหารัฐบาลให้เพิ่มทุน” แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. เปิดเผย

ปรากฏการณ์นี้ ทำให้หวนคิดถึงธนาคารรัฐ 2 แห่งที่สนองนโยบายรัฐ กระทั่งสถานการณ์ย่ำแย่ คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลาม ที่กระทรวงประกาศว่าจะต้องนำเงินภาษีไป “อุ้ม” ให้ธนาคารอยู่ต่อไปได้

หากสถานการณ์การเงิน ธ.ก.ส.ยังเป็นเช่นที่ผ่านมา ไม่แคล้วที่รัฐบาลต้องนำเงินภาษีประชาชนมาอุ้มโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และแม้ว่ายังไม่ปิดโครงการแต่มีกระแสข่าวว่าจะขาดทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนี้ย้อนกลับมาเป็นของคนไทยอีกรอบ แล้วอย่างนี้ใครสมควรต้องรับผิดชอบบ้าง

นั่นคงต้องย้อนไปถามคนที่ปลุกปั้นโครงการกันเอง