posttoday

"กิตติรัตน์"เก้าอี้เหนียวแต่ไม่ใช่"หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ"

08 กุมภาพันธ์ 2556

ยิ้มออกทันที ไม่เกิดอาการอารมณ์เสียให้เห็น สำหรับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/จตุพล สันตะกิจ

ยิ้มออกทันที ไม่เกิดอาการอารมณ์เสียให้เห็น สำหรับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาการันตีว่า “คุณกิตติรัตน์ก็ยังอยู่เหมือนเดิมค่ะ ยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอยู่”

นั่นเท่ากับเครื่องหมายการันตีความ “เหนียว” ของกิตติรัตน์ในตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ทบทวนย้อนหลังนับแต่วันโปรดเกล้าฯ ครม.ปู 1 กิตติรัตน์ นั่งตำแหน่งรองนายกฯ ควบรมว.พาณิชย์

ภารกิจหลักครั้งนั้น คือ การปลุกปั้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาท/ตันให้ลุล่วง ไม่ว่าจะมีเสียงท้วงคัดค้านจากฝ่ายต้านและฝ่ายค้าน แต่กิตติรัตน์ก็ผลักดันภารกิจนี้กระทั่งสำเร็จ แม้จะต้องต่อสายหา “นายใหญ่” เป็นพักๆ ระหว่างการประชุม

ไม่นับผลงานการผลักดัน พ.ร.ก. 4 ฉบับ ฟื้นฟูหลังเหตุการณ์น้ำท่วม

ผลงานชิ้นเอกอย่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ที่โอนภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท

ระหว่างทาง กิตติรัตน์ ต้องขับเคี่ยวและเกิดวิวาทะกับคนร่วมรัฐบาลอย่าง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังในขณะนั้น จนแทบจะเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กันจนถึงวันนี้

แต่ด้วยผลงานที่เข้าตา กิตติรัตน์ ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.คลังใน ครม.ปู 2 ส่วน ธีระชัย เป็นอันต้องหลุดวงโคจร

กระทั่งโครงการรถยนต์คันแรก การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โครงการพักหนี้เสียพักหนี้ดี และนโยบายเร่งด่วนปีแรกของรัฐบาล กิตติรัตน์ เป็นหัวเรือใหญ่ลุยปฏิบัติกระทั่งทุกภารกิจลุถึงฝั่งโดยไม่สนเสียงต้าน

การปรับ ครม.ปู 3 ในเดือน ต.ค. 2556 กิตติรัตน์ ยังคงรั้งตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าถูกคลื่นใต้น้ำจากทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแกนนำคนสำคัญในพรรคที่ต้องการเขี่ยหรือลดบทบาทกิตติรัตน์ ถึงขั้นฟ้อง “นายใหญ่” ว่าไม่มีประสิทธิภาพ

ประกอบกับโอษฐภัย “โกหกสีขาว” ทำให้เครดิต กิตติรัตน์ มัวหมองชั่วข้ามคืน

แต่เมื่อกิตติรัตน์ เป็นบุคคลที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องมีข้างกาย กระแสเสียงเหล่านั้นจึงเป็นแค่สายลม

แม้วันนี้ความสัมพันธ์ของทีมที่ปรึกษาฯ ตึกแดง กับทีมตึกไทย ก็ยังคงมีรอยร้าวให้เห็นกันอยู่

นายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงหันเหมาให้ความสำคัญกับ “ข้าราชการระดับสูง” มากขึ้น ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ มากขึ้นชัดเจน ส่วนผลิตผลนโยบายการเมืองใหม่ๆ กระชากใจคนรากหญ้าของพรรคเพื่อไทย แทบไม่ผลิดอกออกผลมาให้เห็นเลย

ดังนั้นในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่า “มูลค่าตลาด” หรือ “แบรนด์ดิง” ของกิตติรัตน์ ถดถอยลดลงต่อเนื่อง ผลงานที่ปรากฏสู่สาธารณชนน้อยลงถนัดตา งานเมืองและงานราชการถูกตำหนิติติงว่า “กองสุมเต็มโต๊ะ”

เครดิตในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทบสิ้นมนต์ขลัง ในขณะที่รัฐมนตรีหน้าใหม่และรัฐมนตรีบ้านเลขที่ 111 ต่างเร่งทำผลงาน

การคุมนโยบายใหญ่ๆ เม็ดเงินมหาศาลที่ควรเป็นข้อสั่งการของ กิตติรัตน์ ถูกผ่องถ่ายให้รัฐมนตรีสายอื่นๆ ทั้ง “สายตรง” และ “สายเจ๊”

โครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ไปอยู่ในมือ ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ โดยที่กิตติรัตน์แทบไม่มีบทบาทในการก้าวก่ายโครงการลงทุน อำนาจที่มีคือเซ็นอนุมัติเบิกใช้เงินกู้เท่านั้น

การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะการปรับเพิ่มราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่แม้กิตติรัตน์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่ถึงตอนนี้อำนาจการตัดสินใจแทบจะอยู่ภายใต้อุ้งมือของ “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน แบบเบ็ดเสร็จ

ทั้งๆ ที่กิตติรัตน์ทำงาน “รูทีน” เสนอ ครม.อนุมัติต่ออายุมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลมานานนับปี

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกยิ่งแล้วใหญ่ เพราะ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ คุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่รับจำนำข้าวเปลือกไปจนถึงขายข้าวสาร โดยที่คนใน ครม.แทบไม่มีส่วนรู้เห็นเลย

ยังดีที่กิตติรัตน์ ยังคงนั่งคุม “เงิน” ในฐานะเป็นประธานบอร์ดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงพอมีบทบาทให้เห็น

แต่ทว่า ผลจากความขัดแย้งในวิธีคิดวิธีการจัดการในการรับจำนำข้าว ก็มีการผลักดันให้กิตติรัตน์ลาออกจาก ธ.ก.ส.

เพราะบทบาทกิตติรัตน์ยามนี้ต้องเรียกว่าขวางทางน้ำเชี่ยวก็ได้ เพราะโครงการจำนำข้าวเปลือกที่ใช้เงินไปเกือบ 5 แสนล้านบาทแล้ว ได้ข้าวสารมาเก็บไว้ 15 ล้านตัน แม้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไปบางส่วน แต่กลับไม่คืนหนี้เงินกู้ตามแผนที่กำหนดไว้ เช่น คืนเงิน 8.5 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี 2555 แต่เอาเข้าจริงคืนเงินได้เพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

กิตติรัตน์ จำต้องกระทุ้งกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งนำเงินขายข้าวมาคืน ไม่เช่นนั้น ธ.ก.ส.จะไม่มีสภาพคล่องมาดำเนินการต่อ แต่ถูกสวนกลับจากบุญทรงว่า “กระทรวงการคลังมีหน้าที่หาเงิน” ก่อนจะมีการฟ้องนายใหญ่ว่านี่คือตัวปัญหา

นั่นยังผลให้ กิตติรัตน์ มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ธ.ส.ก.และมอบอำนาจให้ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง สายเดียวกับ บุญทรง มาทำหน้าที่แทน

และนั่นทำให้เบิกจ่ายเงินทุนที่หมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกคล่องตัวขึ้น

โดยที่ไม่มีคน ธ.ก.ส.หน้าไหนจะกล้าเอ่ยทวงถามหนี้ค่าข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่ตัวเลขการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวจะถูก “ซุก” ไว้ในบัญชี ธ.ก.ส.รอวันเปิดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

แม้แต่มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่เปลี่ยนคนกุมบังเหียนจากกิตติรัตน์ เป็น นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่แทน หลังจากกิตติรัตน์ประกาศปิดประตูช่วยผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างให้นายจ้าง 3 ปีที่เอกชนเรียกร้องหนัก

แต่บุคลิกที่อ่อนนุ่มประนีประนอมของนิวัฒน์ธำรง ที่ต่างจากกิตติรัตน์ที่ยึดมั่นหลักการ “พูดในสิ่งที่ต้องการพูด และเห็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการเห็น”

ล่าสุด กิตติรัตน์ ออกแอ็กชันแสดงบทบาทกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งที่สาธารณะและการให้สัมภาษณ์สื่อ โดยเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ “สูงเกินไป” มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าและค่าเงินบาทแข็ง

ก่อนที่ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร จะรับลูกและให้สัมภาษณ์ฉะ ธปท.เสียเอง โดยเฉพาะการเผยตัวเลขการขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบาทว่าสูงถึง 5.3 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 4 แสนล้านบาทอย่างที่แล้วมา เท่ากับ “เปิดไต๋” ให้นักเก็งกำไรรู้ว่า ธปท.มีเงินหน้าตักเท่าใด สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายร้ายแรงในอนาคต

เป็นการแสดงบทบาทการชี้นำทางเศรษฐกิจในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

แต่ในความเป็นจริงนั้น อำนาจแทบจะหมด พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ตอนแรกกิตติรัตน์มีอำนาจเต็มในการคัดกรองโครงการ แต่บัดนี้ถูกโอนไปให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ดูแลแทบจะเบ็ดเสร็จ

อำนาจที่ กิตติรัตน์ มีคือเป็นหนังหน้าไฟในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทเข้า ครม.และต้องตอบคำถามในสภาฯ ถึงเหตุผลความจำเป็นในการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และ 3 ก็ตาม

วันนี้กิตติรัตน์เป็นคนสำคัญที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องมีไว้ใกล้ๆ เพราะจะหาใครที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้อย่างกิตติรัตน์นั้น “ยาก”

เพียงแต่ว่าศักดิ์ศรีและบารมีในการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทั้งการสั่งการ และชี้นำทิศทางการบริหารเศรษฐกิจประเทศแทบไม่มีเหลือ

เป็นเพียงรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนหนึ่งเท่านั้น