posttoday

รัฐบาลล้วงลูกธปท.หวังลดภาระเงินกู้

07 กุมภาพันธ์ 2556

ปฏิบัติการล้วงลูกอย่างถึงพริกถึงขิงของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ปฏิบัติการล้วงลูกอย่างถึงพริกถึงขิงของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ส่งหนังสือถึง วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยพิจารณาใช้นโยบายดอกเบี้ยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจดูแลเงินบาทแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า น่าจะหวังผลในทางปฏิบัติเป็นแน่แท้

เพราะแนวปฏิบัติเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นการจุดไฟของความขัดแย้งในการดำเนินนโยบายการเงินของกระทรวงการคลังกับ ธปท.อีกครั้ง

ในอดีตความขัดแย้งการทำงานของคลังกับ ธปท. จนฝ่ายการเมืองต้องมาล้วงลูกเช่นนี้ ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่ ธปท.มักไม่สนองความต้องการของการเมือง สะท้อนได้จากการปลดผู้ว่าการ ธปท.ในอดีตเป็นว่าเล่น

จนมีจำนวนผู้ว่าการ ธปท.ไม่กี่คนที่อยู่ครบวาระ เพราะส่วนใหญ่จะลาออกและหรือไม่ก็ถูกปลด!!!

ในอดีตผู้ว่าการ ธปท.ที่ถูกสั่งปลด จากเหตุขัดแย้งกับการเมือง อาทิ นุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคน “หัวรั้นจอมทะนง” ถูกสมหมาย ฮุนตระกูล ปลด เพราะขณะนั้นค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออก แต่ ธปท.เลือกใช้นโยบายจำกัดสินเชื่อ 18% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่กำลังกระฉูดในประเทศ จึงสั่งปลดผู้ว่าการ ธปท.ครั้งนั้นในปี 2527 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ต่อมายุคของ ประมวล สภาวสุรมว.คลัง ก็สั่งปลด กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ด้วยเหตุขัดแย้งในการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน และการไม่ยอมลดดอกเบี้ยตามความต้องการของฝ่ายการเมือง

หรือในยุค วิจิตร สุพินิจ เริงชัย มะระกานนท์ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ก็ถูกการเมืองปลด จากเหตุความเห็นขัดแย้งในการดูแลค่าเงินบาท และการดำเนินนโยบายของ ธปท.ที่มักจะอิงการดูแลเงินเฟ้อเป็นสำคัญ จนไม่สนใจที่จะลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามความต้องการของฝ่ายการเมือง

มาคราวนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล ผ่าน กิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง กับประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ยิ่งเริ่มปะทุชัดเจนมากขึ้น เหตุเพราะรัฐบาลต้องการให้ ธปท.ลดนโยบายดอกเบี้ยลงมาจากปัจจุบันที่ 2.75% เพื่อลดแรงจูงใจสกัดเงินทุนไหลเข้า เพราะดอกเบี้ยไทยสูงกว่าสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ร่วม 2.50% จึงทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น

รัฐบาลต้องการมิให้เงินบาทแข็งค่ารวดเร็วจนบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมุ่งหวังจะให้โต 5%

แต่ฝ่าย ธปท.มองว่าดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักดึงดูดเงินทุนไหลเข้า เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ในระดับที่ดี แม้จะยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยมีผลชะลอเงินเฟ้อได้บ้าง แต่ ธปท.ก็ห่วงว่า ถ้าลดดอกเบี้ยลงอาจก่อปัญหาฟองสบู่ในตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ได้

จึงยืนยันเสียงดังฟังชัดในแทบทุกวันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.75% ยังสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้

ปัญหาการเมืองมีความเห็นขัดแย้ง หรือมองต่างจากธนาคารกลาง มีให้เห็นทั่วโลก อาทิ สหรัฐ หรือล่าสุดที่ญี่ปุ่น ที่รัฐบาลประกาศจะปลดผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หากดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% ไม่ได้ และทำให้เงินเยนอ่อนค่าไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกฎหมาย ถึงแม้ รมว.คลัง หรือรัฐบาลไม่มีอำนาจในการเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดูแลโดยเฉพาะ

แต่อย่าลืมว่าในการบริหารงานตามกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับ กนง. เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท.ฉบับปัจจุบัน มาตรา 7 ระบุไว้ว่า ธปท.มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน แต่การดำเนินภารกิจดังกล่าวต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

ที่สำคัญถึงแม้ รมว.คลัง จะส่งหนังสือถึง วีรพงษ์ รางมางกรู ประธานบอร์ด ธปท. ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกี่ยวกับ กนง.เสียเลย

เพราะอย่าลืมว่า บอร์ด ธปท. 12 คน ก็มี กนง.นั่งอยู่ถึง 5 คน ประกอบด้วย ประสาร ผู้ว่าการ ธปท. ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ธปท. ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ธปท. ศิริ การเจริญดี อดีตผู้บริหาร ธปท. ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนง. จากภายนอก และ อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ทั้ง 5 คนนี้เป็นทั้งบอร์ด ธปท.และ กนง.

จะมีเพียง 2 คน คือ ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน เอ็มเอฟซี และอดีต รมว.พาณิชย์ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กนง.จากภายนอก และ อัศวิน คงสิริ อดีตประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย อดีตกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กนง. จากภายนอก

ดังนั้น แนวทางหรือนโยบายของกรรมการ ธปท.ย่อมส่งตรงไปถึงกรรมการ กนง.โดยปริยาย และจะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวโยงกัน

และถึงแม้ว่า พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยในส่วนมาตรา 25 จะกำหนดหน้าที่ของบอร์ด ธปท.ไว้ว่า มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของ ธปท. อันประกอบด้วย

พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินของ ธปท. ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่าการ กำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร

กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนร่วมได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ว่าการพนักงาน

กำหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง

กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ฯลฯ

แต่ที่สุดการทำงานของบอร์ด ธปท.และบอร์ด กนง.ต้องเกี่ยวข้องกัน แยกการทำงานกันไม่ขาด เพราะคนที่นั่งทำหน้าที่ก็ซ้ำกันไปซ้ำกันมา ดังนั้นหน้าที่รับผิดชอบก็ไม่ได้ตัดขาดกับการทำงานของรัฐบาล

ฉะนั้น หากการล้วงลูกโดยการส่งจดหมายจากคลังถึง ธปท.ครั้งนี้ไม่บรรลุผลสำเร็จอาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ธปท.บางคน หรืออาจจะยกชุดก็เป็นได้

เพราะรัฐบาลลงทุนล้วงลูกการทำงานของ ธปท.ขนาดนี้ ต้องหวังผลกับการปรับลดดอกเบี้ยแน่นอน เพราะหากลดดอกเบี้ยลงได้จะช่วยลดแรงจูงใจเงินทุนไหลเข้า ชะลอการแข็งค่าของเงินบาท หนุนเศรษฐกิจเติบโต

ที่สำคัญหากมองข้ามช็อต คือ หากดอกเบี้ยในประเทศต่ำ ภาระการกู้เงินของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ ที่วางแผนการใช้เงินไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง

หากมาตรการล้วงลูกกดดอกเบี้ยสำเร็จรัฐบาลมีแต่ได้กับได้ จึงไม่แปลกใจที่จะเห็น รมว.คลัง ล้วงลึกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

งานนี้ค่อนข้างชัดว่า เป้าหมายรัฐบาลครั้งนี้ต้องบรรลุผล แต่หากไม่บรรลุผลสำเร็จ เป้าหมายก็ไม่ได้อยู่ที่การปลดผู้ว่าการ ธปท. เพราะตำแหน่งผู้ว่าการในปัจจุบันมีกฎหมายดูแลแล้ว ต่างจากในอดีตที่การเมืองมีอำนาจสั่งปลดได้ทันที

แต่เป้าหมายหลักคือกดดันบอร์ด ธปท.ให้กดดัน ธปท.และ กนง. ให้ลดดอกเบี้ยลงมาในการประชุมคณะกรรมการ กนง. วันที่ 20 ก.พ.นี้

เพราะการลดดอกเบี้ยลง 0.25% หากเทียบกับภาระเงินกู้ 2.3 ล้านล้านบาทนั้นหมายถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงปีละร่วม 6,000ล้านบาท

หากรัฐบาลกดดอกเบี้ยลงไม่ได้ ก็อาจจะเห็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ใน ธปท.แทนก็เป็นได้

ไม่เช่นนั้นอำนาจและเครดิตของ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลก็ไร้ความหมาย

ต้องติดตามอย่ากะพริบตา