posttoday

มนต์ดำแทรกฉุดโพลทรุด

07 กุมภาพันธ์ 2556

หากการลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตของ มานิจสุขสมจิตร

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

หากการลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตของ มานิจสุขสมจิตร เป็นเพราะมีภารกิจอื่นมากมาย ก็น่าจะเป็นภาวะปกติของคนในองค์กรต่างๆ ขอหลีกทางสละตำแหน่ง

แต่การยกเหตุผลอำลาตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย เสมือนมีมนต์ดำการเมืองเข้าแทรก ดูเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติแน่นอน

“ผมอับอายกับการทำโพลที่เอาใจผู้มีอำนาจและไม่มีคุณภาพ รวมถึงรับไม่ได้กับการรับจ้างกระทรวงมหาดไทยทำโพล” มานิจ เผยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลาออกกลางที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย

แม้ สุขุม เฉลยทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลในการทำโพลย่านสวนดุสิต ออกมายืนยันไม่เคยรับจ้างนักการเมืองหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งในการจัดทำโพล พร้อมกับยืนยันการลาออกของมานิจไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์หรือความน่าเชื่อถือของสวนดุสิตโพล

ไม่กระทบภาพลักษณ์ ไม่กระทบความน่าเชื่อถือจริงหรือ สมควรกลับมาพิจารณา

มานิจ มีต้นทุนสูงทางสังคม เป็นอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และอีกหลายๆ ตำแหน่งทางสังคม แวดวงสื่อสารมวลชนรับรู้กันดี ต่างให้การยอมรับ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลนี้หรือทำให้สถาบันอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีฉันทามติให้มาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2530

20 กว่าปีในการนั่งหัวโต๊ะสภามหาวิทยาลัย ผ่านมาหลายยุครัฐบาล เป็นเวลานานพอๆ กับสวนดุสิตโพลก่อร่างสร้างความเชื่อถือผ่านการทำโพลชุดต่างๆ แต่เหตุพลิกผันให้มานิจตัดสินใจลาออกก็อยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกับที่สังคม แวดวงสื่อ หันมาตั้งข้อสังเกตความแปลกแปร่งของการทำโพล มิใช่เฉพาะสวนดุสิตโพล แต่ยังมีโพลสถาบันอื่นๆ และโพลแฝงรับจ้างทางการเมืองที่สร้างแบบสำรวจในลักษณะพิลึกพิลั่นไม่น่าจะเป็นการตกผลึกความคิดจากสถาบันอุดมศึกษา ที่สำคัญผลสำรวจออกมามักเป็นคุณต่อฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจรัฐ ในที่สุดแรงกดดันอัดแน่นระเบิดออกมาในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่เอง

ตอกย้ำคำถามสื่อมวลชน อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจประกาศลาออก มานิจ ตอบว่า “คือการทำโพล มีการตั้งคำถาม ซึ่งก็อ่านออกว่าทำโพลขึ้นมาเพื่ออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2555 มีการไปสำรวจว่าโลกแตกแล้วอยากให้ใครมีชีวิตอยู่ จนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ทำโพลเพื่อเอาใจเรื่องนี้ เป็นที่มารับไม่ได้ จึงพิจารณาตัวเองจากกันด้วยดี”

ย้อนกลับไปดูการออกแบบสำรวจของสวนดุสิตโพล เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2555 ปรากฏว่ามีการถาม 7 นักการเมืองไทยที่ประชาชนอยากให้รอด ถ้าหากเกิดวันสิ้นโลกจริงผลสำรวจออกมาอันดับ 1 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันดับ 2 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับ 3 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันดับ 4 ชวน หลีกภัย อันดับ 5 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อันดับ 6 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อันดับ 7 บรรหาร ศิลปอาชา

ตัวอย่างโพลลักษณะนี้หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์โดยพลัน ได้ประโยชน์อะไร เนื่องจากมีการนำเสนอผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่อสาธารณะหลายครั้งหลายครายืนยัน ปี 2012 โลกไม่ถึงกาลอวสาน อีกอย่างตามหลักความเป็นจริงหากโลกแตกไม่ว่าวันนี้หรือวันพรุ่งแทบไม่มีเวลาเลือกนักการเมืองคนใดสมควรอยู่ ดีไม่ดีอาจเสียชีวิตกันทั้งหมด

เว้นเสียแต่สวนดุสิตโพลต้องการโหนกระแสความเชื่อวันสิ้นโลกเพียงเพื่อให้ทุกสายตาหันมาสนใจสวนดุสิตโพล อีกด้านหนึ่งกลับทำให้แวดวงการเมืองตั้งข้อสังเกตความพยายามโยงนักการเมือง ยิ่งเมื่อผลสำรวจออกมา ยิ่งลักษณ์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ก็ทำให้สวนดุสิตโพลถูกล่อเป้าหนักขึ้นว่ากำลังสร้างแบบสำรวจความนิยมนักการเมืองคนใดคนหนึ่งในทางอ้อมหรือไม่

โพลย่านดุสิตสร้างความฮือฮาต่อเนื่องแม้แต่การตั้งฉายารัฐบาลโดยสื่อมวลชนทำเนียบฯ เป็นประเพณีหยอกเย้า ก็ยังสามารถตั้งโจทย์ถามความเห็นประชาชนรู้สึกอย่างไรกับฉายาที่สื่อตั้งให้นักการเมือง ผลออกมาฉายาที่ไม่ตรงใจประชาชนมากที่สุด คือ อันดับ 1 ฉายา ปูกรรเชียง เพราะนายกฯ มีความตั้งใจในการทำงาน พยายามเร่งสร้างผลงานเพื่อพิสูจน์ตนเอง บ่อยครั้งที่ออกมาชี้เมื่อถูกพาดพิง ฯลฯ

ผลโพลประเภทสร้างแรงบวกให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล จึงไม่แปลกที่ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงขอบคุณสถาบันโพลที่ชี้ออกมาว่า ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของพรรคเพื่อไทยกำลังคะแนนนำ เปิดโอกาสให้นักการเมืองหยิบฉวยผลสำรวจคะแนนนิยมเกทับฝ่ายตรงข้าม และไม่แปลกเมื่อฝ่ายการเมืองอย่าง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ประกาศปลายปีที่แล้วขอใช้บริการสวนดุสิตโพลจัดเวทีสานเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 เวที ประสานร่วมมือรัฐบาลสร้างผลงานหาทางออกความขัดแย้ง

ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจ สถาบันโพลต้องทำการบ้านอย่างหนักต่อการออกแบบผลสำรวจทางการเมือง

โดยเฉพาะถ้าเน้นสำรวจแต่ความนิยมนักการเมืองหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจอย่างไม่รู้ตัว ผลสำรวจอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเป็นหลัก ฝ่ายการเมืองเลือกหยิบมาใช้ อะไรที่เสียประโยชน์เก็บเงียบพร้อมกับทำลายเครดิต สถาบันโพลก็รับรู้สถานการณ์ โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง อีกประการสถาบันโพลกำลังสร้างความไม่น่าเชื่อถือสะสม ตัวอย่าง บทเรียนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 โพลหลายสถาบัน ทำเอ็กซิตโพลล์สวนทางกับผลการเลือกตั้งจริง โดยเฉพาะใน กทม. เอ็กซิตโพลล์ ระบุว่า เพื่อไทยจะได้ สส.มากกว่า 20 ที่นั่ง แต่ผลจริงๆ ได้แค่ 10 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความคลาดเคลื่อนสูงมาก

เมื่อไม่ปรับตัว สลัดภาพออกมาให้ชัด จะสำรวจทางวิชาการเชิงลึกหรือมุ่งเน้นแต่สำรวจความนิยมทางการเมืองเชิงง่าย ทำงานเพื่อการเมือง ก็จะตกอยู่ในสภาพคลุมเครือสีเทา

ฉุดสถาบันโพลเข้าสู่วิกฤตระแวง หมดความเชื่อถือ