posttoday

"ลาว" ก้าวสำคัญสู่ WTO ขยายการค้า/ลงทุน-ดันอาเซียนเด่น

05 กุมภาพันธ์ 2556

หนึ่งในความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่สำคัญ

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

หนึ่งในความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่สำคัญ และเป็นที่จับตามองของสื่อหลายสำนักเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ ความเคลื่อนไหวของ “ลาว”

เพราะนอกจากการที่ในปีที่ผ่านมา ลาวจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อนแรงที่สุดในอาเซียนที่ 8.3% ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แล้ว ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการลงทุนในลาวที่เริ่มจะส่องแสงแวววาวมากขึ้น

ดังเห็นได้จากปริมาณเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่เติบโตขึ้นมากกว่า 40% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะโตมากขึ้นไปอีกในอนาคต ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ทั้งบริษัท โคคาโคลา จากสหรัฐ บริษัท เอสซีลอร์ อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป ผู้ผลิตเลนส์แว่นตาชื่อดังจากฝรั่งเศส ไปจนถึงมาลายันแบงก์กิง จากมาเลเซีย ก็หันมาลงทุนและตั้งโรงงาน รวมไปถึงตั้งสาขาเปิดในลาวแล้วเช่นกัน

“แม้ลาวจะไม่ได้น่าสนใจเมื่อเทียบกับไทยและเวียดนาม แต่การเติบโตที่สร้างผลกำไรอย่างมีเสถียรภาพก็ทำให้เป็นแรงดึงดูดที่ตรึงใจนักลงทุนต่างชาติได้” คริส แมนลีย์ ผู้จัดการบริษัท อาร์เอ็มเอ ลาว จากสหรัฐ กล่าว

ถึงกระนั้น หากว่ากันตามตรงแล้วนอกเหนือจากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง และการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะช่วยหลอมรวมให้ 10 ประเทศกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันแล้ว ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ลาวได้ก้าวขึ้นมาเป็นจุดสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติอย่างแท้จริง คือ การที่ลาวได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หลังจากที่ต้องใช้ความพยายามในการขอสมัครเป็นสมาชิกมานานกว่า 15 ปี ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ลาวได้เป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอเต็มตัวแล้ว

เพราะการเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอ ก็หมายถึงการที่ลาวจะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาการค้าและกฎระเบียบให้สอดรับกับมาตรฐานสากลและ การเปิดตลาดเสรีขึ้นในหลายๆ ด้าน ซึ่งที่ผ่านมาลาวได้ดำเนินการปรับแก้กฎหมายไปกว่า 90 ฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของดับเบิลยู ทีโอ แล้ว เช่น การกำหนดเพดานภาษีขาเข้าลงมาที่เฉลี่ยไม่เกิน 19% กฎหมายการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการคุ้มครองการลงทุน รวมไปถึงการเปิดตลาดการลงทุนในภาคบริการกว่า 10 สาขา ให้กับนักลงทุนต่างชาติ

ดังนั้น จึงทำให้เหล่านักลงทุนต่างชาติ มองทันทีว่าความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นการเปิดประตูการค้า การลงทุนสู่ลาว แก่นานาชาติให้กว้าง ซ้ำยังก่อให้เกิดผลดีแก่การพัฒนาประเทศของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับโอกาสและทางเลือกที่มากขึ้น หลังจากที่ตลอดมาลาวมักจะถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน เวียดนาม และไทย ครอบงำและเป็นฝ่ายผูกขาดมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการดำเนินติดต่อธุรกิจและการลงทุนของลาวกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม มักจะไม่ค่อยเป็นไปอย่างโปร่งใส ซ้ำยังมีการเล่นเส้นเล่นสายกับนักการเมืองและข้าราชการภายใน จนทำให้นักลงทุนจากชาติอื่นเสียเปรียบในการเข้าไปประมูลงานและลงทุน ขณะที่ประเทศลาวเองก็ต้องสูญเสียโอกาสในการได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุดจากนักลงทุน ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่รู้กันดีในหมู่นักลงทุนต่างชาติที่จะไปลงทุนในลาว

“เนื่องจากกระบวนการประมูลงานไม่โปร่งใส บริษัทจึงสามารถเข้าไปวุ่นวายกับกระบวนการกำหนดนโยบาย และความสำคัญของเศรษฐกิจได้ โดยอาศัยการติดสินบนและยัดเงินใต้โต๊ะแก่ข้าราชการและนักการเมือง” กั๋วหยู นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัท เมเปิลครอฟท์ ผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านความเสี่ยงในประเทศอังกฤษ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี

สอดรับกับความเห็นของหอการค้ายุโรปในลาว ที่ระบุว่า การเข้าสู่ดับเบิลยูทีโอของลาว จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนในลาวได้เป็นธรรมเท่าเทียมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่ขณะนี้กำลังเป็นที่จับจ้องของนักลงทุน เพราะลาวยังมีทรัพยากรอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

ขณะที่ผลดีอีกประการสำหรับการที่ลาวก้าวสู่สมาชิกดับเบิลยูทีโอต่อจากเวียดนามซึ่งเป็นประเทศอาเซียนรายล่าสุดที่เข้าร่วมดับเบิลยูทีโอในปี 2550 ก็คือ เป็นการช่วยเพิ่มเสน่ห์และความน่าสนใจให้กับภูมิภาคอาเซียนในเวทีโลกมากขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการที่พม่าเริ่มหันมาเปิดประตูรับการลงทุน และปฏิรูปประเทศพอดี อีกทั้งในปัจจุบันสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่จากจีนและสหรัฐ ก็พยายามเข้ามาแข่งขันอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอยังดีต่อลาวเองในแง่ของการได้รับโอกาสในการแสดงตัวบนเวทีโลก และได้รับข้อตกลงในระดับประเทศที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าบทบาทลาวในเวทีระดับประเทศในภูมิภาค หรือการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นลาวค่อนข้างเสียเปรียบ เนื่องจากเป็นประเทศเล็ก

อย่างไรก็ตาม แม้การก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอจะสามารถช่วยยกระดับลาวขึ้นมาให้เป็นตลาดการลงทุนที่น่าสนใจ แต่ในสายตาของนักวิเคราะห์บางส่วนกลับเห็นว่า ลาวจะยังไม่สามารถสลัดพ้นอิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน เวียดนาม และไทยไปได้ง่ายๆ เพราะ 3 ประเทศนี้ยงคงมีบทบาทสำคัญในการลงทุนต่อลาวอยู่

ดังเห็นได้จากในช่วงปี 25432544 ทั้ง 3 ประเทศนี้ยังคงครองความเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของลาวอยู่ โดยแบ่งเป็นเวียดนามที่ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนที่ 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยที่ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศอื่นๆ การลงทุนไม่เกิน 6 แสนเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกันนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามและจีน ก็ไม่ต้องการละทิ้งการครองความเป็นชาติที่มีอิทธิพลสำคัญในลาวไปง่ายๆ เพราะสถานะปัจจุบันถือว่าสร้างผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่ทั้งสองประเทศไม่น้อย โดยเฉพาะจีนที่มองว่าลาวคือเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมจีนกับอาเซียน และพัฒนาความเจริญของจีนตอนใต้ โดยผ่านการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังสร้างมายังกรุงเวียงจันทน์มูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะนี้

ฉะนั้น จึงเป็นที่จับตาว่า ผลจากการเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอของลาว จะช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจลาว และส่งผลกระทบต่ออาเซียนมากน้อยแค่ไหน