posttoday

ถอดรหัสสารจากมะกันม็อบแดงต้องเจรจา-เลี่ยงรุนแรง

01 เมษายน 2553

สหรัฐย่อมมีความกังวลกับความเป็นไปในไทยมากที่สุด นั่นก็เพราะไทยได้กลายเป็นประเทศที่คาดเดาทิศทางได้ยากที่สุด

สหรัฐย่อมมีความกังวลกับความเป็นไปในไทยมากที่สุด นั่นก็เพราะไทยได้กลายเป็นประเทศที่คาดเดาทิศทางได้ยากที่สุด

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2553 มีความเคลื่อนไหวที่ธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาจากรัฐบาลสหรัฐ เกี่ยวกับสถานการณ์การเผชิญหน้าที่กำลังเกิดขึ้นในไทย เมื่อ มาร์ก โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงสนับสนุนไทยแก้ไขวิกฤตการเมืองด้วยกระบวนการเจรจา และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

โทเนอร์ กล่าวว่า “เราสนับสนุนการเจรจาเมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มฝ่ายค้าน” และว่า “เราหวังอย่างจริงใจว่าความแตกต่างจะสามารถประสานได้ด้วยสถาบันประชาธิปไตยของไทย และไม่แก้ไขด้วยความรุนแรง”

ที่ไม่ธรรมดาก็คือ น้ำเสียงของสหรัฐในครั้งนี้ดูเหมือนจะแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม

ถอดรหัสสารจากมะกันม็อบแดงต้องเจรจา-เลี่ยงรุนแรง

พิจารณาจากความชอบธรรมของรัฐบาลและข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงให้กลับคืนสู่การเลือกตั้ง สหรัฐไม่อาจเลือกสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนอ้าง “ประชาธิปไตย” เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าทัศนะของทั้งสองฝ่ายจะต่างกันเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการเรียกร้องและยืนยันที่อิงกับเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่

จึงเหลือเพียงประเด็นเดียวที่สหรัฐจะหยิบขึ้นมาแสดงท่าที “เอนเอียง” ของตนได้ นั่นคือการเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรงระหว่างการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย

ในแถลงการณ์ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเรียกร้องให้แกนนำกลุ่มเสื้อแดงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นถ้อยแถลงที่ค่อนข้างสอดคล้องกับท่าทีของประเทศอื่นๆ ที่เคยแสดงความกังวลในลักษณะเดียวกัน

ทว่า ในถ้อยคำที่แสดงถึงความกังวลต่อความรุนแรง สหรัฐกลับระบุว่า “การชุมนุมโดยสันติคือสัญลักษณ์สำคัญของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย”

การระบุเช่นนี้ อาจหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐเริ่มให้ดุลระหว่างรัฐบาลของอภิสิทธิ์กับกลุ่มคนเสื้อแดงเกือบเท่าๆ กัน หรืออาจเท่าเทียมกันด้วยซ้ำ

ยืนยันข้อสังเกตนี้อีกครั้ง ด้วยถ้อยคำของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสะสางปัญหาผ่านการเจรจาและสถาบันประชาธิปไตย

คำว่าสถาบันประชาธิปไตย หรือ Democratic Institutions อาจหมายถึงสถาบันที่ใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการหาข้อสรุป ซึ่งอาจเป็นสถาบันใดก็ได้ ตั้งแต่กระบวนการรัฐสภา การลงประชามติ ไปจนถึงการเลือกตั้งใหม่ภายหลังการยุบสภา

แน่ล่ะ สหรัฐคาดหวังสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ยกเว้นความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย

สหรัฐย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยกับความเคลื่อนไหวอันวุ่นวายของการเมืองไทยในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา ข้อนี้ย่อมไม่เป็นที่ต้องสงสัยอีกต่อไป ในฐานะที่สหรัฐคือมหามิตรของไทย และคือผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย โดยมีไทยคือ “แบบอย่างอันดี” ของการปกครองระบอบนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือสหรัฐเห็นว่ากระแสการเมืองไทยกำลังมุ่งไปในทิศทางใด และสมควรที่สหรัฐจะประเมินสถานการณ์ในอนาคตอย่างไรมากกว่า

ความกังวลของสหรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยเป็น “แบบอย่างอันดี” ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในสายตาของสหรัฐ ไทยกำลังเดินสลับอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ระหว่างการเมืองที่ชี้นำโดยม็อบ หรือ Mob Rule และการเมืองที่ดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือ Militarism อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำลายประชาธิปไตยในไทยจนแตกเป็นเสี่ยงๆ และกระทบต่อกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตยในภูมิภาค

อีกส่วนหนึ่งของความกังวลของสหรัฐ และเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด คือการรักษาฐานะมหามิตรในท่ามกลางความขัดแย้งภายใน

หากสหรัฐเห็นว่าตนคือมหามิตรของไทย จึงแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไทยก็ควรรับไมตรีจิตนี้ด้วยความซาบซึ้งใจ แต่หากสหรัฐแทรกประเด็นซ่อนเร้นในความกังวลต่อวิกฤตการณ์การเมืองของมหามิตร ไทยก็มีสิทธิที่จะสงวนท่าทีตอบรับ

ในวงการการเมืองระหว่างประเทศ หรือกระทั่งการเมืองในประเทศ มีข้อพึงจดจำอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวรในทางการเมือง

มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้นที่คงทนถาวร!

ไม่ว่ารัฐบาลหรือกลุ่มคนเสื้อแดงหากฝ่ายใดเอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐมากที่สุด น้ำหนักของความ “เอนเอียง” ย่อมโน้มไปทางกลุ่มนั้น แม้อาจเป็นถ้อยแถลงที่มีโวหารคลุมเครือ แต่คงไม่ยากหากจะถอดรหัสที่ซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับรหัสที่ซ่อนในสารที่ส่งมายังไทยล่าสุด

สหรัฐย่อมมีความกังวลกับความเป็นไปในไทยมากที่สุด นั่นก็เพราะไทยได้กลายเป็นประเทศที่คาดเดาทิศทางได้ยากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยมีความชัดเจนที่สุดว่ากำลังเลือกเส้นทางใด

และในอนาคตไทยอาจกำลังเลือกจีนมาแทนที่สหรัฐ

เดวิด เชียร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเกี่ยวกับกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุผ่าน Asia Times Online ว่า ขณะนี้มีนักเรียนไทยศึกษาต่อในจีนมากกว่าสหรัฐ ด้วยจำนวนที่สูงกว่า 1 หมื่นคน ขณะเดียวกันจีนได้เข้ามาเปิดสถาบันด้านวัฒนธรรมและภาษาในไทยถึง 12 แห่ง จากทั้งหมด 70 แห่งทั่วเอเชีย

ขณะที่ แคธริน แดลไพโน แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในสหรัฐตั้งข้อสังเกตว่า พันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐ ลอยตัวมานานหลายปีราวกับเครื่องบินที่ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ

“ในระดับพื้นฐานแล้ว คนไทยรุ่นใหม่ไม่เข้าใจเงื่อนไขความสัมพันธ์เชิงพันธมิตร (ระหว่างไทยกับสหรัฐ) ทั้งยังมองเห็นถึงความลังเลใจของสหรัฐที่จะช่วยเหลือไทยในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 นอกจากนี้ สงครามในอัฟกานิสถานและอิรักซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความเหินห่างระหว่างสองประเทศ” แดลไพโน กล่าว

ข้อสังเกตของเชียร์และแดลไพโนสอดคล้องกับรายงานของ The United States-China Economic and Security Review Commission (USCC) ที่ระบุต่อสภาคองเกรสถึงการคืบคลานของอิทธิพลจีนในอาเซียน และกำลังแทนที่อิทธิพลสหรัฐในพื้นที่ดังกล่าว

หากนำเงื่อนไขนี้มาพิจารณาย่อมเห็นถึงความพยายามของสหรัฐที่จะใส่ใจไทยให้มากขึ้น เพื่อดึงมหามิตรเก่าแก่ไม่ให้หันเข้าหาจีนมากเกินไป รูปธรรมที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ สหรัฐต้องแสดงท่าทีเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยให้บ่อยครั้งเข้าไว้ เพื่อไม่ให้ไทยลืมมิตรภาพที่ผูกพันมายาวนาน

คำถามสำคัญก็คือ ในสายตาสหรัฐ ฝ่ายใดที่มีแนวโน้มจะหันเข้าหาตนมากที่สุด

คำตอบของคำถามนี้ย่อมเห็นได้ชัด คือรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เชื้อเชิญฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมาร่วมประชุมในไทย ทั้งยังประกบติดประธานาธิบดี บารัก โอบามา ในการประชุมเอเปก ที่สิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บริบทการเมืองระหว่างประเทศย่อมป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากบริบทการเมืองภายในของไทย ทว่า แต่คนไทยพึงตระหนักไว้ว่า สูตรสำเร็จของทางออกของวิกฤตการเมืองไทย ย่อมต้องปรุงขึ้นมาด้วยความร่วมมือของคนไทยทุกฝ่าย

ไม่ใช่ด้วย “ความกังวล” ของประเทศใดประเทศหนึ่ง