posttoday

พม่าติดปีก ต่างชาติผ่อนหนี้ปูทางปฏิรูป ศก. ผลักดันการเติบโต

30 มกราคม 2556

นอกเหนือจากจะสร้างความชื่นมื่นยินดีให้กับรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นอกเหนือจากจะสร้างความชื่นมื่นยินดีให้กับรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง และบรรดานักธุรกิจเจ้าของกิจการท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั่วไปแล้ว ข่าวการยกหนี้มูลค่ากว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.8 แสนล้านบาท) ของอีกกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติที่เรียกกันว่า “ปารีสคลับ” ยังสร้างความปรีดาต่อเหล่านักลงทุนทั่วโลก ทั้งใกล้และไกลได้เป็นอย่างดี

เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบวกที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญของแนวทางแผนงานการปฏิรูปเศรษฐกิจ เดินหน้าเปิดประเทศอ้าแขนรับนักลงทุนนานาชาติของประเทศพม่า

ทั้งนี้ ต้องยอมรับเสียก่อนว่า แม้รัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งหันมาเร่งปฏิรูปทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมตัดสินใจเปิดประเทศในช่วงตลอดทั้งปี 2555 ที่ผ่านมา จะได้รับการตอบรับจากประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั้งหลาย เห็นได้จากการออกมาผ่อนผันและยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจซีกโลกตะวันตก

กระทั่งธนาคารโลกต้องออกมาปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าว่า น่าจะพุ่งขึ้นไปได้ถึง 6.3% ในปีงบประมาณ 2555-2556 จากปีงบประมาณก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5.5%

แต่กระนั้นนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจต่างยังคงพร้อมใจออกมาท้วงติงบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายให้คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจกระโจนเข้าไปตลาดสดใหม่ที่เพิ่งแจ้งเกิดได้ไม่นานแห่งนี้

สาเหตุสืบเนื่องมาจาก “ความไม่พร้อม” ของพม่าเอง เช่น ด้านกฎระเบียบข้อบังคับ ด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า หรือท่าเรือ หรือกระทั่งด้านแรงงาน ที่ยังขาดทั้งความรู้และทักษะอยู่มาก จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการลงทุนไม่น้อย และเผลอๆ อาจได้ไม่คุ้มเสีย

เรียกได้ว่าต่อให้พม่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรมากมาย ไล่เรียงตั้งแต่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ หรือป่าไม้ หรือมีชัยภูมิที่ตั้งเป็นเลิศซึ่งอยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ข้อจำกัดที่มีทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นพ้องให้รอศึกษาสถานการณ์ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศพม่าที่ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศล้าหลังและยากจนที่สุดของโลก เงินลงทุนจากต่างชาติย่อมมีความสำคัญไม่น้อยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการจะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาได้ รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในภาคสำคัญต่างๆ เพื่อให้ประเทศสามารถเปลี่ยนศักยภาพมาเป็นการเติบโตอย่างแท้จริงได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปัญหาติดขัดหลักๆ ของพม่าก็คือ ไม่มี “เงิน” ไปลงทุน โดยรัฐบาลไม่สามารถยื่นเรื่องหยิบยืมขอกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เพราะประเทศพม่ามีหนี้เก่าค้างชำระมูลค่ามหาศาลกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 แสนล้านบาท) สั่งสมมานับตั้งแต่ปี 2530 ที่รัฐบาลทหารพม่าปกครองประเทศ ซึ่งขัดต่อกฎข้อบังคับของธนาคารระหว่างประเทศทั้งหลาย แม้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินเหล่านั้นยินดีช่วยมากแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น การที่กลุ่มประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ 9 ประเทศ (ปารีสคลับ) ตกลงยกหนี้เก่าให้อย่างน้อย 60% ของมูลหนี้ทั้งหมด รวมกับการที่ธนาคารโลกประกาศรับแผนการชำระหนี้เก่าที่รัฐบาลของพม่าค้างชำระไว้กับธนาคาร และเอดีบี จำนวนทั้งสิ้น 960 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิก) เป็นผู้ออกเงินกู้เพื่อชำระหนี้ก้อนนี้ให้ก่อนในลักษณะบริดจ์โลน (เงินกู้ยืมที่ใช้แก้ปัญหาในระยะสั้น) และการที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้หลัก ได้ให้คำมั่นที่จะยกหนี้ให้มากกว่า 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่นอร์เวย์จะยกหนี้ให้ 534 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) จึงเป็นข่าวดีสำหรับพม่าและนักลงทุนทั่วโลกแน่นอน

ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่ธนาคารเอดีบี เพิ่งจะประกาศให้เงินกู้ยืมพม่าแบบบริดจ์โลน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเจบิกอีก 512 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.54 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ)

สาเหตุเพราะการเคลียร์หนี้เก่าที่ค้างชำระมากว่า 26 ปี จะช่วยเปิดทางให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะสร้างขึ้นใกล้กับกรุงเนย์ปิดอว์ มูลค่า 1.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.69 แสนล้านบาท) ได้อย่างสะดวกโยธิน

เพราะการผ่อนผันยอมลดระดับหนี้ ช่วยให้เวิลด์แบงก์และเอดีบีสามารถอนุมัติเงินกู้งวดใหม่ให้รัฐบาลพม่านำไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือน พ.ย. เวิลด์แบงก์เพิ่งจะอาศัยข้อยกเว้น อนุมัติเงินกู้งวดพิเศษกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ 15 เขตชุมชนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาถนน สะพาน ระบบชลประทาน โรงเรียน สถานพยาบาล และตลาด

เพราะการมีแหล่งสินเชื่อคอยรับรองสนับสนุน จะช่วยสร้างเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยกระดับการบริหารจัดการและวางรากฐานด้านการเงิน การลงทุน การธนาคาร ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และเป็นไปอย่างมั่นคงยั่งยืน

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งยังเห็นตรงกันว่า ข่าวดีของพม่าคราวนี้จะส่งผลบวกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเช่นไทย เนื่องจากไทยมีที่ตั้งเชื่อมโยงระหว่างพม่ากับโลก ซึ่งจะทำให้ปริมาณการติดต่อธุรกรรมธุรกิจไหลผ่านไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แอนเนตต์ ดิกซอน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำพม่าได้ออกมาท้วงว่า พม่ายังคงมีงานที่ต้องจัดการทำอีกมาก ทั้งปัญหาความยากจน การจัดสรรความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการสร้างงานให้กับประชาชนภายในประเทศ

สอดคล้องกับนักวิเคราะห์และนักกลยุทธ์อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเห็นตรงกันว่าแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าจะเริ่มส่องแสงสดใสมากขึ้น แต่หนทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลพม่า และผู้ที่เกี่ยวข้องคาดหวังเอาไว้ยังคงอยู่อีกยาวไกล

เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาที่อาจทำให้พม่าสะดุดได้ง่ายรออยู่มากมาย ไล่เรียงตั้งแต่การที่รัฐบาลพม่ายังมีอิทธิพลของทหารครอบคลุมอยู่มาก ความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ หรือความล่าช้าในการกำหนดระบบระเบียบทางการเงินและเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ทั่วโลกยังคงต้องจับตามองความเปลี่ยนแปลงใน “พม่า” อย่างใกล้ชิดต่อไป