posttoday

ระเบิดศึก...ชิงงบลงทุนน้ำ

29 มกราคม 2556

ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว และอีกไม่นานก็จะรู้ผลว่ากลุ่มบริษัทใดบ้างใน 8 กลุ่มบริษัท ที่จะผ่านการคัดเลือก “รอบแรก”

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว และอีกไม่นานก็จะรู้ผลว่ากลุ่มบริษัทใดบ้างใน 8 กลุ่มบริษัท ที่จะผ่านการคัดเลือก “รอบแรก” ในการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) ลงทุนน้ำ 3 แสนล้านบาท

ตอนแรกมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า จะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 29 ม.ค. และเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

แต่ข่าวล่าสุด ปลอดประสพ สุรัสวดีรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)“ควบตำแหน่ง” ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ปัญหาอุทกภัย ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ กบอ. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา

หัวข้อหลักการประชุมครั้งนี้ คือ สรุปผลการให้คะแนนกรอบแนวคิดการลงทุนน้ำ และ “เคาะ” ว่า กลุ่มบริษัทใดบ้างที่เข้ารอบในบัญชีรายชื่อ 3 กลุ่มบริษัทที่ได้สิทธิเข้าร่วมประมูลลงทุนระบบน้ำ “รอบสุดท้าย” ในแต่ละแผนงานหรือโมดูล จากแผนลงทุนน้ำทั้ง 10โมดูลให้ ครม.พิจารณา

แผนลงทุนน้ำ 10 โมดูล ประกอบด้วย 1.แผนงานลุ่มนน้ำเจ้า พระยา 6 โมดูล งบประมาณรวม 2.9 แสนล้านบาท

ภารกิจของงานจะมีตั้งแต่ สร้างอ่างเก็บน้ำ 5 หมื่นล้านบาท การจัดผังการใช้พื้นที่ 5 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานหรือแก้มลิง 6 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก 7,000 ล้านบาท สร้างฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้านบาท ระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัยอีก 3,000 ล้านบาท

2.แผนงานลุ่มน้ำอื่นๆ 17 ลุ่มน้ำ 4 โมดูล ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท

ภารกิจหลักคือสร้างอ่างเก็บน้ำ 1.2 หมื่นล้านบาท จัดผังการใช้พื้นที่ 1 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก 1 หมื่นล้านบาท ระบบพยากรณ์และเตือนภัย 2,000 ล้านบาท

นี่คือชิ้นงานที่ชี้เป็นชี้ตายในการคัดเลือกบริษัททั้งหลาย

หลักเกณฑ์การให้คะแนนนั้น กรอบแนวคิดที่เสนอต้องสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และหากกลุ่มบริษัทใดเสนอแนวคิดลงทุนใหม่ๆ เช่น ระบบป้องกันน้ำทะเลหนุนท่วมพื้นที่ กทม. จะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่มอีกต่างหาก

ขณะเดียวกัน ปลอดประสพกำหนดสเปกการให้คะแนนว่า หากกลุ่มบริษัทใดเสนอกรอบแนวคิดลงทุนน้ำทั้ง 10 โมดูล จะได้คะแนนมาก เพราะ กบอ.ต้องการให้การบริหารจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำและแต่ละแผนงานมีความเชื่อมโยงกัน แต่หากกลุ่มบริษัทใดเสนอกรอบแนวคิดมาน้อย เช่น เสนอมา 1 แผนงานก็จะได้คะแนนน้อย

“แพ็กเกจลงทุนระบบน้ำทั้ง 10 โมดูลต้องเชื่อมโยงกัน เอาง่ายๆ เช่น ถ้าขุดทางน้ำแล้วไม่เชื่อมอ่างเก็บน้ำก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอ่างเก็บน้ำเชื่อมมาลงแม่น้ำ กรณีน้ำท่วมก็เช่นกัน น้ำที่ล้นจากแม่น้ำสายต่างๆ ก็ต้องเชื่อมกับเขื่อนที่กั้นน้ำท่วม” ปลอดประสพ แย้มไต๋

นอกจากนี้ กรอบการให้คะแนนยังรวมถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิค ปลอดประสพ ได้ตั้ง อภิชาติ อนุกูลอำไพ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่ง อภิชาติ เองก็ไม่ใช่ใครอื่น เขาเป็นอดีตข้าราชการที่สนิทสนมกับปลอดประสพมานาน และเป็นทีมงานที่ช่วยปลอดประสพมาตั้งแต่ครั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) คราวน้ำท่วมใหญ่

เมื่อนำเกณฑ์การให้คะแนนเหล่านี้มาประกอบกับรายชื่อกลุ่มบริษัทที่เสนอตัวเข้าชิงชัยโครงการน้ำในแต่ละโมดูล จะพบว่ามี 5 กลุ่มบริษัท จาก 8 กลุ่มบริษัทที่เป็น “ตัวเต็ง”เข้ารอบสุดท้ายประมูลโครงการน้ำ

สาเหตุหลักมาจากการเสนอตัวในการบริหารจัดการครบทั้ง 10 โมดูล ซึ่งจะได้คะแนนมากตามเกณฑ์ที่ปลอดประสพกำหนดไว้

กลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายเป็นตัวเต็ง ได้แก่ 1.บริษัท วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (KWater) จากเกาหลีใต้

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์

3.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยญี่ปุ่น

4.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยเกาหลี Consortium TKC Global

5.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV

ขณะที่บริษัท China CAMC Engineering Co, Ltd. จากจีน ที่เสนอเพียง 1 โมดูล คือฟลัดเวย์

กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ เสนอ 2 โมดูล คือ ระบบพยากรณ์ฯ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำอื่นๆ

กลุ่มกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที เสนอ 7 โมดูล เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดผังการใช้พื้นที่ ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก เป็นต้น

กลุ่มเหล่านี้มีสิทธิตกรอบการคัดเลือกสูงยิ่ง

ทว่ามีกระแสข่าววงในเล็ดลอดออกมาว่าทั้ง 8 กลุ่มบริษัทต่างผ่านเข้ารอบสุดท้ายกันถ้วนหน้า

เพราะหลังปลอดประสพได้มีการนำผลการคัดเลือกรายงานนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงบ่ายวันที่ 28 ม.ค.แล้ว ปรากฏว่าได้เสนอให้ “ตัดชื่อ” กลุ่มบริษัทจากจีนที่เสนอตัวลงทุนฟลัดเวย์เพียง 1 โมดูล ออกไป แต่นายกฯ ต้องการให้นำกลับไปทบทวนอีกครั้ง เพราะวิตกกังวลในเรื่องสายสัมพันธ์

นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเสนอรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเข้า ครม. ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์

“วันที่ 1 ก.พ.นี้ ปลอดประสพจะเรียกประชุม กบอ. เพื่อสรุปรายชื่ออีกครั้ง และนำรายชื่อบริษัทเสนอ ครม. วันที่ 5 ก.พ. ก่อนประกาศผลวันที่ 7 ก.พ.นี้ ส่วนสาเหตุยังไม่สามารถนำเข้า ครม.ได้ เพราะต้องตรวจสอบข้อกฎหมายการจัดตั้งกลุ่มบริษัทว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้า ครม.อนุมัติแล้ว บริษัทมีปัญหา ครม.จะมีปัญหาได้” แหล่งข่าววงใน ระบุ

แต่นั่นก็ทำให้อดตั้งข้อสังเกตว่า การสรุปรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเสนอ ครม.ต้องเลื่อนไป 1 สัปดาห์ มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งในเรื่องความ “เกรงอกเกรงใจ” ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้รับปากผู้นำประเทศต่างๆ ไว้

หากจำกันได้ในห้วงเวลาก่อนและระหว่างการคัดเลือกบริษัทลงทุนน้ำมูลค่ามหาศาล จะพบข่าวสารหน้าสื่อว่า ผู้นำหลายประเทศที่มาเยือนไทย หรือกรณีที่ผู้นำไทยไปเยือนต่างประเทศ ผู้นำแต่ละประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็“ฝากฝัง” ให้รัฐบาลไทยพิจารณาบริษัทของประเทศตัวเองให้มีส่วนร่วมลงทุนระบบน้ำแทบทุกครั้งไป

นี่ยังไม่นับการวิ่งเต้นของบรรดาผู้รับเหมาในแต่ละกลุ่มบริษัทที่มีผู้รับเหมาไทยร่วมกลุ่มด้วย

เพราะหากลองจับสัญญาณดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันวาน พบว่ากลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยที่มีชื่อเข้าร่วมประมูลโครงการน้ำ เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บริษัท ช.การช่าง บริษัท ล็อกซเล่ย์ ราคาหุ้นพาเหรดกัน “เขียวยกแผง” จึงน่าจะมีข้อมูล “วงใน” หลุดรอดออกมา

แต่สิ่งที่ปรากฏสะท้อนได้จากราคาหุ้น คือ หุ้นรับเหมาที่เข้าข่ายราคาปรับเพิ่มขึ้น 56% เท่านั้น

นั่นเพราะการคัดเลือกกลุ่มบริษัทรับเหมาโครงการน้ำรอบนี้เป็นการคัดเลือกรอบแรกเท่านั้น ยังจะต้องมีการพิจารณาคัดเลือกกันรอบสุดท้าย คือ คัดเลือกให้เหลือ 1 กลุ่มบริษัทต่อ 1โมดูล ก่อนจะคว้างานไปดำเนินการ

ซึ่งตามตารางเวลาของ กบอ. ระบุชัดเจนว่าจะเสนอรายชื่อบริษัทที่ชนะการประมูลให้ ครม. วันที่ 16 เม.ย.นี้

ส่วนขั้นตอนต่อไป กบอ.จะจัดร่างทีโออาร์โครงการน้ำ 10 โมดูล และให้สิทธิ 3 กลุ่มบริษัทในบัญชีแต่ละโมดูลเสนอรูปแบบก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง และราคาค่าก่อสร้างที่เหมาะสม โดยการก่อสร้างหรือการลงทุนจะทำให้รูปแบบ “ดีไซน์-บิวด์” ภายใต้เงินลงทุนไม่เกินเงินกู้ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

แค่ยกแรกการคัดเลือกผู้รับเหมาลงทุนน้ำก็พบ “ร่องรอย” ที่ไม่ชอบมาพากลบางอย่างแล้ว

เช่นเดียวกับสัญญาณที่ส่งตรงจากปลอดประสพชัดเจนว่า จะลาออกจากการเป็นประธานคัดเลือกบริษัทลงทุนน้ำ หลังจากที่คัดเลือกเหลือ 3 กลุ่มบริษัทต่อ 1 โมดูลแล้ว

เหตุผลที่ปลอดประสพบอกว่าไม่ต้องการเป็นประธานคัดเลือก เพราะไม่ต้องการ “ถูกด่า” อีก และจะตั้งปลัดกระทรวงคนใดคนหนึ่งมาเป็นประธานแทนตนเอง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดประสพจะ “หลุดวงโคจร” ในการตัดสินใจคัดเลือกผู้ชนะแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน การทำงานลงทุนระบบน้ำในมือปลอดประสพยังมี “กลุ่มเจ๊ ด.” กลุ่มก๊วนในพรรค กลุ่มผู้รับเหมาเส้นใหญ่ เข้ามาล็อบบี้และแทรกแซงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะมีการส่ง “คนของเจ๊” เข้ามา “คุม” ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.)

กรรมการ กบอ.หลายคนบ่นอุบถึงความ“ไม่อิสระ” เพราะอยู่ใต้อาณัติผู้ทรงอิทธิพลหลากกลุ่ม ที่ทนไม่ได้ก็ขอถอนตัวไปแล้วหลายราย

ขณะที่ชั้นเชิงของปลอดประสพก็นับว่าพอตัว เนื่องจากการประชุม ครม. 2 สัปดาห์ก่อน ครม.อนุมัติให้ สบอช.ไปขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งเท่ากับให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามามีอำนาจทับซ้อนกับเลขาฯ สบอช. หากเรียกตามขั้นราชการแบบเก่าก็อยู่ในชั้น “ซี 11” เท่ากัน

ศึกชิงชัยโครงการลงทุนน้ำที่มีงบประมาณก้อนโตรออยู่เบื้องหน้า ยังคงเป็นหนังม้วนยาวให้ต้องติดตามกันต่อไป

ท่ามกลางการจัดสรรผลประโยชน์บนงบประมาณก้อนโตผ่านการวิ่งเต้นและดึงดันของบรรดากลุ่มก๊วนผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาล