posttoday

วิกฤตยูโรโซนส่อปะทุซ้ำศก.ไม่ฟื้น-ว่างงานพุ่ง-การเมืองไม่นิ่ง

29 มกราคม 2556

นับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะงัดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะงัดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น เพื่อเข้าช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตหนี้อย่างหนักออกมาเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับการที่กรีซสามารถบรรลุเงื่อนไขเพื่อแลกรับกับเงินช่วยเหลือจากคณะเจ้าหนี้ (ทรอยกา) ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ทำให้หลายฝ่ายจะมองว่าปัญหาวิกฤตหนี้กลุ่มยูโรน่าจะผ่านพ้นจุดวิกฤตที่หนักที่สุดไปแล้ว และน่าจะก้าวเดินเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายได้แล้วในปีนี้

เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปนกับอิตาลี ที่อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพที่ 5.17% และ 4.17% ตามลำดับ ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่แล้ว ที่ทางอีซีบียังไม่ประกาศมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวที่ยังอยู่สูงถึงระดับ 67%

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มปัญหาหนี้ยูโรโซนจะไม่น่าเป็นห่วงเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่หากพินิจพิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงตัวแปรต่างๆ ในปีนี้ ต้องยอมรับเลยว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนไม่ได้มีทีท่าจะเบาลงเหมือนเช่นที่กล่าวไว้ในข้างต้นเลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นกลับยิ่งส่อแววว่าจะเดือดปะทุขึ้นอีกครั้งในปีนี้

เพราะปัจจัยหลักของการแก้ปัญหาอย่างการเร่งทำการปฏิรูปเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจจริงทั้งระบบสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า และกลับเข้าสู่ภาวะการเติบโตในกลุ่มประเทศยูโรโซนยังคงไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นมาได้เลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยิ่งเมื่อต้องมาเจอกับผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการรัดเข็มขัดในหลายประเทศเพื่อลดรายจ่าย ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นลงไปอีกในอนาคต

เห็นได้จากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของกลุ่มยูโรโซนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 94.5% จากตัวเลขเดิมในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 90%

ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งจะเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.นี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์โดยอ้างนักเศรษฐศาสตร์ 3-4 คน ว่าจะยังพุ่งสูงขึ้นทำสถิติไปอยู่ที่ 11.9% ขณะที่เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 11.8% ส่วนที่สเปนเมื่อสัปดาห์ก่อนก็เพิ่งออกมาเผยว่า ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นถึง 26% ของจำนวนแรงงานทั้งระบบ ด้านการว่างงานในกรีซในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ที่ 26.8% เช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น แนวโน้มการเติบโตจีดีพีในปีนี้ของกลุ่มยูโรโซนก็ยังถูกตอกย้ำ และสะท้อนถึงแนวโน้มที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ถูกไอเอ็มเอฟออกมาตัดลดคาดการณ์ลงจากที่หดตัว 0.2% ลงมาอยู่ที่หดตัว 0.4%

“แม้ว่ามาตรการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้นจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับกลุ่มยูโรโซนได้มาก แต่เรายังไม่เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงเลย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันฟื้นภาคเศรษฐกิจให้มากขึ้น” มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี กล่าวในระหว่างการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม

ทรรศนะของประธานอีซีบี สอดคล้องกับคำพูดของ มาร์ติน ฮัตชินสัน นักยุทธศาสตร์จากมันนี่ มอร์นิง อินเวสติง ที่กล่าวว่า ตัวเลขที่สะท้อนออกมาในตลาดพันธบัตรไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงความเป็นไปของสภาวะการเงินและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้ดีที่สุดเสมอไป

ขณะที่ปัจจัยต่อมาที่จะทำให้วิกฤตหนี้ยูโรโซนน่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ แผนการปฏิรูปและแนวทางข้อตกลงต่างๆ ที่เหล่าบรรดาผู้นำยุโรปร่วมกันก่อร่างสร้างกันขึ้นมา เพื่อแก้ไขที่มาของวิกฤตจนถึงรากถึงโคนโดยผ่านการประชุมไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งในระยะ 23 ปีที่ผ่านมานั้น ก็ดูเหมือนจะยังคงไม่สามารถนำออกมาใช้ตอบสนองและแก้ไขปัญหา ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นได้อย่างทันท่วงที

เช่น ข้อตกลงการตั้งสหภาพธนาคารที่ผู้นำยุโรปหวังใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา และตรวจ สอบภาคธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศต่างๆ กว่า 150 แห่งโดยตรง หากเกิดมีปัญหาขึ้นมาและกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2014 นั้น ดูเหมือนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคธนาคารเอกชนสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส กลับต้องการได้รับเงินช่วยเหลือที่เร็วกว่านั้น

นอกจากนี้ แม้จะมีแผนการเริ่มให้สหภาพธนาคารเริ่มดำเนินการในปีหน้าขึ้นมา แต่ต้องยอมรับว่าแนวทางการดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวยังคงมีข้อขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซนอยู่หลายข้อ เช่น การเข้าไปแบกปัญหาด้านธนาคารที่ประสบปัญหาการเงินจนถูกสั่งให้ปิดกิจการ ฝ่ายไหนจะเป็นผู้เข้าไปแบกรับ

“สหภาพธนาคารยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และเหล่าผู้นำยุโรปก็ไม่มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กร ดังนั้นจึงคาดว่าตลาดจะเริ่มหมดความอดทน และวิกฤตจะเริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง” แบร์รี ไอเชนกรีน นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐ กล่าวในระหว่างการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม

ขณะที่ปัจจัยสุดท้ายที่น่ากังวล และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วิกฤตหนี้ยูโรโซนกลับมาเดือดอีกครั้งในปีนี้ก็คือ เสถียรภาพและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ เพราะในปีนี้จะมีการเลือกตั้งผู้นำทั้งในอิตาลีช่วงเดือน ก.พ. และเยอรมนีในช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งอาจส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงต่อแผนการและแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ในประเทศนั้นๆ จนก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้แสดงความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีการเลือกตั้งในอิตาลีนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาด เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ ประกาศแล้วว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง ขณะที่ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งหลายคน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ต่างก็พยายามชูนโยบายการเลิกใช้แผนการรัดเข็มขัด

ดังนั้น จึงเป็นความเสี่ยงว่าหากประชาชนที่หมดความอดทนกับผลกระทบจากแผนรัดเข็มขัดหันไปเลือกพรรคการเมืองที่ต่อต้านแผนรัดเข็มขัด สามารถขึ้นมาครองอำนาจได้ ก็อาจทำให้แผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ การตัดลดงบ ประมาณรัฐบาลเดิมอาจสิ้นสุดลง ซึ่งนั่นจะทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อแผนการลดหนี้ในอิตาลี และจะทำให้วิกฤตหนี้ยูโรโซนกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่การเลือกตั้งในเยอรมนีก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะเริ่มมีประชาชนไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลนำเงินไปใช้ช่วยประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาผ่านกองทุนส่วนกลางของอียู เช่น กรีซ มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น หากรัฐบาลของ อังเกลา แมร์เกิล พ่ายแพ้ขึ้นมา ย่อมหมายถึงหัวเรือใหญ่ผู้เป็นเสาหลักในการแก้ปัญหาหนี้ยูโรโซนอาจเกิดการเปลี่ยนทิศทางการแก้ปัญหา และการเข้าให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในกลุ่มขึ้นมาทันที

นอกเหนือจากประเด็นการเลือกตั้งทางการเมืองของ 2 ประเทศยูโรโซนดังกล่าวที่เสี่ยงจะเป็นชนวนวิกฤตหนี้แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ ความเป็นเอกภาพของยุโรปที่เริ่มอ่อนแอลงทุกขณะ เห็นได้จากกรณีของอังกฤษ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร 17 ประเทศ แต่ก็เริ่มหันมาขอทบทวนบทบาทถึงความสัมพันธ์กับอียูอีก 26 ประเทศแล้ว ด้วยการให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการทำประชามติในปี 2017 ว่าจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกของอียู

เนื่องจากเห็นว่าแนวทางและผลประโยชน์ของประเทศตนเองไม่สอดคล้องกับอียูในหลายเรื่อง โดยเฉพาะแผนการตั้งสหภาพธนาคารที่อังกฤษมองว่าจะทำให้บทบาทในการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารในยุโรปของอังกฤษต้องลดลง

ขณะเดียวกันบางประเทศสมาชิกก็เริ่มรู้สึกไม่ชอบกับการอยู่ร่วมกลุ่มอียูสักเท่าไร เพราะเริ่มตระหนักว่าการเป็นสมาชิกร่วมกลุ่มอียูก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับประโยชน์และถูกอุ้มชูเป็นพิเศษเมื่อเกิดปัญหาขึ้นเสมอไป ดังเห็นได้จากการมอบเงินช่วยเหลือที่มาพร้อมกับเงื่อนไขรัดเข็มขัดที่สุดหิน เหมือนเช่นที่ไอร์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ กำลังเผชิญอยู่

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเริ่มเห็นกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเดินออกจากการเป็นสมาชิกอียู รวมไปถึงการยกเลิกใช้เงินสกุลยูโรเสียมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ

จึงนับว่าปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายของการแก้ไขวิกฤตหนี้ยูโรที่น่าจับตามองอย่างกระชั้นชิดอย่างยิ่ง และไม่แน่ว่าปีนี้อาจเป็นการตัดสินชี้ขาดได้เลยว่ายูโรโซนจะอยู่หรือไป