posttoday

เตือนโลกเร่งปฏิรูปภาคธนาคารจัดการก่อนวิกฤตพัดหวน

28 มกราคม 2556

“ช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้ไป คือระยะเวลาที่ธนาคารต้องเด็ดเดี่ยว เด็ดขาดในการปฏิรูป” มาร์ก คาร์นีย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“ช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้ไป คือระยะเวลาที่ธนาคารต้องเด็ดเดี่ยว เด็ดขาดในการปฏิรูป” มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา และว่าที่ผู้ว่าการธนาคารคนใหม่ของธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวระหว่างการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ครั้งล่าสุดที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

นับเป็นการแสดงความเห็นที่ตรงไปตรงมาและเข้าประเด็นมากที่สุด สำหรับการถกเถียงหารือในเรื่องสถานะของสถาบันการเงินและการธนาคารโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ในสภาวะที่นักวิเคราะห์เปรียบเปรยไว้ว่า ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่ยังไม่ฟื้นจากไข้ (วิกฤตการเงิน) สักเท่าไรนัก

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเด็นที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งแคนาดากล่าวขึ้นนี้ ไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่อย่างใด

เพราะนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2550 ซึ่งจุดชนวนด้วยวิกฤตซับไพรม์ และกลายเป็นผลกระทบลามข้ามทวีปมายังยุโรป จนธนาคารต่างๆ ในภูมิภาคอยู่ในสภาพแทบล้มทั้งยืนหากไม่ได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ บรรดานักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงประชาชนในฐานะเจ้าของเงินภาษีที่นำไปช่วยโอบอุ้มธนาคารเหล่านั้น ต่างลุกฮือขึ้นเรียกร้องให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกเร่งปฏิรูปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการธนาคารให้เข้มงวดและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพูดคุยหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะภายในภูมิภาคยุโรป ในส่วนที่เรียกว่า ยูโรโซน หรือ 17 ชาติสมาชิกที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน แต่จนแล้วจนรอด ความเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับระบบธนาคารให้แข็งแกร่งกลับไม่คืบหน้า โดยแผนการปฏิรูปส่วนใหญ่ เช่น การสร้างสหภาพการธนาคาร (Banking Union) เพื่อเชื่อมโยงภาคธนาคารให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบและหน่วยงานกำกับเดียวกัน ก็หยุดอยู่แค่ระดับของการพูดคุยเจรจา

กระทั่งล่าสุด คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องออกมาประสานเสียงกับ คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา ว่า หากทั่วโลกโดยเฉพาะยูโรโซน ไม่เร่งเดินหน้าดำเนินการปฏิรูปภาคธนาคารของตนเอง น่ากลัวว่าวิกฤตภาคการเงินน่าจะกลับมาหลอกหลอนกันอีกครั้ง

หลักฐานยืนยันก็คือ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารมองต์ เดอี ปาสชิ ดิ เซียนา ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอิตาลี เพิ่งจะยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือมูลค่า 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.59 แสนล้านบาท) หลังจากที่ธนาคารไม่มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ หลังต้องแบกรับหนี้มูลค่ามหาศาลจากการถือพันธบัตรและตราสารหนี้ต่างๆ โดยธนาคารกลางอิตาลีเพิ่งจะอนุมัติเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งยังระบุอีกว่า เมื่อพิจารณาจากรายงานข้อมูลของธนาคารในยุโรปและสหรัฐแล้ว จะเห็นได้ว่า “ความเสี่ยงปลายแถว” (Tail Risk) หรือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อยมาก แต่จะมีผลขาดทุนมหาศาลหากเกิดขึ้นจริง มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแน่ หากไม่ยกเครื่องกฎระเบียบข้อบังคับในกิจกรรมของภาคการเงินทั่วโลก

เหตุผลที่ผู้อาวุโสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของโลกต้องออกมากระตุ้นเตือนเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากความวิตกกังวลว่าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศที่เริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนจนสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้บรรดารัฐบาลหรือผู้นำประเทศทั้งหลายผ่อนคลายความเข้มงวด และเมินเฉยต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระบบยันโครงสร้างของภาคธนาคารของประเทศ

ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ สิ่งที่ภาคการเงินการธนาคารจะต้องเร่งเดินหน้าจัดการอย่างเร่งด่วนในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ก็คือ เหล่าธนาคารเงา (Shadow Banking) การซื้อขายตราสารหนี้ และประเด็นเรื่อง “ใหญ่เกินกว่าจะล้ม” (Too Big To Fail)

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากิจการกิจกรรมของธนาคารทั่วโลกได้เปลี่ยนจากแหล่งฝากเงินและให้กู้ยืมเป็นหนึ่งในแหล่งธุรกิจทำกำไรรายใหญ่ของโลก ซึ่งธนาคารเกือบทั่วโลกต่างหันหน้าเข้าหาตลาดทุนกันมากขึ้น โดย สตีฟ ปิคาริลโล นักวิเคราะห์อิสระด้านการเงิน แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ซีกกิง อัลฟา ระบุว่า ประมาณ 60% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกต่อปีอยู่ในภาคการเงิน

รูปการณ์ข้างต้นส่งผลให้นักลงทุนทั้งหลายแห่แหนเข้ามาภาคอุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น เช่นเดียวกันกับที่ภาคธนาคารเริ่มแตกยอด แตกสาขาออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยหนึ่งในนั้นรวมถึงระบบธนาคารเงาและตราสารหนี้ โดยเฉพาะการซื้อขายแบบโอทีซี (OverTheCounter Derivatives) หรือการตกลงซื้อขายที่คู่สัญญาติดต่อกันโดยตรงหรือผ่านคนกลาง พร้อมกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดสัญญาตามความต้องการของคู่สัญญากันเอง

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แทบทุกสำนักต่างยอมรับว่า หนึ่งในชนวนสำคัญของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นมา ล้วนเป็นผลความผิดพลาด เพราะการละเลยการดำเนินงานของธนาคารเงา (บริษัทและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่ทำหน้าที่ประหนึ่งธนาคาร และมุ่งทำกำไรสร้างผลตอบแทน) เหล่านี้

ขณะเดียวกัน การไม่ใส่ใจสังเกตการซื้อขายตราสารหนี้แบบโอทีซี ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมาเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น

สำหรับในส่วนของประเด็นที่ว่า “ใหญ่เกินล้ม” นั้น นักวิเคราะห์หลายฝ่ายและผู้เกี่ยวข้องต่างเห็นว่า หากปล่อยให้ธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้ม ผลกระทบที่ตามมาค่อนข้างหนักหนาสาหัส เนื่องจากกระทบทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศนั้นๆ และอัตราการว่างงานของประเทศ เพราะภาคการเงินการธนาคารในปัจจุบันถือเป็นตลาดแรงงานหลักๆ ของหลายประเทศทั่วโลก

กระนั้น นักวิเคราะห์ต่างเห็นว่าเหตุผลข้างต้นไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้าช่วยเหลือโอบอุ้มธนาคารยามประสบปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่ควรใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการเดินหน้าปฏิรูประบบธนาคาร พร้อมออกกฎข้อบังคับคุมเข้มให้ดีกว่าและโปร่งใสกว่าเดิม

ทั้งนี้และทั้งนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งแย้งว่า ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่การออกกฎระเบียบเพิ่มข้อบังคับในภาคธนาคารให้มากขึ้น แต่ควรจะอยู่ที่การปรับปรุงยกระดับให้กฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันมีทั้งศักยภาพและประสิทธิภาพที่จะนำมาบังคับใช้ได้มากขึ้นมากกว่า

เพราะหากเข้มงวดเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย จนธนาคารต้องลดภาระด้วยการลดการจ้างงาน ลดการให้กู้ยืมจนเดือดร้อนถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) รวมถึงการให้ผลตอบแทนน้อย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นฟูอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจ

ดังนั้น การบังคับใช้กฎให้รอบคอบรัดกุม ย่อมช่วยให้ผลลัพธ์เป็นไปในทางที่ดีกว่าแน่นอน