posttoday

อนาคต "ศิลปอาชา" ชี้ชะตา"ชาติไทยพัฒนา"

25 มกราคม 2556

การอสัญกรรมของ “ชุมพล ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การอสัญกรรมของ “ชุมพล ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ช็อกแวดวงการการเมืองอยู่ไม่น้อย ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ “บรรหาร ศิลปอาชา” แกนนำพรรคและพี่ชาย ออกมายืนยันตลอดว่าอาการไม่น่าเป็นห่วง และพร้อมจะกลับมาทำงานให้กับรัฐบาลได้แน่นอน

สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้กับสังขารเมื่ออาการป่วยที่เผชิญอยู่นั้นหนักเกินจะรับไหวทำให้อาจารย์ชุมพลต้องจากไปอย่างสงบเหลือไว้แต่ชื่อและเพียงผลงาน

ทั้งนี้ ชุมพล ศิลปอาชา เป็นคนหนึ่งที่คอยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ บิ๊กเติ้ง มาตลอด โดยเฉพาะในปี 2538 ที่เกิดกระแสเรียกร้องปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในสมัย บรรหาร เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งนั้น บรรหาร มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2538 แต่งตั้ง ชุมพล เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.)

หน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมาย คือ การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองตามแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม ในท้ายที่สุด คปก.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในการกำเนิดรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการขนานนามว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

นับเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ทำให้พรรคชาติไทยมีที่ยืนทางการเมืองได้สง่างามอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกมองว่าพรรคการเมืองพรรคนี้มักชอบเล่นบทเข้าข้างคนชนะหรือปลาไหลก็ตาม

จากนั้น ชุมพล ตัดสินใจหันหลังให้กับการเมืองและเบนเข็มไปเล่นบทสมาชิกวุฒิสภาควบคู่ไปกับงานวิชาการแทน โดยไม่คิดว่าตัวเองจะกลับมามีตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือรัฐบาลอีก จนกระทั่งในปี 2551 พรรคชาติไทยถูกยุบตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ผลจากคำวินิจฉัยไม่ต่างอะไรกับฟ้าผ่าลงกลางครอบครัวศิลปอาชา เพราะเป็นผลให้ถูกตัดสิทธิการเมืองยกครัวพร้อมๆ กันถึง 3 คนทั้ง “บรรหาร-วราวุธ-กัญจนา” เหลือเพียง ชุมพล ที่ไม่โดนร่างแหไปด้วย ผนวกกับมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งการเป็นสายเลือดเดียวกันและมีประสบการณ์การเมืองโชกโชน ทำให้ บรรหาร วางใจให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาและเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาของพรรคได้

ครั้งหนึ่ง บรรหาร บอกถึงความเหมาะสมของน้องชายที่มีดีพอสำหรับงานการเมืองเมื่อปี 2551 ว่า “ท่านชุมพลเป็นคนเก่ง เคยเป็น รมช.คมนาคม เป็น รมว.ศึกษาธิการ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นเขามีความรู้ความสามารถ”

เช่นเดียวกับในปี 2552 น้องชายคนนี้ก็บอกถึงบุญคุณของพี่ชายที่มากจนไม่สามารถปฏิเสธคำขอร้องให้คืนเวทีการเมืองได้ว่า “เวลานี้มีปัญหาว่าสุพรรณบุรี ไม่มีศิลปอาชาแล้ว ผมก็เห็นใจและรู้ว่าตัวเองต้องช่วย ไม่ช่วยไม่ได้ เมื่อพี่ชายประสบปัญหาเรื่องยุบพรรค ถ้าเราไม่ช่วยแล้วใครจะช่วย มีบุญคุณ เลี้ยงเรามาตลอด ต้องช่วยกัน ไม่ช่วยพี่แล้วจะไปช่วยใคร”

จากคำพูดดังกล่าวคงพอที่จะยืนยันได้ว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดและทางการเมืองขนาดไหน และอย่าได้แปลกใจว่าทำไมจึงได้เห็นน้ำตามังกรของ บรรหาร ในระหว่างพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพน้องชาย

ขณะเดียวกันการสูญเสียครั้งนี้ได้นำมาซึ่งภาระหนักให้กับ “บรรหาร ศิลปอาชา” บุรุษวัย 80 ปี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ในด้านปัญหาเฉพาะหน้าในการเลือกตั้งบุคคลเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแทน ชุมพล ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าไรนัก เพราะได้วางตัว “สมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มาเป็น รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เพราะเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยปั้นบึงฉวากให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสร้างชื่อให้กับจังหวัด และให้ “ยุคล ลิ้มแหลมทอง” รมว.เกษตรและสหกรณ์ คนปัจจุบันควบรองนายกรัฐมนตรีไปอีกตำแหน่ง

แต่ปัญหาหลัก คือ อนาคตของพรรคในระยะยาวจะเป็นอย่างไร

ถ้าดูทิศทางพรรคจากผลการเลือกตั้ง สส.ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเข้าใกล้ความเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางค่อนไปทางเล็กมากขึ้นจากปี 2538 ที่มี สส. 92 คน มาจนถึงปัจจุบันเหลือ 19 คน และตัวชี้วัดถึงสถานการณ์ไม่สู้ดีนักก็เริ่มเกิดขึ้นหลังจากถูกเจาะในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ไป 1 ที่นั่งจากการเลือกตั้งปี 2554 ทั้งที่พรรคชาติไทยพัฒนาผูกขาด สส.แบบยกจังหวัดมาหลายทศวรรษ

ท่ามกลางสถานการณ์แบ่งขั้วมากขึ้นยิ่งส่งผลให้การเมืองเริ่มมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงแค่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปทุกที อาจเป็นผลให้พรรคขนาดกลางที่มีจุดยืนก่ำกึ่งไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างพรรคชาติไทยพัฒนามีที่ยืนในการเมืองน้อยลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาสำคัญอยู่ที่การบริหารภายในนั้นไม่ได้มีรูปแบบของคณะกรรมการโดยสมบูรณ์เท่าไรนักถ้าเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ ถึงจะมีคณะกรรมการบริหารพรรคตามข้อกำหนดในกฎหมายพรรคเมือง แต่ในทางปฏิบัติทุกการตัดสินใจจะมาจาก บรรหารเท่านั้น

แสดงให้เห็นว่าพรรคนี้เป็นของครอบครัวศิลปอาชาและคงอยู่ในระบบการเมืองด้วยตัวบุคคลมากกว่าระบบการบริหารจัดการ

เมื่อการบริหารงานเป็นรูปแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่นายใหญ่เมืองสุพรรณบุรีเพียงคนเดียวจึงไม่เอื้อต่อการสร้างบุคลากรขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทน ก่อนหน้านี้ในอดีต บรรหาร เคยพยายามจะทาบทาม “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” รวมไปถึง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” สมัยเข้าสู่สนามการเมืองใหม่ๆ มาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคแทน

ทว่า ทั้งสองคนกลับเลือกเดินเส้นทางของตัวเอง “สุวัจน์” ไปสานต่ออุดมการณ์พรรคชาติพัฒนา ขณะที่ “ทักษิณ” ไปสร้างพรรคไทยรักไทยด้วยนโยบายประชานิยมจนสามารถผูกขาดการเป็นรัฐบาลมาหลายสมัย

นอกจากนี้ บรรหาร ก็ยังพยายามสร้าง “ลูกท็อปวราวุธ” และ “ลูกนากัญจนา” ให้มาเป็นทายาทการเมืองนอกเหนือจากการเป็นทายาททางสายเลือด ให้เป็นทั้ง สส.สุพรรณบุรีและรัฐมนตรีหลายสมัยเพื่อหวังว่าจะช่วยเพิ่มชั่วโมงบินให้กับลูกทั้งสองคน

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้เท่าไรนัก ด้านหนึ่ง บรรหาร ก็เข้าใจ จำเป็นต้องใช้เวลาอีกพอสมควรถึงจะประสบความสำเร็จ

กลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่บีบให้ต้องเล่นการเมืองต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะเกษียณเมื่อไร อย่างที่เจ้าตัวมักจะประกาศในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือวันเกิดวันที่ 19 ส.ค.ของทุกปีว่า “ต่อให้อายุ 90 ปี ก็ไม่ทิ้งการเมือง มีอะไรก็ขอให้มาคุยกันให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป”

จากนี้ไปอนาคตของพรรคชาติไทยพัฒนาที่สืบทอดอุดมการณ์พรรคชาติไทยซึ่งมีความเก่าแก่เป็นรองแค่พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ให้มั่นคงอย่างไรบนถนนการเมืองที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอดีตนายกรัฐมนตรี บรรหาร แต่เพียงผู้เดียว