posttoday

ประชากรสูงวัยล้นโลกชนวนวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

23 มกราคม 2556

นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปะทุขึ้นในสหรัฐ และขยายวงลุกลามออกไปทั่วโลกในปี 2008

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปะทุขึ้นในสหรัฐ และขยายวงลุกลามออกไปทั่วโลกในปี 2008 ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกยังคงไม่คืบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบว่า ในอีกไม่กี่ปีให้หลังต่อมา หลายประเทศในกลุ่มประเทศยูโรโซนต่างก็ตกเป็นเหยื่อจากวิกฤตหนี้สาธารณะ ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็โดนหางเลขไปด้วย จนทำให้การขยายตัวอย่างร้อนแรงต้องชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้นจะยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าผลลัพธ์จะออกมาในทิศทางใด แต่ดูเหมือนว่าปัญหาที่จะกลายมาเป็นตัวจุดชนวนวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ในอนาคตได้เริ่มตั้งเค้าขึ้นมาแล้ว ซึ่งนั่นก็คือปริมาณประชากรผู้สูงอายุ (วัย 60 ปีขึ้นไป) ทั่วโลกได้เพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัวในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าต่อจากนี้

แต่ในทางกลับกันคนที่อยู่ในวัยทำงานจะมีสัดส่วนที่ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว !

รายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า จำนวนคนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอีก 200 ล้านคน ไปอยู่ที่ 1,000 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวไปจนเกินที่ระดับ 2,000 ล้านคน ในปี 2050 ขณะที่ทั้งอัตราการเกิดทารกและคนในวัยแรงงานในหลายประเทศกลับมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย เช่น สหรัฐที่จำนวนการเกิดทารกลดต่ำลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2011 ขณะที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2012 อยู่ในอัตราส่วนที่ทารก 1.3 คนต่อผู้หญิง 1 คน ส่วนญี่ปุ่นอัตราการเกิดในปี 2010 ลดลงมาอยู่ที่ 1.39 จุด ขณะที่ปี 1925 อยู่ที่ 5.10 จุด ซึ่งเกณฑ์เฉลี่ยของโลกในปี 2010 อยู่ที่ 2.52 จุด

ด้านอัตราคนที่อยู่ในวัยทำงานของจีน (อายุ 15–59 ปี) เมื่อปีที่แล้วก็ได้เข้าสู่ภาวะหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีถึง 3.45 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ทำให้ประชากรในวัยแรงงานจีนลดลงมาอยู่ที่ 937 ล้านคน ขณะที่ในอีก 12 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ปี 2025 คาดว่าคนในวัยทำงานของจีนจะลดลงอีกปีละ 10 ล้านคน ส่วนประชากรในวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้น 360 ล้านคน ในปี 2030 จากเดิมที่ 200 ล้านคน ในปี 2013 ซึ่งสาเหตุสำคัญก็เกิดมาจากผลของการใช้นโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลที่ดำเนินมาหลายสิบปี

ด้วยเหตุนี้ทำให้แนวโน้มภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัย เงินสวัสดิการ รวมไปถึงการรักษาพยาบาลในประเทศต่างๆ ในอนาคตของรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกย่อมหนักมากขึ้นเป็นทวีคูณ ขณะที่การเติบโตและศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็จะถูกเหนี่ยวรั้งไปด้วย เนื่องจากรัฐบาลต้องถ่ายเทงบประมาณที่มีอยู่มาใช้ดูแลผู้สูงอายุที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศ ทั้งๆ ที่งบประมาณเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ในการลงทุนต่างๆ ที่สามารถสร้างประโยชน์ในระยะยาวได้มากกว่า

ขณะเดียวกันด้วยสัดส่วนวัยประชากรสูงอายุและคนทำงานที่ไม่สมดุลและสอดรับกันก็หมายความว่ารัฐบาลก็ต้องหันมาไล่บี้ภาษีจากประชาชนหนักขึ้น ทำให้คนวัยทำงานในอนาคตจะต้องทำงานหาเงินหนักขึ้นไปด้วย

ปัจจุบันปัญหาสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น จนเป็นภาระหนักอึ้งต่อค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการของรัฐ และส่งผลต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวอย่างร้ายแรงก็ได้เริ่มสะท้อนออกเห็นชัดจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กรีซ อิตาลี โปรตุเกส และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการในประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ เพิ่มสูงกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีแล้ว และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีญี่ปุ่นเพิ่มสูงกว่า 200% ต่อจีดีพีแล้ว (เป็นระดับหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก)

“ประเทศพัฒนาแล้วเสี่ยงที่จะถูกคุกคามจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากประเทศต่างๆ ยังไม่รีบเตรียมการรับมือกับจำนวนคนสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อภาวะการคลังของประเทศต่างๆ ในระยะยาว” ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุ พร้อมเสริมว่าหากบรรดาประเทศยุโรป 27 ประเทศยังไม่ปฏิรูปในระบบบำนาญและสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีอยู่มากล้นนั้น ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นจาก 6.9% ในปี 2020 ขึ้นเป็น 119.4% ในปี 2050

ทั้งนี้ หากเจาะลึกลงไปที่ตัวปัญหา และแยกระดับความเลวร้ายมาดูในรายละเอียดนั้นต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงแค่ระดับความรุนแรงเพียงผิวเผินเท่านั้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาในเอเชีย

เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีพื้นฐานในด้านโครงสร้างการเงินด้านงบประมาณที่ดูแข็งแกร่งในการรองรับปัญหามากกว่า แต่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยเฉพาะในจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย กลับไร้ซึ่งความพร้อมในด้านแผนการรับมือและงบประมาณที่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการเตรียมรับมือกับแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลสังคมผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นระบบ

“ระบบกองทุนเงินที่ใช้ดูแลคนสูงอายุ และคนในวัยเกษียณของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศเช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ขาดความพร้อมในการรับมือกับจำนวนผู้สูงวัยที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” รายงานของเอดีบี ระบุ

ขณะที่ เฮอรัล ฟานเดอ ลินเด หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดทุนของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุว่า สัดส่วนของกองทุนเงินที่ใช้ดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (โออีซีดี) ครอบคลุมผู้ที่อยู่ในวัยทำงานมากถึง 70% ขณะที่ในเอเชียตะวันออกครอบคลุมเพียงแค่ 37% ส่วนเอเชียใต้เลวร้ายกว่านั้นอยู่ที่ 11%

สำหรับข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ได้คาดการณ์ว่า ช่องว่างในของจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้เพื่อดูแลคนหลังเกษียณอายุกับเงินในกองทุนที่มีไว้ดูแลคนหลังเกษียณดังกล่าวของเอเชียในปัจจุบันจะขยายตัวมากขึ้นไปถึง 10.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ในปี 2010 ช่องว่างดังกล่าวมีอยู่เพียงแค่ 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

จากแนวโน้มปัญหาที่ดูเหมือนจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจและรัฐบาลในอนาคต จึงไม่แปลกใจที่บางประเทศเริ่มจะหันแสวงหามาตรการต่างๆ นานา เพื่อสนับสนุนให้คนหันมามีลูกมากขึ้น อาทิ การให้เงินพิเศษสำหรับผู้ที่มีบุตรในเยอรมนี สิงคโปร์ เป็นต้น โดยเฉพาะล่าสุดในกรณีสิงคโปร์นั้น ทางรัฐบาลก็เพิ่งจะประกาศขึ้นเงินโบนัสอีก 50% ให้สำหรับพ่อแม่ที่มีบุตรคนที่สองที่ 6,000 เหรียญสิงคโปร์ (ราว 1.42 แสนบาท) และจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8,000 เหรียญสิงคโปร์ สำหรับบุตรคนที่สามและสี่

ขณะที่ทางด้านจีนนั้น สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่ารัฐบาลปัจจุบันได้เริ่มหันมาตระหนักถึงผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวที่ทำให้จำนวนประชากรในวัยแรงงานลดลงมากขึ้น และอาจทำการผ่อนปรนการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวในอนาคตมากขึ้น ดังเห็นได้จากแถลงการณ์ในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ได้ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทางรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขและปฏิรูป

“การปรับเปลี่ยนนโยบายลูกคนเดียวนั้นจะต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะดำเนินการเมื่อไรเท่านั้น” อดีตเจ้าหน้าที่ด้านคณะกรรมการดูแลการวางแผนครอบครัวของจีนรายหนึ่ง กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ปัญหา และรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัยที่จะมากขึ้นนั้น ยังได้รับคำแนะนำวิธีในการรับมือจากผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนะให้คนในเจเนอเรชันนี้หันมาออมเงินมากขึ้น เพื่อเตรียมการไว้สำหรับภาระที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต การแนะนำให้นำเงินในกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ ไปลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น และจะได้รองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นมากในอนาคตได้ทันท่วงที รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนของอายุของการเกษียณอายุให้มากขึ้นจากเดิม ดังเห็นได้จากการที่หลายประเทศในกลุ่มยูโรโซนและประเทศที่พัฒนาแล้วได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้แนวทางข้อเสนอต่างๆ ในข้างต้นจะฟังดูสมเหตุสมผลในทางทฤษฎี แต่เมื่อนำมาลงมือในทางปฏิบัติแล้วจะพบว่าเป็นสิ่งที่ยากจะลงมือทำ และผลักดันมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คนรุ่นปัจจุบันหันมาออมเงินมากขึ้น เพราะต้องยอมรับแนวทางดังกล่าวไปขัดกับความต้องของรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ที่กำลังต้องการหันมากระตุ้นการบริโภคจากตลาดภายใน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศตนเอง และต้านทานผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกไปในตัว

ขณะเดียวกัน มาตรการเพิ่มอายุการเกษียณ จากการทำงาน รวมไปถึงตัดลดสวัสดิการที่มีอยู่อย่างเหลือล้น แน่นอนว่าเหล่าบรรดารัฐบาลต่างๆ ก็ไม่เต็มใจอยากจะผลักดันมากนัก เพราะจะต้องถูกประชาชนซึ่งเป็นฐานเสียงของตนเองต่อต้าน และลุกขึ้นมาประท้วงอย่างแน่นอน ดังเห็นได้จากในยุโรป เช่น กรีซ สเปน และอิตาลี

ส่วนที่ญี่ปุ่น เมื่อต้นปีที่แล้วมีผลักดันการเพิ่มอายุของผู้เกษียณจากการทำงานไปอยู่ที่ 65 ปี จากเดิม 60 ปี แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องถอนข้อเสนอไป และหันมาสร้างทางเลือกด้วยการให้สิทธิพนักงานเลือกได้เองว่าจะเกษียณเลย หรือเลือกที่จะทำงานต่อไปจนถึง 65 ปี ในฐานเงินเดือนที่ต่ำลง

ฉะนั้น เหล่าบรรดารัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชีย จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และทบทวนถึงการรับมือถึงแนวโน้มปัญหาภาระผู้สูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ให้ดี

เพราะมิเช่นนั้น เศรษฐกิจโลกก็คงมิแคล้วที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่อีกครั้ง