posttoday

ลุยลงทุน 2.2 ล้านล้านเศรษฐกิจไทยแค่คลาน

16 มกราคม 2556

ในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงสังคมที่สำคัญในปัจจุบันคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของประชาชนที่ยังคงไม่ทั่วถึง อีกทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจในแต่ละครั้งได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม ทั้งในด้านสุขภาพและด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก

ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามวางแผนนโยบายด้านสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สำคัญในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือนโยบายการเพิ่มการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศในระยะยาว และยังจะช่วยให้การกระจายรายได้และเพิ่มการสร้างโอกาสให้กับประชาชน

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วิเคราะห์และประเมินถึงผลกระทบของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ไว้อย่างน่าสนใจ

ในระยะที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเมกะโปรเจกต์ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2540 ที่มีสัดส่วนแค่ 11.6% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และคิดเป็น 5.1% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ผลที่ตามมาคือขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง จากข้อมูลล่าสุดของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งได้เผยแพร่รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันอันดับโลกปี 2555-2556 พบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยขยับขึ้น 1 อันดับจากอันดับ 39 ในปี 2554 มาเป็นอันดับที่ 38 ในปี 2555 จากทั้งหมด 144 ประเทศ คะแนนรวมอยู่ที่ 4.5 คะแนน

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วยสิงคโปร์ และฟินแลนด์

เมื่อจัดเรียงลำดับขั้นตอนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นที่ 2 คือเป็นประเทศที่มีการใช้ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน ซึ่งมีประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด 39 ประเทศ

WEF ได้แบ่งขั้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด 38 ประเทศ รวมกัมพูชาและเวียดนาม

ระดับที่ 2 เป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไทยและอินโดนีเซีย

ระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดโดยเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ มีประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ 35 ประเทศ รวมสิงคโปร์

ยิ่งหากพิจารณาสัดส่วนการลงทุนรวมที่แท้จริงต่อจีดีพีของประเทศไทยเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเฉลี่ย 10 ปี พบว่าอยู่ที่ 21.5% ต่อจีดีพี ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 6 ประเทศ โดยประเทศเวียดนามมีสัดส่วนสูงสุดเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 35.4% ต่อจีดีพี

ผลที่ตามมาทำให้การพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจในระยะปานกลางอาจได้รับผลกระทบ หากภาครัฐยังคงมีการลงทุนในระดับที่ต่ำต่อไป

สศค.จึงเห็นด้วยว่าแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ในปี 2555 ภาครัฐมีแผนสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว โดยกำหนดให้มีการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ สำหรับในระยะ 7 ปี (ปี 2555-2562) ด้วยวงเงินลงทุน 2.27 ล้านล้านบาท

ในเบื้องต้นได้กำหนดให้มีการลงทุนในด้านต่างๆ ครอบคลุม 7 สาขา ประกอบด้วย ระบบราง ระบบขนส่งทางบก ระบบขนส่งทางน้ำ ระบบขนส่งทางอากาศ ระบบสาธารณูปการ ระบบพลังงาน และระบบการสื่อสาร

กรอบการลงทุนจะมีวงเงินลงทุนที่จะเบิกจ่ายระหว่างปี 2555-2559 ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และวงเงินลงทุนที่จะเบิกจ่ายภายหลังจากปี 2559 จนจบโครงการอีกประมาณ 7.4 แสนล้านบาท

แหล่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนจะประกอบด้วยเงินงบประมาณ เงินกู้ ซึ่งรัฐบาลจะมุ่งเน้นการกู้เงินภายในประเทศเป็นหลัก เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในรูปแบบ PPP

สศค.วิเคราะห์ว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเมกะโปรเจกต์จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งในส่วนของภาคการลงทุนและการบริโภค รวมถึงการจ้างงานและระดับราคาสินค้า ในบางสาขาของโครงการเมกะโปรเจกต์จำเป็นต้องนำเข้าสินค้า ตลอดจนวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด

สศค.พิเคราะห์ว่า สมมติฐานการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ในช่วงปี 2555-2562 วงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเป็นโครงการใหม่ 30% หรือคิดเป็นจำนวน 6.81 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายกระจายเท่ากันในระยะ 7 ปี

เมื่อรัฐบาลมีรายจ่ายสำหรับการลงทุนใหม่ ส่งผลทำให้การลงทุนและการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน การลงทุนใหม่ของภาครัฐนับเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบโดยตรง ส่งผลทำให้ดัชนีราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีแรกๆ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการลงทุนที่สูงกว่าดัชนีราคาสินค้าโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาคงที่ (Real GDP) ปรับตัวสูงขึ้น

การลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ในระยะ 7 ปี ส่งผลทำให้การลงทุนที่แท้จริงโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.26% จากในกรณีฐานการบริโภคที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 0.09% จากในกรณีฐาน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Nominal GDP) ปรับตัวสูงขึ้น 1.2% จากในกรณีฐาน

ทั้งนี้ เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 2.18% จากในกรณีฐาน

ขณะเดียวกัน เมื่อการลงทุนและการบริโภคเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ดัชนีราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น 0.74% จากในกรณีฐาน และเมื่อราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกลดลง 0.07% จากในกรณีฐาน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการลงทุนที่สูงกว่าดัชนีราคาสินค้าโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาคงที่ (Real GDP) ปรับตัวสูงขึ้น 0.42% จากในกรณีฐาน

ผลกระทบต่อการกระจายรายได้นั้น พบว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเมกะโปรเจกต์ทั้งในระบบขนส่งทางถนน ราง น้ำ และอากาศยาน ระบบสาธารณูปโภคและระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เป็นผลทำให้กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้ครัวเรือนในระดับล่างเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนดังกล่าว

ด้านผลกระทบต่อภาคการผลิตรายสาขานั้น ผลการใช้แบบจำลองวิเคราะห์ผลกระทบได้แสดงให้เห็นว่าสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกอันเนื่องมาจากการลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น

มีสาขาการผลิตมากถึง 24 สาขา จากสาขาการผลิตทั้งหมด 43 สาขา

สาขาการก่อสร้างได้รับประโยชน์มากที่สุดอยู่ที่ 2.54% รองลงมาคือ สาขาบริการ ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 1.81% รองลงมาคืออุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 1.63%

ขณะที่สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมี 19 สาขา โดยสาขาการผลิตที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือ สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น โรงกลั่น 0.69% น้ำตาล 0.51% ผลิตภัณฑ์ยางและอาหารสัตว์ เสียประโยชน์ 0.48%

นี่คือผลกระทบของการลงทุนก้อนมหึมาที่รัฐบาลต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิต

หน่วยงานของรัฐแห่งนี้ได้จัดทำข้อเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้การลงทุนเมกะโปรเจกต์ก้อนมหึมา 2.2 ล้านล้านบาท จะทำให้คนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ และจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

แต่ด้วยมูลค่าและขนาดของโครงการที่มีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่สูง ทำให้ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการ

การพิจารณาแนวทางการระดมทุน จึงควรมีการผสมผสานระหว่างการใช้เงินงบประมาณ เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ เงินกู้ และการระดมทุนในวิธีอื่นๆ

เพื่อมิให้กระเทือนต่อฐานะทางการคลังของประเทศ