posttoday

โกดังข้าวล้น"ระเบิดเวลา"ล้มจำนำข้าว

15 มกราคม 2556

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการที่รัฐบาลตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาแพงกว่าตลาด 50%

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการที่รัฐบาลตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาแพงกว่าตลาด 50% กลายเป็นประเด็นทิ่มแทงรัฐบาลอีกครั้ง ในขณะที่พิษบาดแผลการระบายข้าวแบบ “จีทูจีเก๊” ยังไม่หายสนิท

เมื่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว ภายใต้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ประชุมกันวันที่ 27 ธ.ค. 2555 และมีการรายงานความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ซึ่งพบว่า วันที่ 25 ธ.ค. 2555 มีชาวนานำข้าวเปลือกเข้าโครงการ 1.35 ล้านราย ปริมาณทั้งสิ้น 7.75 ล้านตัน

แต่ปรากฏว่ามีการส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังกลางเพียง 2.12 แสนตันเท่านั้น คิดเป็นข้าวสารไม่ถึง 5% ของข้าวเปลือกที่รับจำนำ

นอกจากนี้ มีข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์สั่งสีแปรสภาพแล้ว แต่ค้างการส่งมอบอยู่ 1.73 ล้านตัน

“ตามระเบียบเมื่อโรงสีรับข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำ โรงสีต้องสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน แต่ตอนนี้โรงสีหลายแห่งไม่สีแปร เพราะไม่สามารถส่งข้าวสารไปโกดังกลางได้ บางเที่ยวรถสิบล้อขนข้าวไปส่งโกดังกลางต้องรอ 6-7 วัน จึงนำข้าวเข้าโกดังกลางได้” มานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยระบุ

หากย้อนไปดูตัวเลขทางการพบว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่อ้างข้อมูลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สรุปผลการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2554/2555 ทั้งข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรังว่ามีข้าวเปลือกข้าวทั้งสิ้น 21.703 ล้านตัน วงเงินหมุนเวียน 3.36 แสนล้านบาท

ข้าวเปลือก 21 ล้านตันเมื่อทอนเป็นข้าวสารตามสูตร สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ที่คำนวณว่า ข้าวเปลือก 1 ตันเมื่อสีแปรแล้วจะได้ข้าวสาร 600-650 กิโลกรัม นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลจะข้าวสารเก็บไว้ในโกดัง 12.6 ล้านตัน และเมื่อรวมกับสต๊อกข้าวสารที่ค้างในสต๊อกก่อนมีโครงการรับจำนำข้าว 2.2 ล้านตัน

ทำให้รัฐบาลมีข้าวสารในกำมือ 14.6 ล้านตันเลยทีเดียว

ทว่าข้อมูลจากสมุดปกเขียว “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ได้ระบุว่า รัฐบาลทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับหลายประเทศ 7.328 ล้านตัน มีการส่งมอบแล้ว 1.49 ล้านตัน จึงประเมินได้ว่าในช่วงต้นปี 2556 รัฐบาลมีข้าวสารเก็บไว้ในโกดังกลางทั่วประเทศ 80-90 แห่งอย่างน้อย 12 ล้านตัน

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขปริมาณข้าวสารไม่มีใครยืนยันได้ว่าอยู่ครบทั้งจำนวนหรือไม่ เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ

“ข้าวสารที่บอกว่ามี 10 ล้านตัน ไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่เท่าไรแน่ มีการนำข้าวออกมาเวียนหรือไม่ และที่บอกว่าขายข้าวจีทูจีไปแล้ว 1 ล้านตัน ความจริงขายไปเท่าไร ไม่มีใครรู้” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนปัจจุบันตั้งข้อสังเกต

ขณะที่สถานการณ์ร้อนๆ วันนี้ คือ ข้าวเปลือกที่โรงสีรับจำนำจากชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ที่รับจำนำมาแล้ว 7.75 ล้านตัน และข้าวเปลือกที่เหลือจนสิ้นสุดฤดูกาลที่จะออกมาสมทบอีก 8 ล้านตันตามตัวเลขที่ สศก.ประเมิน

จะทำให้รัฐบาลมีข้าวเปลือกในมือเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านตัน หรือคิดเป็นข้าวสาร 9 ล้านตัน

“หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการระบายข้าวแบบจูทูจีผ่านเครือข่าย “เสี่ยเปี๋ยง” มีการระบายข้าวสารจากสต๊อกรัฐน้อยมาก ที่เคยคาดจะระบายข้าว 1.7-1.8 ล้านตันก็ทำไม่ได้ เห็นได้จากเงินค่าข้าวต้องจ่ายคืน ธ.ก.ส.มีเพียง 4.1 หมื่นล้านบาท จากที่บอกว่าจะส่งคืน 8 หมื่นล้านบาท” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ขณะที่ท่าทีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ หัวเรือใหญ่โครงการรับจำนำข้าว ได้กล่าวกับตัวแทนโรงสีและผู้ส่งออกเกี่ยวกับแนวระบายข้าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “จะไม่ระบายข้าวสารในราคาต่ำกว่าราคาตลาด” เพราะเกรงว่าจะถูกตรวจสอบและมีความผิดในภายหลังก็เป็นได้

เงื่อนปมตรงนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้การระบายข้าวสารออกจากสต๊อกทำได้ยากยิ่ง หากไม่มีการจัดการใดๆ ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย.รัฐบาลจะมีข้าวสาร 2 ฤดูกาลผลิตเก็บไว้ในสต๊อกเกิน 20 ล้านตันเป็นแน่

นี่จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่ารัฐบาลจะเก็บข้าวสารจำนวนนี้ไว้ที่ไหน

จากสถิติกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าปีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 มีชาวนาขึ้นทะเบียนเกษตรกร 3.260 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 59.78 ล้านไร่ ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต2555/2556 ตัวเลขแทบไม่ต่างกัน โดยมีชาวนาขึ้นทะเบียนเกษตรกร 3.196 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 59.56 ล้านไร่

แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ เมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 วันที่ 29 ก.พ. 2555 มีชาวนานำข้าวเข้าโครงการทั้งสิ้น 1.188 ล้านราย ปริมาณข้าวเปลือก 6.948 ล้านตัน ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 เพียงครึ่งทางมีชาวนาเข้าโครงการ 1.350 ล้านราย ปริมาณข้าว 7.752 ล้านตัน

นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เห็นว่า แม้ผ่านมาครึ่งทางของโครงการรับจำนำข้าวนาปี แต่มีชาวนาเข้าโครงการเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 แสนราย ถือว่าไม่ผิดปกติ เพราะปีที่แล้วมีเหตุการณ์น้ำท่วม

แต่ปีนี้ไม่มี แต่ที่น่ากังวลมากกว่า คือ ข้าวเปลือกที่รับจำนำข้าวมาในโครงการแล้ว 7 ล้านตันไม่มีที่เก็บต่างหาก

นิพนธ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ข้าวเปลือก 7 ล้านตันที่เข้าโครงการเป็นข้าวลม คือ ไม่มีการส่งมอบข้าวเปลือกจริง แต่มีการออกใบประทวนให้ชาวนานำไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.และชาวนาได้รับส่วนแบ่ง 1,000 บาทต่อตัน

“ยกตัวอย่าง เช่น ชาวนาคนหนึ่งปลูกข้าวได้ข้าวเปลือก 30 ตัน ก็ร่วมมือกับโรงสีออกใบประทวน ซึ่งได้รับเงินสด 1,000 บาทต่อตัน 30 ตันก็คิดเป็นเงินสด 3 หมื่นบาทที่นำไปใช้ได้ก่อน ส่วนข้าวเปลือกที่ไม่มีการส่งมอบจริง ชาวนาอาจตกลงขายให้โรงสี เช่น 9,000 บาทต่อตัน โรงสีจะนำข้าวที่ได้เข้าโครงการกินส่วนต่างอีก” นิพนธ์ อธิบาย

ข้าวเปลือกและข้าวสารที่โรงสีได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่ไม่มีที่เก็บ เปิดช่องให้เกิดการทุจริตเป็นกระบวนการเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเวียนเทียนข้าว

เมื่อโครงการรับจำนำข้าวมาถึงจุดที่ตีบตัน เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวออกได้ ในขณะที่ตลาดข้าวโลกไม่เป็นใจในอันที่จะหนุนส่งให้ราคาข้าวสารปรับเพิ่มได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หนทางออกของโครงการ คือ รัฐบาลต้องเร่งระบายข้าวสารออกจากสต๊อก แม้ว่าจะต้องระบายข้าวในราคาขาดทุนก็ตาม

“ข้าวที่รับจำนำมาแล้วต้องมีที่ไป และเมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก แนวทางบริหารทางเดียว คือ ต้องระบายข้าวออกเพื่อไม่ให้เป็นภาระ แต่ก็ต้องดูช่วงจังหวะเวลาระบายข้าว เพราะต่างประเทศรู้สต๊อกข้าวของไทยหมด” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

แต่แนวทางที่เลขาธิการ สศช.เสนออาจไม่ใช่ทางเลือกง่ายเลยสำหรับรัฐบาลในยามนี้

เพราะผลการขาดทุนที่อาจขาดทุนสูงถึง 2 แสนล้านบาท อาจหมายถึงความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าวเปลือก ซึ่งเป็นนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาลเพื่อไทย

กระทั่งถึงวันนี้รัฐบาลใส่เงินไปกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวนมหาศาล ไม่รวมเงินจ่ายขาดในโครงการ แบ่งเป็นเงินหมุนเวียนการจำนำข้าวปีการผลิตที่แล้ว 3.36 หมื่นล้านบาท การก่อหนี้ใหม่ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2556 ในโครงการรับจำนำข้าวปีที่ 2 อีก 1.5 แสนล้านบาท และมีการเสนอเพิ่มวงเงินก่อหนี้เป็น 2.2 แสนล้านบาท

แต่มีเงินไหลกลับเข้ากระเป๋ารัฐบาลจากการขายข้าวเพียง 4 หมื่นล้านบาท แต่เงินกู้ที่จมในโครงการรับจำนำข้าวสูงถึง 5 แสนล้านบาท ซ้ำร้ายหากรัฐบาลไม่สามารถหาที่เก็บข้าวสารในโครงการได้ โรงสีก็จะหยุดรับจำนำข้าวเปลือกในโครงการ สุดท้ายโครงการก็เดินหน้าต่อไม่ได้โดยอัตโนมัติ

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ไม่ต่างกับระเบิดเวลาที่รอเวลา “ระเบิด” เท่านั้น