posttoday

เมฆดำ รัฐบาลเสื่อม

15 มกราคม 2556

ด้วยพฤติกรรมดั้งเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีถึงความห้าวหาญ ดุดัน

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว


ด้วยพฤติกรรมดั้งเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีถึงความห้าวหาญ ดุดัน

เพราะครั้งหนึ่งเคยเปิดใจกับสื่อมวลชน สาเหตุที่สัมภาษณ์ประเด็นต่างๆ มักออกมาในลักษณะกระชับตรงไปตรงมา เนื่องจากต้องการแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาได้ยำเกรง

ไม่แปลกที่บทความของสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง ซึ่งวิจารณ์การทำงานของ ผบ.ทบ. ต่อการปกป้องอธิปไตยของชาติกรณีปราสาทพระวิหารจึงถูก พล.อ.ประยุทธ์โต้กลับด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกต่ออาการร้อนปุดๆ เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์หลายวาระ โดยเฉพาะครั้งเปิดใจผ่านสถานีโทรทัศน์ทหารก่อนการเลือกตั้งทั่วไป โดยแนะนำให้ประชาชน “เลือกคนดีไม่ละเมิดสถาบันเข้ามาบริหารประเทศ” เหมือนเป็นการแสดงท่าที ผบ.ทบ.ต่อภาคการเมืองที่กำลังจะเข้ามามีอำนาจในไม่ช้า

ครั้งนั้นทำเอาพรรคเพื่อไทย มวลชนเสื้อแดง แสดงความไม่พอใจบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่าเป็นการชี้นำการเมือง มีการเคลื่อนไหวโจมตีกองทัพ แน่นอนการแสดงท่าทีตอบโต้ ผบ.ทบ.ถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ที่มีการแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ทั้งที่เหล่านายทหารก็อยู่ในกรมกองไม่ออกมาตบเท้าแสดงพลังปกป้องผู้บังคับบัญชา

ทว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันไปมาครั้งล่าสุด กลับบานปลายกลายเป็นเรื่องของกลุ่มนายทหารชั้นประทวน รวมตัวหน้าสำนักงานสื่อสิ่งพิมพ์

แปลกตรงที่ไม่ใช่มวลชนไปประท้วงหน้าค่ายทหาร แต่เป็นกลุ่มทหารไปพึ่บพั่บหน้าองค์กรสื่อสารมวลชนต่อเนื่องสองครั้งสองครา

โดยที่กลุ่มนายทหารเหล่านั้นให้เหตุผลว่าไม่ได้มาคุกคาม แต่เป็นการแสดงพลังให้รู้ว่าต้องการพิทักษ์ปกป้องผู้บังคับบัญชา

แม้แต่แกนนำมวลชนที่เคยต่อต้านกองทัพ อย่างมวลชนคนเสื้อแดงยังสนับสนุนการแสดงออกของกลุ่มทหารที่มีต่อสื่อมวลชน

“เป็นเรื่องใหม่ที่ทหารออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเหมือนประชาชน แต่หากจะประท้วงในลักษณะนอกเครื่องแบบจะดูดีกว่า” ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าว

หากกลุ่มนายทหารไปรวมตัวประท้วงหน้าองค์กรสื่อที่มีมวลชนเสื้อแดงสนับสนุนบ้าง ธิดาจะกล่าวแบบนี้หรือไม่ นั่นเป็นประเด็นน่าคิดแต่กลับการออกมาแสดงท่วงท่ายกมือเชียร์ มองอีกทางหนึ่งได้เช่นกันว่าเพราะการทำหน้าที่สื่อมวลชน ซึ่งอยู่ต่างขั้วหรือมีแนวความคิดไม่ตรงกับมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจึงต้องจำใจหันมาหนุนการกระทำของทหาร

อีกประการ การเคลื่อนไหวของมวลชนที่แสดงถึงความหวงแหนอธิปไตยกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ กัมพูชาแสดงความไม่พอใจมวลชนที่เคลื่อนไหวเช่นกันถึงขั้นมีการจัดตั้งกลุ่มประชาชนออกมาต่อต้านในพื้นที่

แต่ถึงกระนั้นปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อกองทัพในทางลบดูจะหนักหน่วงกว่าแรงหนุนหลังแปลกๆ จากรัฐบาลและฝ่ายมวลชนเสื้อแดง

เพราะทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรด้านสื่อสารมวลชน องค์กรภาคประชาชน กลุ่มที่เคยต่อต้านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันให้ทหารยุติการคุกคามสื่อเนื่องจากไม่ต่างกับยุครัฐบาลเผด็จการที่ใช้อำนาจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น

ยิ่งในสายตาชาวโลก การกระทบกระทั่งระหว่างทหารกับประชาชน ทหารกับสื่อมวลชน เป็นประเด็นอ่อนไหวต่อการนำไปขยายปมอำนาจไม่ชอบธรรม มิแปลกที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะถูกนำไปเสนอผ่านสื่อต่างประเทศอย่างรวดเร็ว

อาการไหวทันของ “บิ๊กตู่” ด้วยการยอมกล่าวขอโทษสังคมและสื่อมวลชน อาจทำให้ความสัมพันธ์กองทัพและสื่อมวลชนคืนสู่ภาวะปกติระดับหนึ่ง เพราะหากยังแข็งกร้าวต่อไปไม่เป็นผลดีต่อกองทัพ

ข้อสำคัญไม่เป็นผลดีกระทบถึงรัฐบาล

เนื่องจากเริ่มมีการกล่าวขานมากขึ้นถึงภาวะการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ปกติ นับตั้งแต่เริ่มต้นปี ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคและทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูกลอบทำร้ายมีอาการบาดเจ็บสาหัส ซึ่งผู้บาดเจ็บปักใจเชื่อมาจากการทำคดีทางการเมืองเกี่ยวพันกับนายตำรวจระดับสูง จนกระทั่งมาถึงบัดนี้คดียังไม่คืบหน้าไปไหน

กรณีการนำเสนอละครเรื่อง “เหนือเมฆภาค 2 ตอนจอมขมังเวทย์” ต้องยุติการนำเสนอเร็วกว่าปกติ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์กระหึ่มโซเชียลมีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงสื่อ ถึงแม้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ออกมาชี้แจง ด้วยการอ้างละครดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ว่าด้วยผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดีก็ตาม แต่คลุมเครือในหมู่ประชาชนไม่จางหายจนมีการรวมตัวประท้วงแสดงความไม่พอใจกระทบไปถึงภาคการเมืองฝั่งรัฐบาล

หรือแม้แต่ประเด็นปลีกย่อยว่าด้วยพฤติกรรมส่วนบุคคลของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ที่กล่าวให้นโยบายฝ่ายปกครอง ถึงการจัดเวทีสานเสวนาหาทางออกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “อย่าเอาคนไม่มีสมองมาร่วมสานเสวนา”

ตอกย้ำต่อการกล่าวถึงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ออกมาร้องผ่านสื่อถึงหน่วยงานรัฐออกบัตรประชาชนผิดพลาดว่า “สมควรตาย” จนครอบครัวขวัญผวา ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านขอลาออก แม้จะมองว่าเป็นจุดเล็กๆ ในสังคม แต่สะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ได้รับฟัง

สถานการณ์ทับถมทวีหนีไม่พ้นที่จะถูกตอกย้ำซ้ำรอยรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่ถูกตราหน้าว่าเป็นประชาธิปไตยในคราบเผด็จการกระทำการลุแก่อำนาจ

นักการเมือง ประชาชน สื่อมวลชน ต้องเผชิญทั้งการใช้อำนาจ ข่มขู่ คุกคาม ลอบทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิต แม้แต่การอาศัยเครื่องมือหน่วยงานรัฐตรวจสอบธุรกรรมภาคประชาชนองค์กรสื่อสารมวลชนคอลัมนิสต์ ส่งสัญญาณชักพาประชาธิปไตยถอยหลังไปด้วย

นับเป็นโจทย์ที่รัฐบาลซึ่งกำลังเดินหน้าตามหารัฐธรรมนูญฉบับอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ต้องคิดให้หนัก

ปล่อยเลยตามเลย ฉุดสภาพสู่ความเสื่อม